หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรคปวดหลัง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อย รองลงมาจาก โรคปวดหัว ประมาณร้อยละ 90 ของคนทั่วไป จะต้องเคยปวดหลังในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 3 ซึ่งคิดเป็นจำนวนไม่น้อย ที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหาการปวดหลัง

สาเหตุของโรคปวดหลัง

 
1.
ความผิดปกติของกระดูกสันหลังโดยกำเนิด เช่น กระดูกและข้อต่ออาจจะผิดรูป หรือมีการเชื่อมต่อ หรือไม่เชื่อมต่อเป็นบางจุด ทำให้เกิดความไม่สมดุลของกระดูกสันหลัง
     
 
2.
เนื้องอก การวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจพิเศษ เช่น CT Scan, MRI การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส และอัลคาไลน์ ฟอสฟาแตสในเลือด เป็นต้น มะเร็งกระดูก เช่น มะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma) ซึ่งเป็นมะเร็งกระดูกที่พบได้บ่อย สามารถตรวจได้จากระดับโปรตีนเฉพาะในเลือด และในปัสสาวะ การตรวจด้วยรังสีธรรมดาจะพบความผิดปกติ เมื่อมีเนื้องอกเข้าไปในกระดูกมากกว่าร้อยละ 30
     
 
3.
การบาดเจ็บต่อสันหลัง การปวดหลังจากการยกของหนัก หรือภายหลังอุบัติเหตุ อาจจะเป็นเพียงหลังยอก หรือกล้ามเนื้อมีการยืดหรือฉีกขาด ซึ่งสามารถหายได้เอง แต่ในบางรายอาจเกิดจากกระดูกมีการหักทรุดหรือเคลื่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ภาพรังสีในการตรวจวินิจฉัย
     
 
4.
กระดูกพรุน (Osteoporosis) พบมากในหญิงหลังหมดประจำเดือน ภาพถ่ายรังสีจะพบว่ากระดูกบาง และมีการหักทรุดของกระดูกสันหลังในหลายๆ ระดับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังและตัวเตี้ยลง การวินิจฉัยกระดูกพรุนร่วมกับกระดูกสันหลังหักทรุด จะต้องแยกออกจากมะเร็งของกระดูกสันหลัง ซึ่งบางครั้งจะวินิจฉัยแยกกันได้ยาก ถ้าสงสัยจะต้องตรวจรังสีพิเศษ เช่น MRI

การรักษากระดูกพรุน ได้แก่ การให้ฮอร์โมนเอสโทรเจน วิตามินดี ฟลูออไรด์ ฮอร์โมนแคลซิโตนิน การออกกำลังกาย และการได้อาหารที่มีแคลเซียมสูง เป็นต้น

     
 
5.
การอักเสบของกระดูกสันหลัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ แบบปล้องไม้ไผ่ (Ankylosing Spondylitis) ส่วนใหญ่หาสาเหตุไม่ได้ อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ การตรวจวินิจฉัยส่วนใหญ่ใช้ภาพถ่ายรังสี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังและอาจจะหลังแข็ง
     
 
6.
โรคกระดูกหลังเสื่อม พบว่าร้อยละ 90 ของวัยที่เกิน 40 ปี จะมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังเกิดขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเสื่อมของกระดูกสันหลัง ได้แก่ การออกกำลังกาย ท่าทางที่ไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก การยกของหนักเกินกำลัง การตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่ ซึ่งพบว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น โดยเป็นผลจากออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยง หมอนรองกระดูกและกระดูกลดลง
     
 
7.
การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

 
•
แบบเฉียบพลัน มักเป็นแบคทีเรียที่กระจายมาจาก ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ และแผลติดเชื้อ ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค และภูมิต้านทานโรค ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังมากและมีไข้
 
•
แบบเรื้อรัง มักเกิดจากเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ในกรณีที่มีอาการชา อ่อนแรง อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อเอาหนองและกระดูกที่กดทับระบบประสาทออก ในปัจจุบัน วิวัฒนาการของยาปฏิชีวนะช่วยให้การรักษา การติดเชื้อของกระดูกสันหลังได้ผลดีมาก
     
 
8.
เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ทำให้เกิดอาการปวดหลัง คล้ายคลึงกับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือเนื้องอกได้ ซึ่งแยกกัน โดยผู้ป่วยอาจจะมีอาการขาเย็น คลำได้จากก้อนที่เต้นตามชีพจรจากหน้าท้อง การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และให้การรักษาอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเส้นเลือดแดงที่โป่งพองอาจจะแตก ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
     
 
9.
โรคในช่องท้อง โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ โรคระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี อาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่หลัง โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติการตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจทางรังสี และอื่นๆ

การรักษาโรคปวดหลัง

 
1.
การรักษาแบบอนุรักษ์ คือ การรักษาโดยการไม่ผ่่าตัด ซึ่งได้ผลมากกว่าร้อยละ 90 การรักษาโดยวิธีนี้ เริ่มตั้งแต่การแนะนำและให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยง สาเหตุที่เป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลัง การนอนพัก การให้ยาลดการอักเสบ การให้ความร้อนเฉพาะที่ การบริหาร และการออกกำลังกาย การใส่เสื้อเกราะ เป็นต้น
     
 
2.
การรักษาโดยการผ่าตัด ในกลุ่มที่ไม่ได้ผลจากการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์ แพทย์จึงจะพิจารณารักษาด้วยการผ่่าตัด ซึ่งโดยทั่วไป จะรอดูผลการรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์ประมาณ 1-2 เดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องไม่มีอาการเลวลง ในระหว่างที่รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์
   

ชนิดของการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

 
•
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนกดทับเส้นประสาท
 
•
การผ่าตัดกระดูกสันหลังเสื่อม และงอกกดทับเส้นประสาท
 
•
การผ่าตัดเนื้องอกกระดูกสันหลัง อาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือร่วมกับการรักษาด้วยรังสี และเคมีบำบัด
 
•
กระดูกสันหลังที่ติดเชื้อ จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรืออาจจะร่วมกับการผ่าตัด
 
•
การผ่าตัดเชื่อมกระดูก รวมถึงการใช้โลหะยึดกระดูก ถ้าข้อกระดูกสันหลังหลวมและเคลื่อน

อาการปวดหลัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย ผู้ป่วยไม่ควรลังเลที่จะพบและปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการปวดหลังมาก หรือปวดหลังเรื้อรัง เพราะด้วยวิทยาการและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างได้ผล



ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย
คุณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
       
    แหล่งข้อมูล : เอกสารเผยแพร่ - หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โอ๊ย ! ... ปวดหลัง
 
ปวดหลัง
 
ปัญหาของคนปวดหลัง
 
เสริมกระดูกไม่ยากอย่างที่คิด
 
อาหารช่วยแก้ข้ออักเสบ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.