หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ปัญหาของคนปวดหลัง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคปวดหลัง เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป และมักเกิดกับคนที่เป็นโรคกระดูกและข้อ หากสุ่มตัวอย่างกลุ่มผู้ใหญ่ 5 คน อาจพบว่า 4 คนในกลุ่มเคยมีอาการปวดหลัง และอาการปวดหลังนี้เป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง ที่ต้องทำให้บางคนต้องหยุดพักงานและขาดรายได้

กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว จะประกอบด้วยโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อที่ซับซ้อน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างร่างกายส่วนบนกับ ร่างกายส่วนล่าง คือ ทรวงอก แขน เชิงกราน และขากระดูกสันหลัง มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น การหันตัว การเอนตัว ก้มตัว และช่วยในการทรงตัว รวมทั้งความแข็งแรงที่ทำให้เรายืน เดิน และยกของได้

การทำกิจวัตรประจำวันของคนเรา ต้องอาศัยการทำงานที่เหมาะสมของกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังส่วนล่างอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น อาการปวดหลังจึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แม้กระทั่งเดินหรือเคลื่อนไหวก็ลำบาก และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

โดยทั่วไปคนที่ปวดหลังส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงเท่าไหร่ ยังพอจะรักษาได้ โดยการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน หรือการรับประทานยา แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

เราปวดหลังได้อย่างไร?

สาเหตุของการปวดหลัง มีได้หลายอย่าง เช่น คนที่เคยเกิดอุบัติเหตุมีผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง คนที่อายุมากขึ้น มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง การติดเชื้อของกระดูกสันหลัง และโรคมะเร็งที่ลุกลามมาที่กระดูก ซึ่งมักเกิดกับคนเป็นมะเร็งที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก และแม้ขณะนอนพักก็ยังมีอาการปวดอยู่

อาการปวดหลังมักจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อสันหลังเกร็งตัว กล้ามเนื้อของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวนี้ เป็นส่วนที่สำคัญในการเคลื่อนไหว การทรงตัว และกิจวัตรประจำวันของร่างกาย เช่น การยืน การเดิน การยกของ ถ้าเรายืนหรือเดินในท่าที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อตึงมากขึ้น จนทำให้ปวดหลังได้ ซึ่งการ ใช้งานของกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป เช่น การยกของหนัก การยืน หรือเดินนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ตัวนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ที่ทำให้คนปวดหลัง บางครั้งอาจจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ หรือในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักจะบ่นปวดหลังมาก เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น และท้องที่โตขึ้น จนทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ในผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีการเสื่อมสลายของหมอนรองกระดูกสันหลัง และข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลัง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดได้กับทุกคน แล้วแต่ว่าใครจะเป็นมากหรือน้อย ถ้าหมอนรองกระดูกเสื่อมมาก ก็จะทำให้หลังแข็งและปวดหลังตามมา ซึ่งข้อต่อของกระดูกที่มีการเสื่อมสลาย จะมีกระดูกงอกออกมา เนื่องจากการเสื่อมของข้อ (บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป) กระดูกที่งอกออกมานี้ อาจจะไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดหลังและปวดร้าวไปยังบริเวณสะโพก อีกทั้งยังเจ็บร้าวลงไปทางด้านหลังของต้นขา นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการชา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะชาที่บริเวณด้านข้างของขา

กระดูกพรุนและเกิดกระดูกสันหลังยุบ เมื่อมีอายุมากขึ้นกระดูกจะบางลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ทำให้กระดูกไม่สามารถทนต่อแรงกระแทกได้ จึงทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบลงในคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน

หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หมอนรองกระดูกเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง 2 ชิ้น เมื่อมีอายุมากขึ้นในช่วงวัยกลางคน อาจพบว่ามีร่องหรือรอยร้าวเกิดขึ้น ในหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหลัง ถ้ามีรอยร้าวเกิดขึ้นที่หมอนรองกระดูกมากขึ้น จะส่งผลให้สารชนิดหนึ่งที่เป็นสารเหลว ซึ่งอยู่ตรงกลางของหมอนรองกระดูกสันหลังไหลออกมา ทำให้ไปกดทับเส้นประสาท จึงเกิดอาการปวดหลังร้าวลงไปที่น่องขา และในส่วนที่เกิดการกดทับเส้นประสาทนี้ ยังเกิดสารเคมีบางอย่างที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดมาก

