หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรคตาอาทร
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ถึงโชเฟอร์แท็กซี่รายหนึ่ง ถูกยิงด้วยหนังสติ๊กที่ตาข้างหนึ่ง เป็นเหตุให้ตาข้างนั้นมีบาดแผล ทะลุนัยน์ตา จนตามัวลงมาก (ไม่ทราบรายละเอียดว่ามัวแค่ไหนอย่างไรชัดเจน) แล้วต่อมาตาข้างดี ก็เกิดอาการมัวลงด้วย ในข่าวดูเหมือนจะร้องเรียน ถึงการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ข่าวก็เงียบหายไป ไม่ทราบตาของโชเฟอร์นั้นดีขึ้นหรือยัง พอได้ข่าวทำนองนี้ ทำให้นึกถึงโรคตาโรคหนึ่ง ขอเรียกว่า ตาอาทร ก็แล้วกัน เพื่อเข้ากับภาษาอังกฤษที่ว่า sympathetic ophthalmia

ตาอาทร ซึ่งอาจแปลความหมายว่า ตาข้างดีหรือข้างที่ปกติ รู้สึกเห็นใจและอาทรต่อตาที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือเจ็บปวดมาก จึงขอเจ็บตามด้วย เข้าใจว่าแต่เดิมที่แพทย์ยังไม่รู้พยาธิกำเนิดที่แน่ชัด พบแต่เพียงว่าโรคนี้ เกิดในคนที่ตาข้างหนึ่งได้รับอุบัติเหตุ ค่อนข้างรุนแรง ถึงขั้นมีการฉีกขาด หรือมีแผลทะลุของดวงตา ทำให้ทั้งน้ำและส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในดวงตา ทะลักออกมาข้างนอก มักจะเกิดกับบาดแผลที่มีขนาดใหญ่ ตาข้างนั้นชอกช้ำมาก และมักจะสูญเสียสายตาค่อนข้างมาก อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา ตาดีซึ่งไม่ได้รับอุบัติเหตุแต่อย่างใด กลับเริ่มเจ็บ ตาแดง สู้แสงไม่ได้ ตามด้วยตามัวลง ทั้งๆ ที่ไม่มีการติดเชื้อ ไม่ได้รับอุบัติเหตุด้วย แพทย์ในสมัยนั้นเลยเข้าใจว่า ตาดีคงเห็นตาที่ได้รับอุบัติเหตุจึงตั้งชื่อว่า sympathetic ophthalmia และชื่อนี้ก็ใช้กันมาเรื่อยๆ แม้ว่าในปัจจุบันจะทราบสาเหตุของการเกิด ว่ามิใช่เกิดจากการสงสารเห็นใจก็ตาม

เรื่องของตาอาทรนี้ มีกล่าวไว้ตั้งแต่สมัย Hippocrates บิดาแห่งวงการแพทย์มานานแล้วว่า หากตาข้างหนึ่งได้รับอันตรายรุนแรง
ตาอีกข้างมักจะกระทบกระเทือนด้วย และ Will Machenzie ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดตั้งแต่ปี ค.ศ.1840 และมีผู้พิสูจน์ทางพยาธิวิทยาอย่างชัดเจน ในเวลาต่อมาที่แม้มีอาการแสดงคล้ายม่านตาอักเสบ (aveitis) อย่างรุนแรงในคนที่ติดเชื้อวัณโรค พยาธิ และอื่นๆ แต่เมื่อมีการตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดแล้ว ก็พบว่าตาอาทรมีลักษณะต่างจากตาอักเสบแบบอื่นชัดเจน

แล้วเกิดตาอาทรได้อย่างไร ใครกันที่เสี่ยง?

ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา ถึงขั้นดวงตามีรอยฉีกขาด หรือมีรูทะลุ ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีวัสดุแปลกปลอมฝังอยู่ในตาก็ตาม โดยเฉพาะในรายที่มีรอยฉีกในดวงตาขนาดกว้าง และมีม่านตาสีดำคล้ำหลุดออกมาจุกที่แผล หรือมีรอยฉีกขาดบริเวณตาขาวต่อกับตาดำ แม้แต่ผู้ที่มีดวงตาเป็นแผลจากการผ่าตัดบางอย่าง ก็อาจเกิดอาการของตาอาทรนี้ได้ โดยมีรายงานว่าพบในอัตราร้อยละ 0.2-0.5 ของคนที่ตาแตกจากอุบัติเหตุ (หรือ 1 ใน 500 ราย) สำหรับตาที่มีแผลจากการผ่าตัดพบได้ร้อยละ 0.01 หรือ 1 รายใน 10,000 ราย ในปัจจุบันการผ่าตัดตา ทำได้ละเอียดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การสมานแผลเข้าด้วยกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตลอดจนการล้างสิ่งแปลกปลอมออกจากแผลได้ดี ทำให้โอกาสการเกิดตาอาทรลดลง

การผิดปกติในตาอีกข้าง ที่ไม่ได้มีแผลฉีกขาด มักเป็นหลังจากได้รับอุบัติเหตุ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน แต่ก็เคยมีรายงานว่าพบหลังอุบัติเหตุ 50 ปีก็มี และบางรายเกิดภายใน 1 สัปดาห์หลังอุบัติเหตุ แต่ก็พบได้น้อยมากเช่นกัน ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ตาอาทรนี้ เกิดเนื่องจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune mediated) ต่อสารบางตัว ซึ่งอยู่ภายในดวงตาที่ได้รับอุบัติเหตุ

สารตัวนี้ (เป็นสารที่มีสีคล้ำจากม่านตา) ควรอยู่ภายในดวงตา แต่เมื่อตาที่ได้รับอุบัติเหตุมีรอยฉีกขาด สารดังกล่าวจึงออกมานอกดวงตา เข้าไปในกระแสเลือด และน้ำเหลืองของคนนั้น เป็นสารที่เปรียบเสมือนตัวกระตุ้น (antigen) ให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ออกมา ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบในตาอีกข้าง การขจัดสารภายในตัวนี้ให้หมด หรือขจัดออกให้มากที่สุด ก็จะป้องกันปฏิกิริยาอักเสบในตาอีกข้างได้

ในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง มีการฉีกขาดของดวงตามาก ย่อมจะมีสารจากม่านตาออกมามาก ยากที่เราจะล้างออกได้หมด การผ่าตัดเอาตาออกแต่เนิ่นๆ (ภายใน 2 สัปดาห์หลังอุบัติเหตุ) จึงสามารถยับยั้งปฏิกิริยานี้ได้ หากแผลบาดเจ็บไม่ใหญ่มาก ไม่มีสารออกมามากนัก การทำความสะอาดและเย็บปิดแผลให้มิดชิดอย่างรวดเร็ว ก็ป้องกันปฏิกิริยาได้เช่นกัน

เมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อตัวกระตุ้น จะเลือกมาแสดงอาการในตาอีกข้าง (ตาข้างที่ดี) ทำให้เกิดอาการอักเสบภายในดวงตา คนนั้นจะมีอาการเคืองตา ตาแดง ตาพร่ามัว ปวดตา หากไม่ได้รับการรักษา ดวงตาจะอักเสบมากขึ้น ตามัวลงมาก นำมาซึ่งต้อหิน ต้อกระจก และตาบอดได้ในที่สุด หากรีบมาพบแพทย์ในปัจจุบัน มียาต้านการอักเสบ ที่พอจะทำให้ลดความรุนแรงของอาการลง

อย่างไรก็ตาม การป้องกันคงดีกว่ามารักษาทีหลัง โดยการระมัดระวังอุบัติเหตุต่างๆ หากทำงานที่ต้องเสี่ยง ต่อการกระเด็นเข้าตาหรือถูกของมีคม ควรจะมีแว่นนิรภัยหรือโล่กำบังดวงตาไว้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตาขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง หากแผลใหญ่มาก จนยากที่จะรักษาดวงตาไว้ได้ และมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะนี้ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งถ้าจำเป็น...การเอาดวงตาที่เสียออก จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

 

ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ต้อหิน...ปล่อยไว้อาจตาบอด
 
กล้ามเนื้อตา
 
โรคท่อน้ำตาอุดตัน
 
ตาแห้ง
 
ดูแลถูกวิธี สุขภาพดวงตาดีๆ เป็นของคุณ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.