หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เลือกรับประทานอาหารอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวาน
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ปัจจุบัน ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกรับประทานอาหารต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนปกติ แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะรับประทานอาหารได้มากน้อยเพียงใด จึงจะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง การรับประทานข้าวแต่น้อยหรือไม่รับประทานเลยแล้วไปเพิ่มอาหารอย่างอื่น เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ ในปริมาณมากๆ มิใช่วิธีการปฎิบัติที่ถูกต้อง ทั้งยังอาจทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงอีกด้วย

วิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายชนิด เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกรับประทานอาหารตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 อาหารจำพวก ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือกมัน ถั่วเมล็ดแห้ง 1 ส่วนประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม โปรตีน 3 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี่

  • ข้าวสุก 1/2 ถ้วยตวง (ประมาณ 1 ทัพพีเล็กในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า)
  • ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ , เส้นเล็ก 1/2 ถ้วยตวง (ประมาณ 1 ทัพพีเล็ก)
  • ถั่วเขียว , ถั่วดำ , ถั่วแดงสุก 1/2 ถ้วยตวง
  • ข้าวต้ม 1/2 ถ้วยตวง ( 2 ทัพพีเล็ก) , วุ้นเส้นสุก 1/2 ถ้วยตวง
  • ขนมจีน 1 จับ , บะหมี่ 1/2 ก้อน
  • ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น , มันฝรั่ง 1 หัวกลาง
  • ข้าวโพด 1 ฝัก ( 5 นิ้ว ) , แครกเกอร์สี่เหลี่ยม 3 แผ่น

ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกับคนปกติ ไม่จำเป็นต้องงดหรือจำกัดมากเกินไป เพราะข้าวเป็นแหล่งของพลังงานที่ร่างกายต้องการใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนจะรับประทานได้เท่าไรนั้น ขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัว และกิจกรรมหรือแรงงานที่ผู้ป่วยทำใน

แต่ละวัน เช่น ผู้ป่วยที่อ้วน รับประทานข้าวได้มื้อละ 2 ทัพพีเล็ก ถ้า ไม่อ้วนก็รับประทานข้าวได้มื้อละ 3 ทัพพี เมื่อเลือกรับประทานก๋วยเตี๋ยวหรือขนมปังแล้ว ต้องงดหรือ ลดข้าวในมื้อนั้นลงตามสัดส่วนที่กำหนด อาหารในกลุ่มนี้รับประทานได้มื้อละ 2-4 ส่วน

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังที่ทำจากแป้งที่ไม่ขัดสี เพื่อจะได้ใยอาหารเพิ่มขึ้น

กลุ่มที่ 2 ผักชนิดต่างๆ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 5 กรัม โปรตีน 2 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่

  • แครอท , ฟักทอง , ข้าวโพดอ่อน 1/2 ถ้วยตวง
  • ผักคะน้า , บรอคโคลี 1/2 ถ้วยตวง
  • ถั่วแขก , ถั่วลันเตา , ถั่วฝักยาว 1/2 ถ้วยตวง
  • น้ำมะเขือเทศ , น้ำแครอท 1/2 ถ้วยตวง

อาหารกลุ่มนี้ มีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารมาก ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานให้มากขึ้นในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะผักใบสีเขียวสดหรือสุก รับประทานได้ตามต้องการ ถ้านำผักมาคั้นเป็นน้ำ ควรรับประทาน กากด้วย เพื่อจะได้ใยอาหาร ใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและ ไขมันในอาหารทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดลดลง ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานผักวันละ 2-3 ถ้วยตวงทั้งผักสดและผักสุก



กลุ่มที่ 3
ผลไม้ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี่

  • กล้วยน้ำว้า 1 ผล , ฝรั่ง 1/2 ผลใหญ่ , ส้ม 1 ผล ( 2 1/2 นิ้ว)
  • กล้วยหอม 1/2 ผล , แอปเปิ้ล 1 ผลเล็ก , ชมพู่ 2 ผล
  • มะม่วงอกร่อง 1/2 ผล , เงาะ 4-5 ผล , ลองกอง 10 ผล
  • มะละกอสุก 8 ชิ้นขนาดคำ , แตงโม 10 ชิ้นขนาดคำ
  • น้ำผลไม้ 1/3 ถ้วยตวง

ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้จะมีใยอาหาร แต่หากรับประทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อ วันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร ควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด หรือ ผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง

การรับประทานผลไม้ครั้งละมากๆ แม้จะเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน ก็ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้

กลุ่มที่ 4 เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ส่วน มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3 กรัม ให้พลังงาน 55 กิโลแคลอรี่

  • เนื้อหมู , เนื้อวัว ไม่ติดมันและหนัง หั่น 8 ชิ้น (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ)
  • เนื้อไก่ , เป็ด ไม่ติดมันและหนัง หั่น 8 ชิ้น
  • ปลาทู (ขนาด 1 1/2 นิ้ว) 1 ตัว , ลูกชิ้น 6 ลูก
  • เต้าหู้ขาว 1/2 หลอด , ไข่ขาว 3 ฟอง

อาหารกลุ่มนี้ให้โปรตีนเป็นหลัก ผู้ป่วยควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าวพูนน้อยๆ และควรเลือกเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมันและหนัง รับประทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น

กลุ่มที่ 5 ไขมัน 1 ส่วนมีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่

  • น้ำมันพืช/น้ำมันหมู 1 ช้อนชา , เนย 1 ช้อนชา , กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ
  • มายองเนส 1 ช้อนชา , เบคอนทอด 1 ชิ้น , ครีมเทียม 4 ช้อนชา
  • เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 6 เมล็ด , ถั่วลิสง 20 เมล็ด

น้ำมันทั้งพืชและสัตว์ให้พลังงานเท่ากัน แต่น้ำมันพืชไม่มีโคเลสเตอรอล สำหรับน้ำมันมะพร้าวและกะทิ มีกรดไขมันอิ่มตัวจำนวนมาก ทำให้มีการสร้างโคเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มขึ้น

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ น้ำมันถั่วลิสง และน้ำมันปาล์มโอเลอีน แทนน้ำมันหมูในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอด แป้งอบที่มีเนยมาก ( Bakery products) และอาหารที่มีกะทิเป็นประจำ

กลุ่มที่ 6 น้ำนม 1 ส่วนมีโปรตีน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม จำนวนพลังงานแตกต่างกันตามปริมาณไขมันในน้ำนมชนิดนั้นๆ

  • น้ำนมไขมันเต็ม 240 มล. มีไขมัน 8 กรัม ให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่
  • น้ำนมพร่องมันเนย 240 มล. มีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี่
  • น้ำนมไม่มีไขมัน 240 มล. มีไขมันน้อยมาก ให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี่
  • โยเกิร์ตชนิดครีมไม่ปรุงแต่งรส 240 มล. ปริมาณพลังงานขึ้นกับชนิดของนมที่นำมาทำโยเกิร์ต ถ้าใช้ไขมันเต็ม จะให้พลังงาน 150 กิโลแคลอรี่ เท่ากับน้ำนม

ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรส โยเกิร์ตชนิดครีมปรุงแต่งรส นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เพราะนมเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลหรือ น้ำหวาน ควรเลือกดื่มน้ำนมพร่องมันเนย น้ำนมไม่มีไขมัน

ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานน้ำหวานหรือขนมหวานได้หรือไม่

น้ำหวานทั้งชนิดอัดลมและไม่อัดลม น้ำหวานเข้มข้นผสมน้ำ ลูกอมชนิดต่างๆเหล่านี้ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่นๆนอกจากน้ำตาล ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ยกเว้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการ น้ำตาลในเลือดต่ำ เริ่มรู้สึกหิวจัด เวียนหัว ตาลาย ควรดื่มน้ำหวานประมาณ 1/2-1 แก้ว

สำหรับขนมหวานจัดอื่นๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา ขนมหม้อแกง ขนมเชื่อม ขนมกวน ขนมหน้านวล ขนมอะลัว เหล่านี้ควรงดเช่นเดียวกัน

ขนมบางชนิดที่ไม่หวานจัด ผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานได้บ้างเป็นครั้งคราวแต่ต้องแลกเปลี่ยนกับข้าว ไขมัน และผลไม้ในมื้อนั้น เช่น

  • ไอศกรีม 1 ก้อน ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
  • ตะโก้ 4 กระทง ( 1x1 นิ้ว) ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
  • เค้กไม่มีหน้า 1 อันกลมให้งดข้าว 1 ทัพพีในมื้อนั้น
  • ซ่าหริ่ม 1 ถ้วย ให้งดข้าว 1 ทัพพีงดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น

ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานขนมบ่อย นอกจากในโอกาสพิเศษ เช่นวันเกิด ปีใหม่ และควรทำในระยะที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วย ไม่ควร งดข้าวทั้งหมดและรับประทานขนมแทนเพราะผู้ป่วยจะรู้สึกไม่อิ่ม ต้องหาอาหารอื่นรับประทานเพิ่ม ซึ่งจะทำให้อาหารมากกว่าปริมาณที่กำหนด เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้

ผู้ป่วยเบาหวานใช้น้ำตาลเทียมได้เท่าไร

น้ำตาลเทียมที่ขายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นแอสปาร์แทม ซึ่งมีรสหวานเป็น 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสปาร์แทม 1 ซอง (38 มิลลิกรัม) ให้ความหวานเท่ากับน้ำตาล 2 ช้อนชา FDA ของสหรัฐอเมริกาได้ทดสอบความปลอดภัยและอนุญาตให้ใช้ได้วันละ 50 มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในปริมาณน้อยกว่านี้มาก แต่ แอสปาร์แทมทนความร้อนสูงไม่ได้ จึงต้องให้ใส่หลังประกอบอาหารแล้ว ผู้ป่วยที่ยังคงติดรสหวาน สามารถใช้ใส่ในอาหาร หรือเครื่องดื่มได้ ผู้ป่วยต้องการดื่มน้ำอัดลม ควรดื่มประเภทที่มีคำว่า ไดเอท ซึ่งใช้สารนี้แทนน้ำตาล

ฟรุคโตส เป็นน้ำตาลผลไม้ มีรสหวานกว่าน้ำตาลทรายเกือบ 2 เท่า จึงใช้ปริมาณน้อยกว่าน้ำตาลทราย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงช้ากว่าน้ำตาลทราย แต่ถ้ารับประทานในปริมาณมาก จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นเดียวกัน และยังอาจทำให้ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลฟรุคโตสให้พลังงานเท่ากับน้ำตาล จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่อ้วน

สรุปการเลือกรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

 
•
รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ได้ตามปกติ ไม่ต้องลดลงมาก นอกจากผู้ที่อ้วนให้ลดลงครึ่งหนึ่ง
 
•
รับประทานผลไม้ตามจำนวนที่กำหนด วันละ 2-3 ครั้งแทนขนม
 
•
รับประทานผักให้มากขึ้นทุกมื้อ
 
•
รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง
 
•
รับประทานไข่สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง ถ้าไขมันในเลือดสูงให้งดไข่แดง
 
•
รับประทานอาหารปลา และเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
 
•
ใช้น้ำมันพืชจำพวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำในการทอด ผัดอาหารแต่พอควร
 
•
เลือกดื่มน้ำนมไม่มีไขมัน น้ำนมพร่องมันเนยแทนน้ำนมปรุงแต่งรส
 
•
หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ช็อกโกแลตและขนมหวานจัดต่างๆ
 
•
หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ ไขมันสัตว์ อาหารทอดเป็นประจำรวมทั้ง ขนมอบ เช่น พัฟ เพสตรี้ ฯลฯ
 
•
รับประทานผัก ผลไม้ทั้งกากแทนการคั้นดื่มแต่น้ำ
 
•
เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ต้ม นึ่ง ย่าง ผัด ที่ใช้ น้ำมันน้อยแทนการทอด
 
•
ใช้น้ำตาลเทียมใส่เครื่องดื่มและอาหารแทนการใช้น้ำตาลทราย
 
•
รับประทานอาหารสอ่อนเค็ม

จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกอาหารมากขึ้น และอาหารที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็มิได้แตกต่างจากอาหารคนปกติ แต่จะเป็นลักษณะของอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ รสอ่อนเค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับทุกคน มิใช่เฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่รับประทาน การแลกเปลี่ยนและการทดแทนอาหาร เพื่อจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ

 
       
    แหล่งข้อมูล : สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ทำไมเป็นโรคเบาหวาน
 
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
 
ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจอะไร นอกจากระดับน้ำตาลในเลือด
 
เบาหวานกับไขมันในเลือด
 
คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.