ความสำคัญของการป้องกันโรคภูมิแพ้
อุบัติการของโรคภูมิแพ้จากการสำรวจทั่วโลก และการสำรวจในประเทศไทยเอง พบว่า เพิ่มขึ้น 3 4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ประเทศไทย มีอุบัติการของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30, โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด ร้อยละ 10-15, โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5 โดยอุบัติการในเด็ก จะสูงกว่าในผู้ใหญ่
โรคภูมิแพ้นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่กว่าคนปกติ เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก, หูชั้นกลางอักเสบ, นอนกรน, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ผิวหนังติดเชื้อ
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
เกิดจาก
กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า ถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ มากขึ้นถึงร้อยละ 50 - 70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัว ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10 เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์ได้ การควบคุมสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้
ทำไมการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม จึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้
เนื่องจากโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และมีการศึกษาที่แสดงว่า สิ่งแวดล้อมและอาหาร เป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้น การกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ตั้งแต่แรกในเด็ก ที่เกิดในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงสูง) และการให้เด็กดื่มนมมารดา จะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้ เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีโรคภูมิแพ้ร่วมกันหลายชนิด เช่นเด็กที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนัง อาจพบมีการแพ้อาหารร่วมด้วย ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะสามารถลดอัตราการเกิดของการแพ้อาหารได้ การดื่มนมมารดาหรือนมสูตรพิเศษ (extensively hydrolyzed formula หรือ partially hydrolyzed formula) ซึ่งเป็นนมที่มีการสลายโปรตีน ที่ทำให้เกิดการแพ้ จะช่วยลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ การดื่มนมที่ผสมจุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic bacteria) เช่น แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกาย มีการสร้างภูมิคุ้มกัน และลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้
รับประทานอย่างไรจึงป้องกันโรคภูมิแพ้ได้
เด็กที่มีประวัติครอบครัว ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนม และรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ซึ่งก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
|
|
ดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ต้องจำกัดอาหารเป็นพิเศษ สำหรับมารดาช่วงระยะตั้งครรภ์และให้นมบุตร |
|
|
กรณีที่ไม่สามารถให้นมมารดาได้ ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมสูตรพิเศษจนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี |
|
|
ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมวัว และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 1 ปี |
|
|
ไม่แนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลือง นมแพะ นมแกะ ทั้งนี้เนื่องจากมีโอกาส ที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ เช่นเดียวกับการแพ้นมวัว |
|
|
ควรให้อาหารเสริมเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน โดยแนะนำให้เด็ก รับประทานอาหารเสริมทีละชนิด และสังเกตว่ามีการแพ้อาหารที่ให้หรือไม่ ภายในหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะให้อาหารเสริมชนิดใหม่ อาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้อย ได้แก่ ข้าวบด กล้วยน้ำว้า ฟักทอง น้ำต้มหมู น้ำต้มไก่ ผักใบเขียว |
|
|
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ และอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ จนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ปี |
|
|
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่ว และปลา จนกระทั่งเด็กมีอายุ 3 ปี |
สำหรับเด็กที่ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ ควรดื่มนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารบางอย่างที่แพ้ง่าย (เช่น ไข่ ถั่ว ปลา) อาจเพิ่มสารอาหารอื่นๆ ที่อาจเสริมสร้างการทำงาน ของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สังกะสี วิตะมินเอ ซิลีเนียม และนิวคลีโอไทด์ นอกจากนั้น การบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวบางชนิดเช่น docosahexaenoic acid (DHA) ในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้
นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น,สัตว์เลี้ยง, เชื้อรา, แมลงสาบ ตั้งแต่ขวบปีแรก โดย
|
|
ใช้เครื่องเรือนน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน |
|
|
งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอน หรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอน ที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น |
|
|
ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน |
|
|
ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง |
|
|
ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ |
|
|
ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน |
|
|
พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน |
|
|
จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ |
การปฏิบัติตังดังกล่าว และระวังไม่ให้เด็กได้รับควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสีย, ควันไฟ, ฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อยๆ สามารถป้องกัน โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้
ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
|