หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ภาวะซึมเศร้า ใน ผู้สูงอายุ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


การเผชิญหน้ากับ ภาวะซึมเศร้า สำหรับ วัยสูงอายุ เป็นเรื่องที่หนักใจของใครหลายคน ทั้งญาติ ผู้ใกล้ชิด และตัวผู้สูงอายุเอง ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจ กับภาวะซึมเศร้า ก็จะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือ กับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ในงานสัมมนาผลการวิจัยเรื่อง “โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ : จากความรู้สู่การปฏิบัติ” (ครั้งที่ 4) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อไม่นานมานี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งหมด 14 โครงการ มีอยู่ 1 เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต คือเรื่อง “การวิจัยเพื่อพัฒนาคู่มือสำรวจอารมณ์เศร้าด้วยตัวเองในผู้สูงอายุไทย” หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องนี้คือ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรพรรณ ทองแตง ได้กล่าวถึงความเป็นมา และปัญหาในการวิจัยว่า

"ภาวะหรือการซึมเศร้า พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเป็นวัยที่มีการสูญเสียหลายด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นวัยที่ต้องปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอย่างมาก โดยมีรายงานพบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเคยมีประสบการณ์ ของการมีภาวะซึมเศร้า ที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตประจำวัน"

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย และขอเผยแพร่ความรู้นี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของคณะผู้จัดงาน โดยคัดเนื้อหามาจากตอนหนึ่งในหนังสือ “สาระน่ารู้เพื่อผู้สูงวัย” จัดทำโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกสาร ประกอบการสัมมนาผลการวิจัย ที่แจกให้ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้

ภาวะซึมเศร้าคืออะไร

ภาวะซึมเศร้า เป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่าย แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว ท้อแท้ บางครั้งมีความรู้สึกสิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า มองตนเองไร้ค่า เป็นภาระต่อคนอื่น ถ้ามีอาการมาก จะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย

วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งร่ายกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นวัยบั้นปลายของชีวิต ภาวะซึมเศร้า จะทำให้โรคทางกายที่เป็นอยู่มีอาการมากขึ้น หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น ถ้ามีอาการรุนแรง จะมีอันตรายจากการทำร้ายตนเองได้ มีรายงานการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 90 มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า

สาเหตุที่ทำให้เศร้า

สาเหตุทางร่างกาย

 
•
จากโรคทางกายบางอย่าง เช่น ภาวะสมองเสื่อม หลอดเลือดสมองอุดตัน โรคพาร์กินสัน โรคต่อมธัยรอยด์ มะเร็งของตับอ่อน เป็นต้น
 
•
จากยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยาขับปัสสาวะ ยารักษามะเร็ง เป็นต้น

สาเหตุทางจิตใจ

 
•
มีการขาดหรือลดน้อยลง ของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง
 
•
อารมณ์ตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ในชีวิต ต่อความความเครียดที่เกิดขึ้น ต่อภาวะการสูญเสีย หรือภาวะที่ทำให้เกิดความเสียใจ ไม่สบายใจ หรือเกิดเป็นความทุกข์ทางใจ

ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าเศร้า

สามารถสำรวจดูได้ด้วยตนเอง โดยการตรวจเช็คอาการจากข้อมูลข้างล่างนี้ ถ้ามีอาการต่างๆ จำนวน 5 ข้อ หรือมากกว่า โดยอาการนี้เป็นมานานกว่าสองสัปดาห์ ก็บ่งชี้ว่ามีปัญหาภาวะเศร้า

 
•
รู้สึกเซ็ง หรือเศร้า หรือเสียใจ หรือหงุดหงิด โดยไม่มีเหตุผล
 
•
รู้สึกเบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ ที่เคยชอบ หรือเคยทำ หรือความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ลดลงหรือมากขึ้น)
 
•
รู้สึกเบื่ออาหารหรือกินมากขึ้น น้ำหนักตัวลดลงหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น
 
•
นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
 
•
รู้สึกอ่อนเพลีย ล้า ไม่มีแรงโดยไม่มีสาเหตุ
 
•
รู้สึกหมดหวัง มองตนเองไม่มีค่า หรือคอยตำหนิกล่าวโทษตนเอง
 
•
สมาธิไม่ดี ขี้ลืม หรือไม่มั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ
 
•
รู้สึกกระวนกระวายใจ นั่งไม่ติด ทุรนทุราย โดยไม่มีสาเหตุ
 
•
เบื่อหน่ายหรือเบื่อชีวิต หรือคิดอยากตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

เศร้าแล้วทำอย่างไร

ควรรีบมาพบจิตแพทย์ เพราะโรคนี้รักษาให้ดีขึ้น หรือหายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ระยะการป่วยยาวนานขึ้น โอกาสที่จะป่วยซ้ำหรือกำเริบอีกจะมีสูง ในรายที่เป็นรุนแรง อาจทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายได้

ข้อเสนอแนะ

 
•
ถ้าอาการเกิดขึ้น ควรรีบมารับการตรวจรักษากับจิตแพทย์ทันที
 
•
อย่าอาย เพราะภาวะซึมเศร้าเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
 
•
โรคนี้รักษาให้ดีขึ้นและหายได้
 
•
โปรดระลึกไว้เสมอว่า ภาวะซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากคิดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอ หรือเกิดจากความไม่อดทน ไม่ต่อสู้ หรือเกิดจากความเซ็ง
 
•
ภาวะซึมเศร้า เป็นการป่วยจริงๆ ทางจิตใจ ที่ต้องการการเยียวยารักษาจากจิตแพทย์ รศ.พญ.อรพรรณ ทองแตง ยังให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ในเรื่องนี้ของหนังสือสาระน่ารู้เพื่อผู้สูงวัย ว่า “ไม่มีคำว่าสาย ในการที่จะเอาชนะภาวะซึมเศร้า ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ชีวิตจะกลับมาเป็นปกติสุขอีกครั้งหนึ่ง”


อาฬสา หุตะเจริญ โรงพยาบาลเทพธารินทร์

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.elib-online.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
อาการแรกเริ่มของสมองเสื่อม
 
โรคซึมเศร้า
 
การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท
 
อัมพาตในผู้สูงอายุ
 
ตรวจร่างกาย ผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.