หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เมื่อ ผู้สูงอายุ นอนไม่หลับ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เมื่อเอ่ยถึงความชรา ท่านผู้อ่านคงนึกถึงคนที่มีผมสีดอกเลา เดินหลังค่อมเล็กน้อย ผิวหนังหยาบกร้านและเหี่ยวย่น แต่นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากภายนอก มีใครบ้างที่คิดว่าความชรา ยังมีผลกระทบไม่น้อยต่อการเปลี่ยนแปลง ในอวัยวะระบบต่างๆ หนึ่งในอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั้นก็คือ สมอง อวัยวะที่มีน้ำหนักราว 1400 กรัม ในศีรษะของเรานั่นเอง

อาการนอนไม่หลับ ก็เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจาก สมองทำงานไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับอาการหมดสติ หรือหลับไม่ยอมตื่น แต่อย่างหลังดูจะทำให้ญาติ หรือคนใกล้ชิดตกใจได้มากกว่า และรีบพาไปพบแพทย์ ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ ญาติมักจะปล่อยปละละเลย บางครั้งผู้ป่วยก็มักจะแก้ปัญหา ด้วยการไปซื้อยานอนหลับมารับประทานเอง ซึ่งยานอนหลับก็เป็นดาบสองคมได้บ่อยๆ ในผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาในประชากรผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่อยู่ในชุมชน ได้รับความทนทุกข์ทรมาน ของอาการนอนไม่หลับถึงมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่านั้นอาการนอนไม่หลับ อาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง ที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับ และความรุนแรงของอาการ ที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจัง

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1. เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความชรา

โดยปกติเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม เหมือนเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงอายุ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

 
•
ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
 
•
ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
 
•
ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
 
•
จะมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก

ดังนั้นผู้สูงอายุ แม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า “ นอนไม่หลับ ” แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มี อาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด

2. เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นพยาธิสภาพซ่อนอยู่ ได้แก่

 
•
จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่
    ยาบางประเภท โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าในโรค Pakinsonism หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
 
•
โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
    ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตาม ที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะ ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย
 
•
ความเจ็บปวด
    ความเจ็บปวดทางกายไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อม ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวด อาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น
 
•
โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ
    ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรก จะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทย มักเกิดจากการอุดตันของเส้นโลหิตในสมอง ที่เกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจจะมี หรือไม่มีอาการของอัมพาตร่วมด้วยก็ได้

นอกจากนั้น ภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
 
•
อื่นๆ
    ผู้สูงอายุบางรายเวลานอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจ จะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรง เพื่อให้หายใจ ขณะนั้นผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาได้ ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องได้ หรือบางรายเวลาหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลัง และอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ และถ้าอุดกั้นมากขึ้นถึงกับทำให้อากาศ ไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองก็จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจ ก็ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้อีกเช่นกัน

จากสาเหตุของการนอนหลับ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็น ต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย ประวัติการนอน และตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียด เพื่อสืบสาวถึงสาเหตุที่แท้จริง ของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย

ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้

 
•
พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
 
•
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
 
•
ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
 
•
เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกาย ในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น
 
•
ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอน เมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำ ดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
 
•
กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอ และควรจะเป็นอาหารที่มี protein สูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
 
•
พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอน ให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
 
•
ฝึกการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ

โดยสรุป ผู้สูงอายุมักประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับได้บ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากความชรา มีผลกระทบต่อความเสื่อมของสมอง ผู้สูงอายุโดยทั่วไปจึงควรทำความเข้าใจกับปัญหาที่เป็น “ ปกติ ” ในผู้สูงอายุ และพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น และเมื่ออาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ผู้สูงอายุก็อาจจำเป็นต้องรับ การตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อค้นหาโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุต่อไป


รศ. นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th - คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคซึมเศร้า
 
การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท
 
เวียนศีรษะ
 
การแก้ไขการนอนไม่หลับเบื้องต้น
 
เตือนผู้สูงอายุออกกำลังกาย
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.