หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โอ๊ย ! ... ปวดหลัง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อาการปวดหลัง เป็นอาการที่พบบ่อย หลายท่านมักมีแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น ที่ไม่ถูกต้อง ในที่นี้ ขอกล่าวถึงแนวทางปฏิบัติโดยสังเขป สำหรับอาการปวดหลัง จากสาเหตุที่พบบ่อย และในสถานะต่าง ๆ กัน

ปวดหลังจากการบาดเจ็บ

กรณีที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น ลื่นล้มจนลุกยืนเดินไม่ได้ ควรไปพบแพทย์อย่างไม่รีรอ เพื่อเอกซเรย์ดูว่า มีกระดูกสันหลังหัก หรือเคลื่อนที่หรือไม่

แต่ถ้าการบาดเจ็บนั้นไม่รุนแรง ลุกยืนเดินได้ตามปกติ ก็ให้ปฏิบัติดังนี้

 
•
นอนพัก
 
•
ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่กระทบกระแทก ภายใน 24 ชั่วโมงแรก

ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้ว อาการปวดหลังไม่ทุเลา หรือกลับปวดมากขึ้นภายใน 1สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ ทั้งนี้เพราะอาจเกิดกล้ามเนื้อหลังอักเสบได้ในภายหลัง ซึ่งควรได้รับการรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด และการบริหารร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะปวดหลังเรื้อรังต่อไป

ปวดหลังจากการยกของหนัก

การออกแรงยกของหนักเกินกำลัง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปวดหลังได้ หากมีอาการปวดเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อหลัง มีหลักปฏิบัติดังนี้คือ ให้นอนพัก ใช้หมอนรองใต้เข่า และรับประทานยาแก้ปวด เมื่อปฏิบัติตามนี้แล้ว ภายในสามวันหากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์

แต่ถ้ามีอาการปวดเสียวลงขา ควรรีบไปพบแพทย์อย่างไม่รีรอ เพราะอาจเป็นอาการของหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน กดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงส่วนขา หลักในการปฏิบัติเบื้องต้นคือ นอนพักให้เต็มที่ ระวังอย่าให้ท้องผูก เวลาไอหรือจามควรแอ่นหลังไว้ อย่าก้มเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการนั่งนาน และการเดิน หลักการรักษา นอกจากใช้ยารับประทานแล้ว การรักษาด้วยกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่ถ้าไม่ดีขึ้น อาจต้องได้รับการพิจารณาผ่าตัดต่อไป

ในรายที่มีหมอนรองกระดูกสันหลังแตก จะมีอาการปวดหลังมาก แม้กระทั่งเวลานอน จะปวดทั้งหลัง และขา แต่บางครั้งอาจปวดหลังไม่มาก แต่ปวดขามาก มีอาการชา หรือปัสสาวะลำบากร่วมด้วย ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ต้องได้รับการผ่าตัด

ในรายที่ทำกายภาพบำบัดได้ผลดี ควรบริหารร่างกายด้วยการออกกำลัง ให้กล้ามเนื้อหลังและท้องแข็งแรง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก อย่าก้มเด็ดขาด ถ้าจะหยิบของให้นั่งลงยองๆ ก่อนหยิบ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก

ปวดหลังจากการทำงาน

ถ้าท่านต้องขับรถวันละหลายๆ ชั่วโมง นั่งทำงานตลอดทั้งวัน พักผ่อนไม่เพียงพอ เคร่งเครียด และไม่ได้ออกกำลังกาย จะทำให้เกิดภาวะการตึงตัวของกล้ามเนื้อหลัง เป็นสาเหตุให้มีอาการปวดหลังได้

มีวิธีแก้ไขให้ยึดถือปฏิบัติดังนี้

 
•
ปรับเบาะรถให้พอเหมาะกับท่าน อาจต้องใช้หมอนช่วยหนุนหลัง
 
•
ปรับลักษณะโต๊ะ เก้าอี้ที่ทำงานให้เหมาะสม เวลานั่งให้หลังพิงพอดี เท้าทั้งสองข้างวางบนพื้น
 
•
โต๊ะทำงานไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป
 
•
เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
 
•
พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
 
•
ออกกำลังกายมากขึ้นและสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ เดิน เต้นแอร์โรบิก วิ่ง
 
•
ถ้าท่านน้ำหนักมาก ควรลดน้ำหนักด้วย
 
•
ถ้าเป็นสตรี ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 1 1/2 นิ้ว

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกกำลังกายข้างต้นได้ ควรบริหารร่างกาย ด้วยการยืดกล้ามเนื้อหลัง และออกกำลังให้กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงขึ้น

ปวดหลังในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ กระดูกสันหลังมักเสื่อมตามวัย จะมีอาการปวดหลังได้ในตอนเช้าๆ หลังแข็ง เวลาเดินไกล จะปวดตึงหลังและสะโพก บางรายอาจปวดตึงลงขาข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ซึ่งพบได้ในกรณีที่มีการกดทับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา กรณีนี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อเอกซเรย์ประเมินว่า กระดูกสันหลังเสื่อมมากหรือน้อย หรือมีกระดูกสันหลังเคลื่อน จากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมหรือไม่ หรือเป็นมะเร็งในกระดูก โดยเฉพาะในรายที่ปวดมาก เฉพาะตอนกลางคืนจนนอนไม่ได้ หรือมีกระดูกสันหลังบาง มีการยุบตัวของกระดูก ถึงแม้จะไม่มีการบาดเจ็บ

ถ้าประเมินแล้วพบว่า เป็นจากกระดูกสันหลังเสื่อม การรักษาทางกายภาพบำบัดจะช่วยได้มาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการบำบัด ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ในรายที่เป็นมาก อาจต้องบำบัดเป็นเดือน และควรใส่เสื้อประคองหลังไว้ ในรายที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือกระดูกยุบตัว หลีกเลี่ยง การก้มๆ เงยๆ นั่งยองๆ ห้ามยกของหนัก

ในกรณีที่กระดูกสันหลังเสื่อมมาก จนทำให้ช่องไขสันหลังตีบแคบ ถ้าหากการบำบัดด้วยกายภาพไม่ได้ผล อาจต้องได้รับการพิจารณาผ่าตัด

ปวดหลังในเด็กวัยรุ่น

วัยรุ่นที่มีอาการปวดหลัง ควรสังเกตดูลักษณะของกระดูกสันหลังว่าคดหรือไม่ สังเกตง่ายๆ จากขอบกางเกง หรือกระโปรงเวลาใส่ว่าเบี้ยวหรือไม่ หรือลองให้ก้มหลังดู สังเกตแนวกระดูก และความโค้งของหลัง ทั้งข้างซ้ายและขวา ว่าเท่ากันหรือไม่ ถ้าไม่เท่ากันแสดงว่ากระดูกสันหลังคด ควรไปปรึกษาแพทย์ แพทย์จะพิจารณาว่า จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์เสริมช่วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คดมากขึ้น โดยเฉพาะภายในช่วงอายุ ที่กำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และควรได้รับการแนะนำ ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง ให้แข็งแรง กีฬาที่เหมาะสม คือ การว่ายน้ำ

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง

การนอน :

 
•
ที่นอนควรแข็ง ไม่ยุบตรงกลางบริเวณเอว
 
•
ควรนอนหงาย งอสะโพกและเข่า หลังแบนเรียบติดที่นอน หมอนรองใต้เข่า
 
•
นอนตะแคง เข่างอ หลังตรง
 
•
ไม่ควรนอนคว่ำ

การลุกจากที่นอน :

 
•
ให้งอเข่าขึ้นก่อนตะแคงตัวในขณะเข่างอ ใช้ข้อศอก และมือยันตัวขึ้นในขณะที่ ห้อยเท้าทั้งสองข้างลงจากเตียง ดันตัวขึ้นตรง

การนั่ง :

 
•
เก้าอี้ที่เหมาะสม เวลานั่งให้หลังชิดพนัก ที่รองนั่งรองตลอดต้นขา เท้าวางบนพื้นพอดี
 
•
ควรนั่งให้เข้าสุดที่รองสะโพก หลังพิงชิดกับพนัก เท้าวางลงบนพื้นเต็มที่

นั่งขับรถยนต์

 
•
เลื่อนที่นั่งให้ใกล้พวงมาลัย เมื่อเวลาเหยียบครัทช์ เข่าอยู่สูงกว่าสะโพก  บริเวณหลังควรมีหมอนรองตรงช่วงเอว

การยกของ

 
•
ให้ย่อตัวลง หลังตรงตลอดเวลา ลุกขึ้นด้วยกำลังขานั่งขับรถยนต์
 
•
เลื่อนที่นั่งให้ใกล้พวงมาลัย เมื่อเวลาเหยีบบครัทช์เข่าสูงกว่าสะโพก หลัง ควรมีหมอนรองตรงช่วงเอว

การยืนนานๆ

 
•
ควรมีที่รองเท้า เพื่อยกเท้าขึ้นพักสลับข้างก้น

การไอจาม

 
•
ยืดหลังตรงหรือแอ่นขณะไอจาม อย่าก้มหลัง

การดันรถ

 
•
ใช้สะโพกดันรถ

การฉุดลาก

 
•
หันหลังให้ของที่จะฉุดลาก ให้ลากไปข้างหน้า

 

 

แพทย์หญิงจิตรา วงศ์วิวัฒนานนท์
แผนกกายภาพบำบัด

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เก๊าท์
 
โรคเก๊าท์
 
โรคข้อเสื่อม
 
เป็นข้อต่ออักเสบ ควรออกกำลังกายอย่างไร
 
อาหารกับโรคเก๊าต์
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.