หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การดัดแปลงอาหาร สำหรับ ผู้สูงอายุ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เนื่องจากผู้สูงอายุ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร การจัดเตรียมโดยดัดแปลงให้เหมาะสม จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารนั้นได้ดีขึ้น และจะช่วยลดปัญหา ทางโภชนาการของผู้สูงอายุได้

การดัดแปลงทำได้ง่ายๆ ดังนี้

 
1.
ดัดแปลงลักษณะอาหาร ความเปลี่ยนแปลงของฟันทำให้ผู้สูงอายุ ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนใช้ฟันชุดที่ 3 แล้วก็ตาม ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุ จึงต้องทำให้อ่อน นุ่ม เคี้ยวได้ง่าย การหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเคี่ยวนานๆ เพื่อให้เปื่อยนุ่ม หรืออาจต้องบดให้ละเอียดถ้าจำเป็น เพื่อให้ผู้สูงอายุรับประทานได้สะดวก
 
2.
ดัดแปลงในด้านรสชาติ อาหารไทยมีหลายรส เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด มัน และขม ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่ต่อมรับรสเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความชอบรสอาหารเปลี่ยนไปด้วย บางคนชอบอาหารที่มีรสหวานมากขึ้น บางคนชอบรสขมทั้งๆ ที่ในวัยหนุ่ม-สาวไม่ชอบ ดังนั้น การจัดอาหาร จึงจำเป็นต้องดัดแปลงรสชาติ ให้เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจัดอาหารที่มีรสจัด หรือมีเครื่องเทศมากให้แก่ผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้เกิดปัญหา เกี่ยวกับระบบขับถ่ายได้
 
3.
ดัดแปลงในด้านปริมาณ ผู้สูงอายุบางคนเจริญอาหาร เช่นคนทั่วๆ ไป ควรควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานด้วย เพื่อป้องกันมิให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณีที่รับประทานอาหารได้น้อย การเพิ่มมื้ออาหาร หรือแบ่งเป็นหลายๆ มื้อ ปริมาณไม่มากนัก จะช่วยให้รับประทานได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริโภคนิสัย ของผู้สูงอายุแต่ละคนด้วย

การดัดแปลงอาหาร สำหรับผู้สูงอายุทำได้ไม่ยาก ถ้าเพียงแต่คอยสังเกต การรับประทานอาหาร เพื่อให้ทราบถึงความชอบ หรือไม่ชอบอาหารชนิดใด และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ชอบ และทำอาหารที่ชอบให้รับประทาน

หลักในการจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

การจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุให้ได้ผล ควรคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

 
1.
พิจารณาให้มีอาหารครบ 5 หมู่ ในแต่ละวัน นมควรดื่มทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 แก้ว ไข่สามารถรับประทานได้สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง เพราะเป็นอาหารที่ให้สารอาหารที่ดี โดยเฉพาะโปรตีน เนื้อสัตว์มื้อละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ข้าวมื้อละ 1-2 ทัพพี น้ำมันพืชวันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ และมีผักผลไม้รับประทานทุกวัน
 
2.
จัดอาหารให้ตามความชอบ ถ้าอาหารนั้นให้ประโยชน์และสารอาหารน้อย ควรมีการดัดแปลงหรือเสริมคุณค่าให้สูงขึ้นและเหมาะสม
 
3.
อาหารที่จัดให้ควรมีลักษณะอ่อนนุ่มและเปื่อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน การหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ และต้มหรือตุ๋นให้เปื่อย เพื่อให้สามารถเคี้ยวและย่อยได้ง่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดัดแปลงการประกอบอาหาร
 
4.
พิจารณาสีของอาหารให้ดูน่ารับประทาน อาหารที่มีสีเดียวกันหมด ทำให้ดูน่าเบื่อ และไม่น่ารับประทานได้เท่าๆ กับอาหารที่มีรสชาติเหมือนกันทั้งสำรับ จึงควรหลีกเลี่ยง และพยายามตกแต่งอาหารให้มีสีสันน่ารับประทานด้วย
 
5.
อาหารที่จัดไม่ควรมีรสจัดมากนัก เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หรือหวานจัด ไม่ควรใส่เครื่องเทศมากเกินไป อาหารควรมีรสกลางๆ ที่ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติของการย่อย และการขับถ่าย
 
6.
ปริมาณของอาหารที่จัด ไม่ควรจัดหรือตักอาหารมากเกินไป เพราะนอกจากจะรับประทานไม่หมดแล้ว ยังทำให้ดูไม่สวยงาม ไม่น่ารับประทานอีกด้วย
 
7.
อุณหภูมิของอาหาร อาหารร้อนๆ ทำให้น่ารับประทาน และมีรสชาติดีกว่า อาหารที่เย็นชืด และทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น จึงควรเสิร์ฟอาหารในขณะที่ยังร้อน หรืออุ่นให้ร้อนก่อนเสิร์ฟ
 
8.
เวลาอาหาร ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อย จึงหิวเร็ว การจัดอาหารให้รับประทานมากกว่า 3 มื้อ/วัน จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา การให้ผู้สูงอายุรู้สึกหิวเป็นเวลานาน มีผลต่อสภาพจิตใจ และรับประทานน้อยลงได้ เพิ่มอาหารว่างตอนสาย บ่าย และก่อนนอนในปริมาณที่ไม่มากนัก จะช่วยให้ไม่หิวบ่อย และสามารถบริโภคอาหารได้ดีขึ้น
 
9.
บรรยากาศในการรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารคนเดียวทำให้รู้สึกเหงา รับประทานอาหารได้น้อย และไม่อร่อย จึงไม่ควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารลำพังคนเดียว การที่มีลูกหลานนั่งคุยเป็นเพื่อน หรือรับประทานอาหารร่วมด้วย ย่อมทำให้บรรยากาศ ในการรับประทานอาหารนั้น อบอุ่นไม่เงียบเหงา และรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง การเปลี่ยนสถานที่รับประทานอาหาร โดยพาผู้สูงอายุไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ้าง เป็นครั้งคราวร่วมกับครอบครัว เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดี ทำให้ผู้สูงอายุสดชื่น จิตใจสบาย และรับประทานอาหารได้มากขึ้นด้วย

วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ บางคนสามารถปรับตัว ยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงนั้น ในขณะที่อีกหลายคน ไม่สามารถปรับตัวได้ แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลกระทบถึงการบริโภคอาหาร และสุขภาพกาย สุขภาพใจของผู้สูงอายุได้ การดูแลอย่างใกล้ชิดจัดอาหารที่ถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการ การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือเปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทานอาหารบ้าง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกๆ หลานไม่ควรละเลย ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี รู้สึกอบอุ่นที่ได้อยู่ท่ามกลางลูกหลาน และส่งผลถึงการรับประทานอาหารได้ตามปกติ ซึ่งทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่มีปัญหาของการขาดสารอาหาร และมีความสุขในบั้นปลายของชีวิตในที่สุด

รุจิรา สัมมะสุต

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.elib-online.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคที่พบในผู้สูงอายุ
 
คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ
 
ความต้องการพลังงาน และสารอาหาร ของผู้สูงอายุ
 
อาหารสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป
 
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.