หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ตาแห้ง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


คุณเคยรู้สึกเคืองตาหรือแสบตาบ่อยๆ เหมือนมีผงอยู่ในตา ขนต้องขยี้หรือกระพริบตาบ่อยๆ ไหมคะ มาดูกันว่าอาการลักษระนี้เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

คนแรกคุณเรณู มีประวัติแพ้ยาแก้อักเสบจนเกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome (SJS) (มีอาการไข้ ผื่นขึ้นทั่วตัว เยื่อบุตาอักเสบเป็นหนอง เยื่อบุช่องปากอักเสบเป็นแผล) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีอาการแสบตา เคืองตาอยู่ตลอดเวลา ลืมตาไม่ค่อยได้ แพ้แสงต้องสวมแว่นดำอยู่ตลอดเวลา ไปพบจักษุแพทย์บอกว่า เป็นภาวะตาแห้งเรื้อรังอันเกิดจากโรค Stevens-Johnson

คนที่ 2 คุณประสิทธิ์ เรียนจบวิทยาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มาทำงานในฐานะคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ของบริษัท งานกำลังรุ่ง จึงทำให้คุณประสิทธิ์คร่ำเคร่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ วันละหลายๆ ชั่วโมง ระยะหลังพบว่าตัวเองมีอาการแสบตา เคืองตามาก จักษุแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะตาแห้ง จากการใช้งานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป

รายที่ 3 คุณย่าแดง มีสายตาดีมากหลังการผ่าตัดต้อกระจกฝังแก้วตาเทียม ใช้สายตาได้ดีตลอดมา ระยะหลังเวลาคุณย่าแดงดูทีวี จะบ่นว่าแสบตาเสมอๆ หมอให้ความเห็นว่าเป็นภาวะตาแห้งในวัยทอง

รายที่ 4 คุณสมศรี สายตาสั้นมาก ใช้คอนแทคเลนส์ตลอดมาหลายปี เพราะรู้สึกคล่องตัวดีกว่าการใช้แว่น มาระยะหลังพบว่าเวลาใส่คอนแทคเลนส์ได้ไม่ถึงชั่วโมง ตาจะแสบเคืองมาก จนต้องถอดคอนแทคเลนส์ออก เพื่อนๆ แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมช่วย ก็อาการดีขึ้นบ้าง คุณสมศรีเป็นอีกรายที่เกิดภาวะตาแห้ง จากการใช้คอนแทคเลนส์มานานนั่นเอง

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยมีอาการตาแห้งกันบ้าง บางท่านอาจรู้สึกว่าในดวงตาฝืดเคือง แสบ เหมือนไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงดวงตา บางท่านอาจมีอาการผิดปกติทางตา ไปรับการตรวจจากจักษุแพทย์ทราบว่า อยู่ในภาวะตาแห้ง ควรหยอดน้ำตาเทียมช่วยบรรเทาอาการต่างๆ

อาการตาแห้งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ มักจะเป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ โดยมักจะมีอาการไม่สบายตา ระคายเคืองตา แสบตา เคืองคล้ายมีเศษผงอยู่ในตา กระพริบตาบ่อยๆ สำหรับผู้ใช้คอนแทคเลนส์ประจำ จะรู้สึกว่าใส่คอนแทคเลนส์ที่เคยใช้ไม่ได้ บางรายอาจมีอาการแพ้แสง ตาพร่ามัวลงร่วมด้วย อาการดังกล่าวจะเป็นมากขึ้น หากอยู่ในที่แห้งหรือกลางแจ้ง อาการจะดีขึ้น เมื่อได้พักสายตาหรือหลังหยอดน้ำตาเทียม

สาเหตุของภาวะตาแห้ง

ในภาวะปกติผิวด้านหน้าตาดำของคนเรา จะฉาบไว้ด้วยน้ำตาเป็นชั้นๆ บางๆ 3 ชั้น ชั้นในสุดติดตาดำเป็นน้ำตาที่เป็นเมือก สร้างโดยต่อมต่างๆ ในเยื่อบุต่างๆ ชั้นกลางเป็นน้ำใสสร้างจากต่อมน้ำตาหลัก และต่อมน้ำตาสำรอง ส่วนชั้นนอกสุดเป็นชั้นน้ำตาไขมัน สร้างจากต่อมบริเวณเปลือกตา น้ำตาทั้ง 3 ชั้น จะทำหน้าที่เคลือบผิวกระจกตาให้เรียบ ให้ออกซิเจนแก่เซลล์ผิวกระจกตา ชะล้างสิ่งสกปรก ตลอดจนเชื้อโรคบางตัวที่อาจพลัดหลงเข้าตา ในภาวะปกติน้ำตาถูกสร้างออกมาสม่ำเสมออย่างอัตโนมัติ แต่ยังมีน้ำตาอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างออกมา ตอบสนองต่อการระคายเคือง เช่น เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา การมีแสงจ้ากระทบตา ตลอดจนบางส่วนที่ตอบสนองอารมณ์ เช่น ดีใจ เสียใจ จะมีน้ำตาออกมามากกว่าปกติ เมื่อมีน้ำตาออกมา ต้องมีการไหลออกจากดวงตา ผ่านท่อน้ำตาไปสู่ถุงน้ำตาลงจมูกและคอ การเกิดภาวะตาแห้งจึงเกิดได้ 2 หลักใหญ่ คือ สร้างน้อยเกินไปหรือไหลออกจากตาเร็วเกินไป โดยทั่วไปอาจเกิดจาก

