เขาสามร้อยยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชื่อนี้ได้แต่ใดมา ณ วันนี้ยังไม่ชัดเจนในที่มา แต่จากคำบอกกล่าวเล่าขาน นามของเขาสามร้อยยอดนั้นมี 3 ที่มาด้วยกัน
ที่มาแรก มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตเคยมีเรือสำเภาจีนแล่นลัดเลาะผ่านหมู่เกาะน้อยใหญ่ในแถบนี้ และได้เจอกับลมพายุรุนแรงจนเรือแทบทรงตัวไม่อยู่ จนสุดท้ายเรือก็ชนเข้ากับหินโสโครกจนอับปางลง ลูกเรือบ้างก็จมน้ำตาย แต่บ้างที่ว่ายน้ำแข็งก็รอดชีวิตหนีตายขึ้นมาบนภูเขาได้กว่า 300 คน จึงได้ชื่อว่าเขาสามร้อยรอด และต่อมาก็เรียกเพี้ยนเป็น เขาสามร้อยยอด
ที่มาที่สอง ว่ากันว่าชื่อสามร้อยยอดนั้น มาจากการที่มีต้นสามร้อยยอดขึ้นอยู่มากมาย
ที่มาสุดท้าย มาจากการที่บริเวณนี้มีขุนเขามากมายถึงราวๆ 300 ยอด ผู้คนจึงเรียกขานกันว่า สามร้อยยอด
ไม่ว่าที่มาของชื่อสามร้อยยอดจะมาจากอะไรก็ตาม แต่บริเวณเขาสามร้อยยอดนั้น ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกในเมืองไทย ในปี พ.ศ.2509
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดนั้น ถือว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความหลากหลายของสภาพพื้นที่ เพราะมีทั้งพื้นที่ที่เป็นทะเล หาดทราย หาดเลย ป่าเขาหินปูน ป่าชายเลน ป่าพรุน้ำจืด ทุ่งหญ้า และพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการมาพักผ่อนริมชายหาดซึ่งมีความเงียบสงบ การพายเรือคายักในคลองชมความงามของป่าชายเลน การเดินขึ้นเขาเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้น อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ อย่างถ้ำพระยานคร ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาจัตุรมุขไว้ภายในถ้ำ มีความสวยงามเป็นอย่างมาก
และเมื่อต้นปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่เรียกกันว่า ทุ่งสามร้อยยอด ก็ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งล่าสุดของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 อีกด้วย ในวันนี้เราจึงจะพามาท่องเที่ยวกันในอีกสภาพพื้นที่หนึ่งในอุทยานเขาสามร้อยยอด ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกัน
คำว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูกับคำนี้นัก จึงขออธิบายไว้พอสังเขปว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนั้น ก็คือ หมายถึงลักษณะทางภูมิประเทศที่มีรูปแบบเป็น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ของทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร
พื้นที่ชุ่มน้ำนี้มีคุณประโยชน์ ตรงที่เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ อันมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา ดังนั้น จึงมีการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ที่เรียกกันว่า อนุสัญญาแรมซาร์ ซึ่งหากพื้นที่ชุ่มน้ำใดที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ก็จะได้ประกาศและขึ้นทะเบียน โดยเรียกพื้นที่นั้นว่าเป็น แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site)
หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (บึงบัว) อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวถึงรายละเอียดของพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ที่เพิ่งจะได้เป็นแรมซาไซต์ให้ฟังว่า ทุ่งสามร้อยยอดนั้นมีอาณาเขตทั้งหมด 43,260 ไร่ด้วยกัน โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติจำนวน 23,000 ไร่ และนอกนั้นอยู่นอกเขตอุทยาน
ทุ่งสามร้อยยอดนี้ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีน้ำขังหรือท่วมถึงตลอดทั้งปี มีทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย และยังมีความหลากหลายชนิดของพืช สัตว์ และธาตุอาหาร ซึ่งมีระบบนิเวศน์ที่น่าสนใจไม่น้อย อีกทั้งสภาพภูมิทัศน์ในบริเวณนี้ยังมีความสวยงาม โดยมีลักษณะเป็นบึงกว้างใหญ่ มีเทือกเขาหินปูนสูงทะมึนเป็นฉากหลัง จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไม่น้อยเลยทีเดียว
สำหรับการท่องเที่ยวภายในศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้นั้น ก็ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวจะได้เดินบนสะพานเดินศึกษาพืชน้ำ ที่จะมีพืชชนิดต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นต้นธูปฤษีหรือต้นกกช้าง วัชพืชที่มีเหง้าใต้ดิน มีดอกคล้ายธูปสีน้ำตาล ต้นกกสามเหลี่ยมแห้วกระดาน ที่มีลำต้นเป็นสามเหลี่ยมพุ่ม นำไปใช้ทอเสื่อ หรือจักสานเป็นฝาบ้านหรือหลังคาได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีต้นอ้อ แขม รวมไปถึงพืชน้ำเล็กๆ อย่างจอก และพืชอีกหลากหลายชนิดด้วยกัน โดยบนสะพานนี้ จะมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ นี้ติดอยู่เป็นระยะๆ
แต่ที่ถือเป็นจุดเด่นในศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ ก็คือ บึงบัว ที่มีบัวสายพันธุ์ต่างๆ ขึ้นอยู่ในพื้นที่กว่า 500 ไร่ ในทุ่งสามร้อยยอด ไม่ว่าจะเป็นบัวหลวง บัวเผื่อน บัวผัน บัวสาย ฯลฯ ซึ่งเมื่อบัวเหล่านี้ผลิดอกบานพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้เกิดทัศนียภาพอันงดงาม และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนได้เป็นจำนวนมาก โดยในขณะนี้ก็ยังพอมีดอกบัวให้เห็นกันอยู่บ้าง เพราะบัวในบึงนั้นได้บานไปครั้งหนึ่งแล้ว และเร็วๆ นี้ก็จะเริ่มบานใหม่อีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน ใครที่อยากจะไปเห็นบัวบานเต็มบึง ก็สามารถเตรียมตัวกันไว้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
สำหรับการจะเข้าไปสัมผัสกับบึงบัว และพืชน้ำอีกหลากชนิดในทุ่งสามร้อยยอดอย่างใกล้ชิดนั้น ก็จะต้องพึ่งพาบริการเรือถ่อของชาวบ้าน ที่จะเป็นผู้พานักท่องเที่ยวล่องไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติทางเรือ ซึ่งจะทำให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติ ได้ชมพืชน้ำทั้งกก อ้อ ธูปฤษี บัว ฯลฯ อย่างใกล้ชิด และหากมีข้อสงสัยประการใด ก็สามารถสอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ ที่นอกจากจะมาถ่อเรือให้เราแล้ว ก็ยังช่วยตอบข้อซักถามต่างๆ อย่างเต็มใจ
นอกจากจะได้ชมพืชพันธุ์ต่างๆ ในทุ่งสามร้อยยอดนี้แล้ว ที่นี่ก็ยังเป็นแหล่งดูนกที่ขึ้นชื่ออีกด้วย โดยสามารถพบเห็นนกประจำถิ่นอย่าง นกอีโก้ง นกกระยางเหลือง นกกระยางแดง นกเป็ดน้ำ ซึ่งหาดูได้ตลอดทั้งปี และยังจะมีมีนกอพยพบินผ่านมาในช่วงฤดูหนาว รวมไปถึงเหยี่ยวที่จะบินผ่านมาให้เห็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
พื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด จึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ที่นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว ยังจะได้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์อันงดงามอีกด้วย
รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
|
ที่ตั้ง : หมู่ 2 บ้านเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
|
การเดินทาง : มี 2 เส้นทางคือ
|
|
จากกรุงเทพฯ วิ่งไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี จนถึงอำเภอปราณบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายที่บริเวณสี่แยกปราณบุรี ไปตามถนนสายปากน้ำปราณบุรี ประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. อีก 31 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
|
|
|
จากกรุงเทพฯ วิ่งไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 286.5 ใกล้บ้านสำโรง ก่อนถึงอำเภอกุยบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ |
|
|
สอบถามรายละเีอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 032-821568, 032-646293 |
|
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ (บึงบัว) อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานฯ นอกจากนี้ บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติยังมีลานกางเต็นท์ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน
สอบถามรายละเอียดโทร. 032-619078, 032-646293 |
ผู้จัดการออนไลน์ - 26 มกราคม 2552
|