หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การนอนหลับของผู้สูงอายุ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


สิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ คือ คุณภาพของชีวิต ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ ความสุขสงบของจิตใจ สุขภาพที่ดี และ ปัญญาที่ทำให้ทราบว่าทำอย่างไร จึงทำให้เกิดความสุข สงบของจิตใจ และทำอย่างไรจึงจะมีสุขภาพที่ดี คุณภาพของชีวิตนั้น ไม่สามารถจะซื้อหาได้ด้วยเงิน ถึงแม้จะเป็นร้อยล้านพันล้านก็ตาม แต่ถ้ามีปัญญาแล้ว ก็สามารถจะแสวงหา คุณภาพของชีวิตได้อย่างเต็มที่

สมอง คือ ที่ตั้งของปัญญา การจะมีปัญญา จะต้องมีสมองดีเสียก่อน สมองจะดีได้ จะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งไม่สามารถจะบรรยายได้หมดในที่นี้ แต่ขอยกเรื่องการนอนหลับมาบรรยายก่อน เพราะเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วไปว่า การนอนหลับที่ปกตินั้น มีความสำคัญต่อสุขภาพของร่างกาย สมอง และจิตใจเป็นอย่างมาก

การนอนหลับที่ปกตินั้น หมายถึงการนอนหลับรวดเดียวตลอดทั้งคืน และเมื่อตื่นขึ้นจะแจ่มใส สดชื่น พร้อมที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติ ระยะเวลาของการนอนหลับในหนึ่งคืนนั้น โดยเฉลี่ยประมาณ 6-9 ชั่วโมง ซึ่งจะแตกต่างไป แล้วแต่ตัวบุคคล บางคนนอนเพียง 6 ชั่วโมงก็เพียงพอ บางคนอาจจะต้องการ การนอนหลับถึง 9 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ทำวิจัยเรื่องการนอนหลับเห็นพ้องต้องกันว่า ระยะเวลาของการนอนหลับนั้น ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการนอนหลับ ซึ่งโดยปกติจะประกอบขึ้นด้วย สองระยะที่สลับกันไปมาทั้งคืน คือ rem sleep และ non-rem sleep ถ้าหากระยะทั้งสองอย่างนี้ มีอัตราส่วนที่เหมาะสม ก็นับว่าเป็นการนอนหลับที่ปกติ

Rem (เร็ม) นั้นย่อมาจาก rapid eye movement ซึ่งหมายถึง การกลอกตาทั้งสองข้างไปมา อย่างรวดเร็วในขณะนอนหลับ ส่วน non-rem sleep นั้นคือ การนอนหลับในระยะที่ลูกตาสองข้าง ไม่กลอกไปมา ทั้งสองระยะนี้จะสลับกันไปมา คืนละหลายครั้ง เรายังไม่ทราบว่าหน้าที่ที่แท้จริงของ rem นั้น คืออะไร แต่พบว่ามันมีความสำคัญมากต่อสุขภาพของสมอง    

คนเราต้องการการนอนหลับทั้งสองชนิด ด้วยอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกาย และสมองได้พัก ได้จัดระบบใหม่ เตรียมพร้อมที่จะทำงานวันรุ่งขึ้นต่อไป

การนอนไม่หลับนั้น อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวได้กับทุกคน แต่ถ้าเกิดนอนไม่หลับ หรือนอนไม่พอ เป็นระยะเวลานานแล้วไม่แก้ไข อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ภายหลัง

ผู้ที่นอนไม่หลับ หรือหลับไม่ปกติที่เป็นเรื้อรังมานาน จะมีหน้าตาไม่แจ่มใส ดูแก่กว่าอายุจริง ไม่มีสมาธิต่อการปฏิบัติหน้าที่ หงุดหงิด สัมพันธภาพต่อคนทั่วไปไม่ดี ซึมเศร้า เบื่อชีวิต เบื่อการดำเนินชีวิต

ความเข้าใจดั้งเดิมที่ว่า ผู้สูงอายุต้องการการนอนหลับ น้อยกว่าที่เคยต้องการ เมื่ออายุน้อยกว่านั้น เป็นการเข้าใจที่ผิด ผู้สูงอายุต้องการการนอนหลับที่ปกติ ที่ยาวนานเหมือนคนอื่นๆ เหมือนกัน แต่ส่วนมากผู้สูงอายุ มักจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ โดยเฉพาะหลับแล้วตื่นบ่อยๆ และบางทีตื่นแล้วไม่ง่วงอีก เลยทำให้เข้าใจผิดว่า ผู้สูงอายุไม่ต้องการการนอนหลับนาน การนอนหลับที่ผิดปกติ ที่สมควรได้รับการแก้ไข อย่าถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ถ้าหากท่านนอนหลับไม่ปกติมาเรื้อรัง ควรจะลองปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนอนหลับ ดังต่อไปนี้

 
1.
  ควรฝึกนิสัยให้เข้านอนและตื่นเป็นเวลา การเข้านอนไม่เป็นเวลา อาจจะทำให้เกิดการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะจะปรับตัวได้ไม่ดีเท่ากับวัยเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว    
 
