หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
อุจจาระกลิ่นแรง ส่งสัญญาณเสี่ยง โรคอ้วน เบาหวาน
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โฆษก สธ. เผยผลการวิจัยพฤติกรรม การกินผักผลไม้ของคนไทย ล่าสุดอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงมาก ทั้งผู้ชายผู้หญิง มีคนกินผักผลไม้ได้ตามเกณฑ์ คือวันละ 4 ขีด หรือ 5-6 ทัพพี เพียงร้อยละ 21 เท่านั้น เป็นสาเหตุให้ น้ำหนักตัวคนไทยพุ่งกระฉูด พบในผู้หญิงร้อยละ 34 ส่วนผู้ชายร้อยละ 23 แนะสัญญาณภัยอันตรายเบื้องต้นง่ายๆ ให้สังเกตจากกลิ่นอุจจาระ หากมีกลิ่นแรง ถ่ายยาก แสดงว่ากินผักผลไม้ยังไม่พอ เสี่ยงโรคอ้วน เบาหวานเยือน

นายสง่า ดามาพงษ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้คนไทยใช้ชีวิตน่าห่วงมาก โดยเฉพาะ 2 พฤติกรรม ที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน ได้แก่ การกิน และการออกกำลังกาย โรคภัยที่สะท้อนปัญหาชัดเจนคือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าโรคเรื้อรัง เพราะเมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด และสาเหตุของการเกิดโรคเหล่านี้ มาจากเรื่องการมีน้ำหนักตัวเกิน หรือโรคอ้วน

จากการสำรวจสุขภาพคนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศใน พ.ศ.2547 พบผู้ชายร้อยละ 23 และผู้หญิงร้อยละ 34 มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ารูปร่างท้วม อาจพูดได้ว่าผู้ชายทุกๆ 4 คน และผู้หญิงทุกๆ 3 คน จะพบคนรูปร่างท้วมได้ 1 คน ส่วนคนในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวอายุ 15-29 ปี พบน้ำหนักเข้าข่ายท้วมร้อยละ 10 อ้วนร้อยละ 6 และผอมร้อยละ 17

ขณะเดียวกัน ผลการตรวจสุขภาพคนไทยในปีเดียวกัน พบคนไทย มีปัญหาความดันโลหิตสูงกว่า 10 ล้านคน หรือร้อยละ 22 เพิ่มขึ้นจากปี 2534 ถึง 4 เท่าตัว พบในผู้ชายร้อยละ 23 ผู้หญิงร้อยละ 21 ในจำนวนนี้กว่า 7 ล้านคนยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วย ส่วนในกลุ่มที่รู้ตัวว่าป่วย พบว่า รักษาได้ผลควบคุมระดับความดัน ได้ไม่ถึง 1 ล้านคน ส่วนโรคเบาหวาน ตรวจพบในผู้ชายร้อยละ 6 และผู้หญิงร้อยละ 7 รวมกว่า 3 ล้านคน พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 60-69 ปี และยังพบในกลุ่มวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว อายุ 15-29 ปี เกือบร้อยละ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด ตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดก็คือ ไขมันคอเลสเตอรอลอุดตันในเส้นเลือด

จากการตรวจสุขภาพพบ สูงผิดปกติในผู้ชายร้อยละ 14 ส่วนผู้หญิงพบร้อยละ 17 เฉพาะในวัย 15-29 ปี มีไขมันตัวนี้ สูงเกินมาตรฐานร้อยละ 7 ผู้ที่มีไขมันสูงผิดปกตินี้ ร้อยละ 87 ยังไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ต้องเร่งแก้ไขปรับแก้พฤติกรรม ก่อนที่โรคจะกำเริบรุนแรงไปกว่านี้

