สวนรมณีนาถ รวมคุณลักษณะเด่น 2 ประการ คือ เป็นสถานที่ พักผ่อน ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมเพื่อประชาชนในเขตพระนคร และเป็นสถานที่เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติ ศาสตร์แสดงให้เห็นถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่ได้รับอิทธิพล จากยุโรปสมัยรัชกาลที่ 5 การออกแบบคงเอกลักษณ์ เดิมไว้ คือ สถานที่คุมขังลงโทษทัณฑ์ ให้เป็นเอกลักษณ์ของสวน ประกอบด้วยความพิเศษในการอนุรักษ์โบราณสถาน และสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียจากคลองสะพานถ่าน เพื่อนำน้ำผ่านการบำบัดมาใช้รดน้ำต้นไม้ในสวน เป็นการประชาสัมพันธ์คุณค่าของน้ำ และประหยัดค่าใช้จ่าย สวนรมณีนาถจึงแสดงถึงความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีตามพระราชเสาวนีย์
ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนที่ดินและอาคารเรือนจำพิเศษฯ เป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 บริเวณหน้าถนนมหาไชยตลอดแนวกำแพงเรือนจำด้านหน้า ตั้งแต่ป้อมริมคลองสะพานถ่านทางทิศตะวันตกถึงแนวป้อมร้านนายเหมือนทางด้านทิศตะวันออก ลึกจากกำแพงเข้าไป 8 เมตร เป็นพื้นที่โบราณสถานรวม 4 ไร่ 11 ตารางวา
ประติมากรรมสังข์สัมฤทธิ์ อยู่บริเวณสูงสุดของสวนกลางสระน้ำ มีน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ แสดงความหมายแทนน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่บริสุทธิ์ดุจสีของน้ำและแปลง ดอกไม้รูปร่างคดเคี้ยวในลักษณะธารน้ำ ที่เชื่อมน้ำพุเฉลิมพระเกียรติิกับบ่อน้ำพุด้านล่างนั้น แสดงถึงน้ำพระทัยที่ทรงประทานแก่ชาวไทย โดยบ่อน้ำพุด้านล่างเทียบได้กับพสกนิกร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพร้อมใจกันสรรเสริญ ส่วนป้อมยามที่เป็นสิ่งก่อสร้างเดิมกลางน้ำพุ เป็นตัวแทนเหล่าผู้กระทำผิด ซึ่งยังคงได้รับพระมหากรุณาธิคณ เช่นกัน ประติมากรรมสร้างเป็น สังข์เวียนซ้ายวางบนพานหล่อด้วยโลหะผิวสัมฤทธิ์ ภายในสังข์บรรจุแผ่นยันต์มหาโสฬสมงคลและสังข์องค์จริง ออกแบบส่งน้ำในสระไหลจากปากสังข์ลงสู่สระปากสังข์หันสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สวนสุขภาพ จัดอุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นจุดพร้อมคำแนะนำ มีลานกีฬา เช่น สนามบาสเกล และลานสเก็ต โดยจัดตำแหน่งไม่ให้เกิดการรบกวนระหว่างกิจกรรม พร้อมสนามเด็กเล่นที่จัดไว้อย่างครบครันสอดคล้อง กับแนวคิดของสวนที่เป็น "สวนสุขภาพ" อย่างแท้จริง
ดนตรีในสวน เพื่อคลายความเคร่งเครียดจากชีวิตประจำวัน สร้างสุขภาพจิตที่ดี โดยจัด แสดงดนตรีไทยและสากลสลับหมุนเวียน กับสวนสาธารณะแห่งอื่นของกรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ราชทัณฑ์ เป็นอาคารโบราณสถาน 4 หลัง ที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดง ประวัติศาสตร์การคุมขังลงทัณฑ์ และความเป็นมาของกิจการกรมราชทัณฑ์ แบ่งเป็น
- อาคารหลังที่ 1 แสดงเครื่องมือลงทัณฑ์ และวิธีประหารชีวิตสมัยโบราณ รวมทั้งแสดงการประหารชีวิตในปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยว กับเรือนจำและการหลบหนีของนักโทษ
- อาคารหลังที่ 2 แสดงภาพประวัติและอุปกรณ์เครื่องใช้ของ เรือนจำพิเศษฯ ในสมัยต่าง ๆและเอกสารเกี่ยวกับประวัติ การราชทัณฑ์ในอดีต
- อาคารหลังที่ 3 จัดจำหน่ายสินค้าราชทัณฑ์และของที่ระลึก
- อาคารหลังที่ 4 ( อาคารแดน 9) เป็นเรือนนอนผู้ต้องขังในอดีต แสดงสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของนักโทษ ระบบการคุมขังและลักษณะอาคารตามแบบตะวันตกที่น่าสนใจศึกษา
|