2.
  พยายามอย่านอนหลับตอนกลางวัน หรือถ้าหากรู้สึกเพลีย และง่วง ก็ให้นอนหลับระยะสั้นสัก 10-20 นาที ก็จะทำให้สดชื่นขึ้น อย่านอนหลับกลางวันให้นานกว่านี้
 
3.
  ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ดีที่สุดของผู้สูงอายุ คือการเดินเร็วๆ วันละ 20-30 นาที อย่าออกกำลัง 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะอาจจะนอนไม่หลับได้
 
4.
  งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางอย่าง ช็อกโกแลต เครื่องดื่มที่โฆษณาว่าเป็นการบำรุงเพิ่มกำลัง และมีคนนิยมดื่มมากนั้น มีทั้ง คาเฟอีน และแอลกอฮอล ก่อนจะดื่มสิ่งใด ควรศึกษาส่วนประกอบของเครื่องดื่มนั้นก่อน
 
5.
  ควรงดดื่มสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลทุกชนิด เพราะแอลกอฮอลอาจจะทำให้ง่วง และหลับได้ง่ายก็จริง แต่มักจะทำให้ตื่นกลางดึก แล้วนอนไม่หลับอีก
 
6.
  งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคติน ที่ได้จากการสูบบุหรี่ อาจจะกระตุ้นสมอง ทำให้นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก แล้วยังมีอันตรายต่อสุขภาพทางด้านอื่นๆ อย่างมากอีกด้วย
 
7.
  อาหารมื้อสุดท้ายก่อนนอน ควรเป็นอาหารเบาที่ประกอบด้วยอาหารแป้ง ไม่ควรมีน้ำตาล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์หลายท่าน แนะนำให้ดื่มนมร้อน และกินกล้วย เพราะทั้งสองอย่างมีสารชื่อ Tryptophan (ทริบโทแฟน) ที่จะช่วยให้นอนหลับได้ดี
 
8.
  การอาบน้ำอุ่นก่อนนอน รวมทั้งการอ่านหนังสือ หรือการนั่งสมาธิประมาณ ครึ่งชั่วโมง ก่อนนอน ก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีเช่นกัน
 
9.
  ยารักษาโรคบางอย่าง อาจจะทำให้นอนไม่หลับได้ ท่านควรจะถามแพทย์ผู้รักษาโรคนั้นๆ ว่ามียาที่อาจจะมีผลข้างเคียง ทำให้นอนไม่หลับหรือไม่
 
10.
  ควบคุมความเครียดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในวัยสูงอายุ หรือความเครียดที่สะสมมานาน การแสวงหาความสงบของจิตใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการนอนหลับ

วิธีการปฏิบัติตัวทั้ง 10 ข้อนี้ สรุปรวบรวมมาจากการค้นคว้าวิจัยใหม่ล่าสุด เกี่ยวกับการนอนหลับ ถ้าหากท่านได้ลองปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับเรื้อรัง ท่านควรจะปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยให้การนอนไม่หลับเรื้อรังไปนาน จะบั่นทอนสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจ อย่าซื้อยานอนหลับมาใช้เอง เพราะยานอนหลับบางอย่าง อาจจะทำอันตรายต่อสมองได้

อีกประการหนึ่ง มีโรคบางอย่าง ที่รบกวนการนอนหลับโดยตรง เช่น การปวดจากข้ออักเสบ การปวดศีรษะกลางดึก จนการมีความดันในสมองเพิ่ม การลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะบ่อย จากการเป็นต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง ถ้าหากท่านมีโรคเหล่านี้ ท่านควรจะรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ผู้สูงอายุนั้นเปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์ ที่ใช้มานาน แต่มีข้อมูลสะสมไว้มากมาย (Data Bank) ข้อมูลเหล่านี้หาค่ามิได้ เพราะได้สะสมจากประสบการณ์ของชีวิตที่ยาวนาน คอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาใหม่ ถึงแม้จะทำงานรวดเร็วทันใจกว่า แต่ก็ขาดข้อมูลสะสมดังกล่าวมานี้ คุณค่าของผู้สูงอายุนี้ ควรจะนำมาเป็นประโยชน์ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนวัยกว่า และยังขาดประสบการณ์ เพื่อที่เขาจะได้นำไปเป็นต้นตอ ที่จะปลูกเป็นต้นไม้ที่ใหญ่โตขึ้นอีก และไม่ต้องเริ่มเพาะเมล็ดใหม่ให้เสียเวลา นี่คือเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่สมองของผู้สูงอายุ ควรจะได้รับการดูแลให้ดี จะได้ทำประโยชน์ต่อไปอย่างยาวนาน

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิระ  บุณยะรัตเวช
ศัลยกรรมประสาท

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 7 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
 
การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท
 
เมื่อผู้สูงอายุนอนไม่หลับ
 
การแก้ไขการนอนไม่หลับเบื้องต้น
 
เตือนผู้สูงอายุออกกำลังกาย
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.