นายสง่า กล่าวอีกว่า สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วยจาก 3 โรคดังกล่าวจากการเฝ้าระวังผู้ป่วยใน 28 จังหวัด พบมีเข้ารักษาพยาบาลทั้งหมด 310,401 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเบาหวาน 207,964 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาแทรกซ้อน 64,545 ราย มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 378,254 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด 34,394 ราย ผู้ป่วยเหล่านี้รักษาไม่หายขาด จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ คือ กินยาสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหาร ที่มีผักผลไม้มากๆ ลดอาหารรสหวาน อาหารจำพวกแป้งให้น้อยลง จะสามารถคุมอาการให้เหมือนคนปกติได้

สำหรับการป้องกันไม่ให้ป่วย เป็นโรคเรื้อรังดังกล่าว ประชาชนควรออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งๆ 30 นาที รับประทานผักผลไม้มากๆ ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ หรือให้มากกว่าวันละ 4 ขีด หรือกว่าวันละ 5-6 ทัพพี ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากในผักและผลไม้ จะมีเส้นใยอาหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์มาก เพราะถ้ากินเส้นใยจากอาหารเป็นประจำ ช่วยให้การเคลื่อนไหว ของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น ส่งผลให้ร่างกายมีการขับถ่ายดีขึ้น จะช่วยให้ท้องไม่ผูก ลดไขมันในเส้นเลือด โดยใยของอาหารช่วยในการขับถ่าย นำไขมันคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย

ในทางตรงกันข้าม หากกินอาหารที่มีเส้นใยน้อย จะทำให้ร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น ท้องผูก ริดสีดวงทวาร โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น การกินเส้นใยอาหาร ทำให้ถ่ายอุจจาระได้สะดวก ทำให้ร่างกายไม่หมักหมม สิ่งบูดเน่า และสารพิษบางอย่าง ไว้ในร่างกายนานเกินควร จึงป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้ โดยคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยอาหาร ที่ป้องกันโรคดังกล่าวได้ นอกจากจะไม่ถูกย่อยด้วยน้ำย่อย แต่จะดูดน้ำทำให้อุจจาระนุ่ม มีน้ำหนักและถ่ายง่าย และร่างกายยังได้รับ สารเบต้า-แคโรทีนและวิตามินซี จะช่วยป้องกันอนุมูลอิสระ ไม่ให้ทำลายเซลล์

นายสง่า กล่าวถึงวิธีการที่จะรู้ว่า กินผักผลไม้เพียงพอหรือไม่นั้น ให้สังเกตได้จากลักษณะอุจจาระ หากกินผักผลไม้พอ ท้องมักจะไม่ผูก อุจจาระจะร่วน มีกลิ่นแต่ไม่รุนแรง ตรงกันข้าม หากผู้ที่กินผักผลไม้น้อย หรือกินเนื้อสัตว์มาก อุจจาระมักจะแข็ง ถ่ายลำบาก เกิดการหมักหมมในลำไส้ใหญ่ กลิ่นมักจะเหม็น นอกจากนี้ ผักผลไม้ยังช่วยบรรเทา อาการท้องผูก อีกทั้งยังช่วยลด การเก็บกักของเสียในร่างกาย ลดการหมักหมมของเสียในลำไส้ ลดโอกาสการดูดซับสารพิษ จากของเสียเข้าสู่ร่างกาย และที่สำคัญ มันช่วยลดโอกาส ในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ เมื่อหันมารับประทาน อาหารประเภทนี้มากขึ้น อาจจะเกิดปัญหาท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก ในระยะแรกๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาชั่วคราว เมื่อร่างกายปรับตัวได้ ปัญหานี้จะหมดไป โดยค่อยๆ เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ทีละน้อย และดื่มน้ำเพิ่มขึ้น โดยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ระบบย่อยอาหาร ได้มีการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ชนิดของอาหาร

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.sanook.com และ คม ชัด ลึก วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2549  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน ... น่ารู้
 
เบาหวาน เรื่องไม่เบาที่เด็กและวัยรุ่นควรใส่ใจ
 
เบาหวานกับไขมันในเลือด
 
เลือกรับประทานอาหารอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวาน
 
ฟาสต์ฟูด โรคอ้วน โรคเบาหวาน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.