ปวดหลังแบบไหนต้องผ่าตัด

ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหลัง สามารถรักษาให้หายด้วยวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่แพทย์อาจวินิจฉัยให้บางท่านเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะเหตุที่ว่าต้องการกำจัดเอาสิ่งที่ไปกดทับเส้นประสาท เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังออก เนื่องจากเส้นประสาทถูกกด จึงทำให้มีอาการปวดมาก แม้รักษาด้วยยาในเวลาที่เหมาะสม และการปรับเปลี่ยนท่าทางที่ถูกต้องแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการกล้ามเนื้อ
อ่อนแรงจากเส้นประสาทที่ถูกกดทับ หรือมีอาการอุจจาระหรือปัสสาวะลำบาก เป็นต้น ถ้าแบบนี้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด

อย่าละเลยเมื่อปวดหลัง

เมื่อมีอาการปวดหลัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย หาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ส่วนใหญ่แล้วมักพบว่าการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน การใช้หลังอย่างถูกวิธี ก็สามารถทำให้อาการปวดหลังทุเลาลงได้ เช่น การปรับเปลี่ยนอิริยาบถในขณะยืน นั่งทำงาน การนอนพัก ทำงานเบาๆ การรับประทานยาลดปวดและยาลดการอักเสบ เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท เมื่ออาการปวดเริ่มทุเลาลง ก็สามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ในขณะเดียวกันการออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกาย ถ้าคนที่มีน้ำหนักมาก ก็จำเป็นต้องลดน้ำหนักลง ส่วนคนที่สูบบุหรี่ก็ควรหยุดสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสการปวดหลังลง การรักษาในระยะยาวที่ได้ผลดีที่สุด ก็คือการป้องกัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง ระวังท่าทางในการยกของหนัก ถ้าจำเป็นต้องยก ก็ต้องทำอย่างถูกวิธี


นพ. ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกและข้อ


วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการปวดหลัง

ปัจจัยในชีวิตประจำวันที่มีผลต่อการปวดหลัง

 
•
ขาดการออกกำลังกาย
 
•
อ้วน หรือน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
 
•
อยู่ในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม จากการนั่งหรือยืนทำงานนานๆ
 
•
ท่าทางการยกของที่ไม่ถูกต้อง
 
•
ความเครียด
 
•
มีการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนี้มากเกินไป

เราจะป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการปวดหลังได้โดย

 
•
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัวแข็งแรงและยืดหยุ่นดี
 
•
ควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม
 
•
ในการนั่งทำงาน ควรให้ลำตัว สะโพก และเข่าทำมุมในแนวตั้งฉาก เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้น
 
•
หากจำเป็นต้องยืนนานๆ ให้หาที่พักเท้าเพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง
 
•
ไม่ควรอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ควรมีการหยุดพัก หรือเปลี่ยนอิริยาบถบ้างอย่างน้อยทุกๆ ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงการตึงตัวของ
กล้ามเนื้อ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหลัง อาจจะลุกเดินไปมา หรือยืดเส้นยืดสายบิดขี้เกียจได้ทั้งนั้น
 
•
เวลายกของจากพื้นควรใช้การย่อเข่า ให้ตัวอยู่ชิดกับของมากที่สุด และในขณะยกของขึ้นให้ออกแรงที่ขา มากกว่าใช้หลังในการยก
 
•
ควรหลีกเลี่ยงการก้มหรือบิดลำตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทำพร้อมกันทั้งสองอย่าง เพราะอาจส่งผลให้กระดูก และหมอนรองกระดูก เกิดการบาดเจ็บขึ้นมาได้


สมพัฒน์ จำรัสโรมรัน ที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคข้อเสื่อม
 
โอ๊ย ! ... ปวดหลัง
 
โรคปวดหลัง
 
ปวดหลัง
 
เสริมกระดูกไม่ยากอย่างที่คิด
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.