หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เบาหวาน เรื่องไม่เบาที่เด็กและวัยรุ่นควรใส่ใจ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เคยไหมกินจุแต่กลับผอมลง ปวดปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย และมีภาวะขาดน้ำ?

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติเวลาเรารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาล และร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ ให้เกิดพลังงาน โดยการนำเข้าไปในเซลล์ หรือหน่วยเล็กๆ ของร่างกาย เพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมน ที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์ คือ ฮอร์โมนอินสูลิน (Insulin) ที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน ในผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอินซูลิน หรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ โรคเบาหวาน กล่าวคือ ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ และหากมีอาการรุนแรง ร่างกายจะสลายไขมัน มาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล สารที่ได้เรียกว่า กรดคีโตน ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก

รู้มั้ย ?… เบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็เป็นเบาหวานได้

ชนิดของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น

จริงๆ แล้วมีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 ชนิดหลัก คือ

1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 DM)


เกิดจากการที่ร่างกาย มีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อน ที่ทำหน้าที่ผลิตอินสูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินสูลินได้ (ร่างกายขาดอินสูลิน) เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ มักมีอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด

สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลาย ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่า เกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น รักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินสูลินเข้าผิวหนัง ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาด และยังไม่พบวิธีที่จะป้องกัน แพทย์และนักวิจัยกำลังพยายามหาวิธีป้องกัน ในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป

2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 DM)

การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเด็ก ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ การเพิ่มของอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็ก ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหาร ที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย เด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เด็กอ้วนและกำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี เช่นกัน

เด็กอ้วนจะมีเซลล์ไขมันจำนวนมาก เซลล์ไขมันเหล่านี้จะปล่อยสารต่างๆ เช่น กรดไขมันออกมา ทำให้ร่างกายดื้อต่ออินสูลิน หรืออธิบายง่ายๆ ว่า อินสูลินที่มีอยู่ไม่สามารถออกฤทธิ์ นำน้ำตาลเข้าเซลล์ไปใช้ ให้เกิดพลังงานได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็น โรคเบาหวาน นั่นเอง

โดยทั่วไป ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรงเท่ากับ เบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้อาจตรวจพบล่าช้า

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2

 
•
มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
 
•
มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน
 
•
คนเชื้อชาติเอเชีย
 
•
มีปื้นดำหนาๆ ที่คอ เรียกว่า อะแคนโทสิส (Acanthosis negrican)

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้ป่วยต้องลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการให้ยาชนิดรับประทาน แต่ถ้ารักษาแล้วไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน

การป้องกันเบาหวาน

เบาหวานชนิดที่ 1 ขณะนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน

เบาหวานชนิดที่ 2 พยายามให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ลดอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไก่ทอด นมเปรี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง, ขนมถุงกรุบกรอบ และควรส่งเสริมให้เด็ก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอ้วน

เมื่อใดควรมาพบแพทย์

 
1.
ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน
   
 
•
ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ
 
•
กินจุ ผอมลง
 
•
ปัสสาวะมีมดตอม
 
•
เป็นแผลหายช้า
 
•
ติดเชื้อที่ผิวหนัง
 
2.
ถ้าเด็กหรือวัยรุ่นอ้วน และมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวาน
 
3.
มีปื้นดำที่คอ

ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลบุตรหลานว่า มีอาการ 1 ใน 3 ข้อนี้หรือไม่ ถ้าพบควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ

วิธีการตรวจหาเบาหวาน

ตรวจจากเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มากกว่า หรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็น เบาหวาน หรือถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหาร หรือ หลังกินน้ำตาล (ตามแพทย์สั่ง) เป็นเวลา 2 ชม. มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเป็นเบาหวานเช่นกัน

ลองสังเกตดูว่า บุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัย จากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคต

 

ผศ.พญ.ไพรัลยา สวัสดิ์พานิช

 
       
    แหล่งข้อมูล : Siriraj E-Public Library - www.si.mahidol.ac.th  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน โรคคุ้นหูที่ไม่ธรรมดา
 
เบาหวาน ... น่ารู้
 
เบาหวานกับไขมันในเลือด
 
โรคเบาหวาน กับ ภาวะไตวาย
 
ฟาสต์ฟูด โรคอ้วน โรคเบาหวาน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.