โภชนาการ ผู้สูงอายุ |
---|
ผู้สูงอายุ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่โรคแต่เป็นไปตามวัย และการปฏิบัติตนของแต่ละคน ความเจ็บป่วยมีผล ทำให้กระบวนการแก่เกิดได้เร็วขึ้นที่เรียกกันว่า แก่เพราะโรคหรือแก่ก่อนวัย ตรงกันข้ามคนที่มีการดูแลสุขภาพ และการรับประทานให้เหมาะสมตลอดเวลา จะลดปัญหาการเจ็บป่วย และชะลอความแก่ หรือความเป็นผู้สูงอายุไว้ได้นาน มีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน WHO ให้ความหมายของผู้สูงอายุว่า หมายถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จากการศึกษาพบว่า จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 4% ของประชาชนทั้งหมดในปี ค.ศ.1900 เป็น 11% ในปี ค.ศ.1978 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 14% ในปี ค.ศ.2000 สำหรับประเทศไทย มีรายงานจากสำนักสถิติแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติว่า จำนวนผู้สูงอายุมี 4.5% ในปี ค.ศ.1970 และจะเพิ่มเป็น 7.5% ในปี ค.ศ.2000 จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากเช่นนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจ ให้การดูแลในด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้น มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต ความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ ของผู้สูงอายุ 1. ความเสื่อมของสภาพร่างกาย วัยที่เพิ่มขึ้นและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง ที่มีผลต่อการบริโภคอาหาร และภาวะโภชนาการ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลง หรือการเสื่อมของประสาททั้ง 5 ซึ่งได้แก่
ถ้าไม่มีการดูแล ในด้านการประกอบอาหารให้อ่อนนุ่ม ก็จะเป็นสาเหตุ ให้รับประทานอาหารได้น้อย ประสาทรับรสที่ลิ้นเสื่อมลง ไม่ค่อยทราบถึงรสอาหาร หรือมีการรับรสเปลี่ยนแปลงไป ความชอบรสอาหารแตกต่างไปจากเดิม เช่น บางคนเคยชอบรสเปรี้ยว กลับเปลี่ยนไม่ชอบเมื่ออายุมากขึ้น หรือชอบรับประทานอาหารที่มีรสขม และรสหวานมากขึ้น บางคนชอบรับประทานข้าวกับผลไม้ เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ถ้าไม่ได้รับความสนใจ หรือสังเกตจากผู้ใกล้ชิด จะทำให้ไม่สามารถจัดอาหาร ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ และรับประทานอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้ ระบบทางเดินอาหาร ก็มีการเปลี่ยนแปลง น้ำย่อยต่างๆ น้ำดีจากตับอ่อน รวมถึงการบีบตัวของกระเพาะ และลำไส้ทำงานน้อยลง เป็นเหตุให้การย่อย ดูดซึมสารอาหารลดน้อยตามไปด้วย การขับถ่ายน้อยลง มีอาการท้องผูก ท้องอืด มีแก๊ส แน่น จุกเสียด ทำให้ไม่สบาย หลังการรับประทานอาหาร ปัญหาความเสื่อมลง ของสภาพร่างกายเช่นนี้ เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งสภาวะโภชนาการเกิน และสภาวะโภชนาการขาดได้ ถ้าลูกหลานหรือผู้ดูแลไม่เข้าใจ ไม่ได้ให้การดูแล ในด้านอาหารอย่างใกล้ชิด 2. ภาวะทางเศรษฐกิจเมื่ออายุสูงขึ้นการทำงานลดลง เช่น ข้าราชการที่เกษียนอายุเมื่อ 60 ปี ถ้าไม่มีการเตรียมการ หางานอดิเรกทำ ก็กลายเป็นคนว่างงาน รายได้น้อยลง เงินบำนาญที่ได้รับ อาจลดลงจากเงินเดือน ที่เคยได้รับเป็นประจำ ความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต้องอดออม ถ้ามีเงินออมสะสมอยู่บ้าง ปัญหาเช่นนี้อาจไม่เกิด จากรายได้ที่ลดลงเช่นนี้ ทำให้ผู้สูงอายุต้องพิจารณาใช้เงินอย่างประหยัด เนื่องจากกลัวรายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย การซื้อหาอาหารมารับประทาน ก็พยายามหาของถูก ประกอบกับสายตา ที่มองไม่ค่อยเห็น ก็จะไม่สามารถเลือกอาหาร ที่มีคุณภาพดีได้อย่างถูกต้อง การรับกลิ่นอาหารที่เก็บไว้นั้นว่า เสียแล้วหรือยัง ถ้ารับประทานอาหารที่เน่าบูด ก็อาจเกิดปัญหาท้องเสียได้ด้วย อาหารที่ซื้อมารับประทาน จึงด้อยทั้งคุณภาพและปริมาณ จากปัญหาของเศรษฐกิจ ทำให้กระทบถึง ภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุดังกล่าว 3. สภาวะทางจิตใจผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มีลูกน้องหรือคนรู้จัก ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ เมื่อเกษียนจากงานที่ทำอยู่ ภาระงานและอำนาจต่างๆ ที่เคยมีอยู่หมดไป คนที่เคยไปมาหาสู่ลดจำนวนลง ถ้าเป็นคนที่ยึดติดในลาภยศ อำนาจหน้าที่ อาจจะเกิดความหงุดหงิดเสียดาย ไม่สามารถยอมรับ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ประกอบกับครอบครัวในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่รวม เป็นครอบครัวใหญ่เช่นในอดีต ที่มีพ่อ แม่ ลูกหลานหลายๆ คนอยู่ร่วมกัน การแยกครอบครัวทำให้ผู้สูงอายุบางคนต้องอยู่ลำพัง ต้องช่วยตนเองทุกด้าน รวมถึงการกินอยู่ด้วย หรือถ้าอยู่ร่วมกัน ก็อาจจะถูกทอดทิ้งในตอนกลางวัน เพราะต่างก็ออกไปทำงานนอกบ้าน การถูกทอดทิ้งไม่มีใครดูแล มีผลถึงสภาพของจิตใจ และการยอมรับอาหารของผู้สูงอายุได้ และเป็นสาเหตุ ของการเกิดปัญหา ทางโภชนาการในผู้สูงอายุได้ 4. ภาวะโภชนาการเดิมที่เป็นอยู่และบริโภคนิสัย ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุนั้น พบว่ามีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีมาก่อน เช่น เป็นโรคอ้วน มีไขมันสูงในเลือด ความดันโลหิตสูง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อเนื่อง ถึงในวัยสูงอายุได้ด้วย ถ้าได้มีการดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถบรรเทา หรือป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือลดความรุนแรงของโรคได้ระดับหนึ่ง แต่ก็พบว่ามักจะไม่ได้รับความสนใจ หรือได้รับการรักษา ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อาการต่างๆ ของโรคจะรุนแรงมากขึ้น มีโรคแทรกได้ง่าย การรักษาต้องใช้เวลานาน เพราะร่างกายอยู่ในภาวะที่อ่อนแอมากแล้ว ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ในทางเสื่อมตลอดเวลา ดังนั้นปัญหาทางโภชนาการ สำหรับวัยสูงอายุ จึงขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการเดิม ที่เป็นอยู่ด้วย นอกจากนี้ บริโภคนิสัยของ ผู้สูงอายุแต่ละคนที่เป็นอยู่ ก็เป็นตัวกำหนดให้ทราบถึง ภาวะโภชนาการ ของผู้สูงอายุคนนั้น ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง เช่น ชอบอาหารที่มีไขมันสูง ชอบอาหารที่มีรสหวาน หรือรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการเป็นโรคหลายอย่าง และถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะเป็นผู้ยึดมั่น ถือมั่น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดปัญหา ทางโภชนาการจึงเกิดขึ้นได้ในอนาคต 5. ความรู้ทางด้านโภชนาการ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่ให้ความสนใจทางด้านโภชนาการ และหาความรู้เพิ่ม ทางด้านโภชนาการเมื่อมีอายุมากขึ้น แหล่งความรู้มีมากมาย ทั้งที่ถูกต้องและที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากได้รับความรู้ที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำบอกเล่า ที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ หรือผลการทดลองทางการแพทย์ มาสนับสนุน อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ทางโภชนาการได้ในระยะยาว ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้สูงอายุเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็น ยอมรับในข่าวสารต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และนำมาสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ย่อมจะเป็นทางหนึ่ง ในการช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้ จากปัญหาที่กล่าวมา เป็นสาเหตุทำให้กระทบถึง ภาวะโภชนาการและสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งนำมาสู่ความเจ็บป่วย และไม่สามารถดำเนินชีวิต อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิตได้
|
||||||||||||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : www.elib-online.com | ||||||||||||||||||||||||||||||
|
||||||||||||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |