หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
อุทยาน ร. 2
ท่องเที่ยว วันหยุด
ท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์
ท่องเที่ยว เชิงนิเวศ
ท่องเที่ยว ข้อมูล อุทยานแห่งชาติ
 


อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้พระราชทาน ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้ เป็นมรดกแก่ชาติ จนได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย มีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ พื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดป้ายอุทยานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2522 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมภายในอุทยานได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่หนึ่ง   ลานจอดรถหน้าอุทยาน ปัจจุบันมีที่ขายสินค้าพื้นเมืองและผลไม้ และอาศรมศึกษาซึ่งเป็นเรือนไทยโบราณ
ส่วนที่สอง   เป็นโรงละครกลางแจ้ง มีเนินลดหลั่นสำหรับชมการแสดง และปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ
ส่วนที่สาม   อาคารทรงไทย 5 หลัง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ 4 หลัง และอาคารซ้อมโขน ละครและเก็บเครื่องดนตรีไทย 1หลัง
ส่วนที่สี่   สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ มีหุ่นจำลองเรื่องในวรรณคดี สังข์ทอง ไกรทอง
ส่วนที่ห้า   พื้นที่ติดแม่น้ำ มีศาลาเอนกประสงค์สำหรับนั่งพักผ่อน มีร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าพื้นเมือง มีเรือประพาสอุทยาน ประชาชนขึ้นชมได้
ส่วนที่หก   พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ซึ่งจะดำเนินการจัดทำสวนและทำสวนเกษตรตามพระราชดำริในองค์ประธาน

ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง จัดพิพิธภัณธ์แบบชาติพันธุ์วิทยา แสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่จะสะท้อนให้เห็นลักษณะศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของชาวไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยแบ่งเป็นส่วนดังนี้

หอกลาง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน ซึ่งเป็นอุปกรณ์การแสดงนาฏกรรมตามบทวรรณคดีพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หุ่นวรรณคดีเรื่องสังข์ทองและอิเหนา หนังใหญ่

ห้องชาย จัดแสดง ให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญ พร้อมในการอาสาปกป้องผืนแผ่นดินตามลักษณะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระพุทธรูปสำหรับบูชา สมุดไทย เสื้อขุนนางไทยโบราณ ดาบ โล่ รวมทั้งพระแท่นบรรทมซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ห้องหญิง ตกแต่งให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ มีเตียงนอน แบบไทย โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ฉากปัก เป็นต้น

ชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ

ห้องครัวและห้องน้ำ จัดแสดงลักษณะครัวไทยมีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชามและห้องน้ำของชนชั้นกลาง

ตำแหน่งศิลาฤกษ์ แสดงให้เห็นแบบจำลองศิลาฤกษ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธี

อาศรมศึกษา เป็นที่อ่านหนังสือสำหรับประชาชน

โรงละครกลางแจ้ง มีเนินหลดหลั่นสำหรับชมการแสดง และปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ

สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ มีหุ่นจำลองเรื่องในวรรณคดี สังข์ทอง ไกรทอง

เรือประพาสอุทยาน อยู่ริมแม่น้ำ ( แม่น้ำแม่กลอง ) เดินเข้าไปประมาณ 400 เมตรจากจุดจำหน่ายบัตรเข้าชม อยู่ใกล้กับศาลาเอนกประสงค์...

รายละเอียดเรือประพาสอุทยาน : สร้างด้วยไม้สักทั้งลำ เป็นเรือ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 4.35 เมตร ยาว 19.60 เมตร กินน้ำลึก 0.07 เมตร น้ำหนัก 30 ตัน เครื่องยนต์ขนาด 120 แรงม้า ความเร็ว 6.5 น๊อต/ชั่วโมง จุผู้โดยสารได้ 80 คน ชั้นบนเป็นห้องโถง ชั้นล่างมีห้องน้ำ ห้องโถง ห้องสมุด ห้องครัว ห้องเครื่องยนต์ และมีบันไดลง 3 ทาง (ปัจจุบันเรือประพาสอุทยานอยู่บนบก)

พื้นที่ติดแม่น้ำแม่กลอง
มีศาลาเอนกประสงค์สำหรับนั่งพักผ่อน และชมบรรยากาศริมแม่น้ำแม่กลอง

รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยาน ร. 2

ที่ตั้ง : ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
อุทยานฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00 - 18.00 น.
(อัตราค่าเข้าชม เด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท)
ส่วนพิพิธภัณฑ์เปิด เวลา 09.00 - 17.00 น.
   
การเดินทาง :
รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม) ไปถึงหลัก กม.ที่ 63 ชิดซ้ายใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ เข้าตัวเมืองสมุทรสงครามผ่านตัวเมือง จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-บางแพ) ถึงสามแยกอัมพวาชิดซ้ายเข้าอัมพวา วิ่งตรงผ่านตลาดอัมพวา ข้ามสะพานคลองอัมพวา (สะพานเดชาดิศร) ตรงไปผ่านวัดอัมพวันฯ อุทยานอยู่ซ้ายมือ

รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกิโลเมตรที่ 63 เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม กิโลเมตรที่ 36-37 มีทางแยกซ้ายไปอุทยานฯ เข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
รถโดยสายประจำทาง ขึ้นรถได้ที่ตลาดเทศบาล อำเภอเมือง สายแม่กลอง-บางนกแขวก-ราชบุรี ลงหน้าอุทยาน ร.2

รถประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้
รถสาย 996 กรุงเทฯ-ดำเนินฯ เป็นรถปรับอากาศ ผ่านจังหวัดจังหวัดสมุทรสงครามถึงตลาดอัมพวา เดินผ่านตลาด ผ่านวัดอัมพวันเจติยาราม ถึงอุทยาน

สาย 976 กทม.-สมุทรสงคราม ถึงสถานีขนส่งสมุทรสงคราม ขึ้นรถประจำทางสาย 333 แม่กลอง-อัมพวา-บางนกแขวก ผ่านหน้าอุทยาน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 034-751666
 
       
    แหล่งข้อมูล : www.maeklongtoday.com, www.hamanan.com และ www.bansuanrak.com  
   
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
 
ตลาดดอนหวาย
 
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
 
ตลาดน้ำอัมพวา
 
ตลาดน้ำท่าคา
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.