 
•
เป็นโรคต่างๆ ที่ทำลายต่อมสร้างน้ำตา ทั้งต่อมน้ำตาหลัก ต่อมต่างๆ ที่เยื่อบุตาตลอดจนต่อมต่างๆ ที่เปลือกตา เช่น โรค Sjogren (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ติดเชื้อง่าย และมีอาการปากแห้ง ตาแห้ง) เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง โรค Stevens-Johnson syndrome (SJS) ที่ทำลายเยื่อบุตาโดยตรง ตาหลับไม่สนิท สารเคมีเข้าตา ฯลฯ
 
•
มีโรคทางร่างกายบางอย่าง ที่ทำให้การสร้างน้ำตาลดลง ได้แก่ โรคผิวหนัง Rosacea (มีลักษณะคล้ายสิว) โรครูมาตอยด์ โรค SLE (ที่รู้จักและเรียกกันว่า โรคพุ่มพวง) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคภูมิแพ้ ตลอดจนภาวะหมดประจำเดือนหรือวัยทอง เป็นต้น
 
•
สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำงานในห้องปรับอากาศนานๆ อยู่บนเครื่องบินนานๆ อ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ตลอดจนการใช้คอนแทคเลนส์
 
•
การใช้ยารักษาโรคทางกายบางอย่าง ที่มีการใช้ยาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาแก้แพ้ แก้หวัด ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น

ตาแห้ง รักษาอย่างไร

 
•
ควรเริ่มด้วยหลีกเลี่ยงปัจจัย ที่ทำให้เกิดโรคที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การอยู่ในห้องปรับอากาศนานๆ การอ่านหนังสือ หรืออยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในที่มีแดดลมมาก หรือถ้าจำเป็นให้ใช้แว่นกันแดดกันลม เป็นต้น
 
•
รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เปลือกตาอักเสบ ความผิดปกติของเปลือกตา ลดหรืองดการใช้ยา ที่ทำให้เกิดภาวะการณ์สร้างน้ำตาน้อยลง ใช้ยาแก้แพ้ในกรณีที่มีปัญหาภูมิแพ้ด้วย
 
•
การใช้น้ำตาเทียม น้ำตาเทียมที่ใช้กันอยู่ อาจเป็นในรูปของน้ำใส เป็นเจล หรือขี้ผึ้ง น้ำตาเทียมชนิดน้ำมี 2 ชนิดใหญ่ คือ ชนิดมีสารกันเสีย ซึ่งขวดหนึ่งสามารถใช้ได้นานเป็นเดือน กับรูปแบบชนิดไม่มีสารกันเสีย ใช้ได้ไม่เกิน 24 ช.ม. มักบรรจุอยู่ในหลอดพลาสติกเล็กๆ คล้ายหลอดยาฉีด มีน้ำตาเทียมอยู่ 4-8 หยด ประมาณ 0.4 cc หากตาแห้งเป็นไม่มาก สามารถหยอดน้ำตาเทียม วันละ 4 ครั้ง อาจจะใช้ร่วมกับน้ำตาเทียมชนิดเจล หรือใช้แบบขี้ผึ้งก่อนนอน หากอาการเป็นมาก เพิ่มการหยอดน้ำตาเทียมได้ทุก 1-2 ช.ม. ซึ่งควรใช้แบบไม่มีสารกันเสีย หากใช้แบบมีสารกันเสียจำนวนมากกว่า 4 ครั้งต่อวัน ตัวสารกันเสีย อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเยื่อบุตาได้
 
•
ใช้ยาหยอดลดการอักเสบของตาแบบอ่อน ในรายที่มีการอักเสบของเยื่อบุตาร่วมด้วย
 
•
ยากดภูมิต้านทาน (cyclosporine) เป็นตัวยาซึ่งกดภูมิต้านทาน ที่นิยมใช้ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ มิให้ผู้รับอวัยวะมีปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะที่ได้มาใหม่ ในรูปของยาหยอด สามารถนำมาใช้กับผู้ที่มีอาการตาแห้ง รุนแรงปานกลางจนถึงรุนแรงมากได้

โดยทั่วไปภาวะตาแห้งส่วนมาก แก้ไขและบำบัดได้ด้วยข้อปฏิบัติข้างต้น มีส่วนน้อยที่มีอาการตาแห้งมาก อาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด อุดท่อน้ำตามิให้ไหลออกจากตา อาจจะใช้วัสดุอุดท่อน้ำตาแบบชั่วคราว หรือผ่าตัดปิดท่อน้ำตาแบบถาวรไปเลย

แม้ว่าภาวะตาแห้งดูเหมือนจะไม่ร้ายแรง แต่เป็นภาวะที่มักจะเป็นเรื้อรัง ก็ทำให้เกิดความรำคาญ ไม่สบายตา บั่นทอนการใช้สายตาได้ วิธีแก้ไขมีตั้งแต่ง่ายๆ โดยการพักสายตาเป็นระยะ เมื่อต้องใช้งานต่อเนื่องยาวนาน การจัดวิถีการทำงานตลอดจนสภาพแวดล้อม ไปจนใช้น้ำตาเทียมช่วย หรือสุดท้ายอาจต้องลงเอยโดยการผ่าตัด

 

ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต จักษุแพทย

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ถนอมหน้าต่างหัวใจให้ไกลต้อกระจก
 
โรคท่อน้ำตาอุดตัน
 
4 อาหารลดอาการตาแห้ง
 
ดูแลถูกวิธี สุขภาพดวงตาดีๆ เป็นของคุณ
 
คำถามที่เจอบ่อยกับ ... เรื่องน้ำตาเทียม
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.