เที่ยวเหนือ หน้าหนาว เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมกระทำกัน โดยจังหวัดเชียงรายคือหนึ่งในนั้น ซึ่งนอกจากแหล่งท่องเที่ยวประเภทป่าเขา ดงดอย ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศความหนาวเย็นแล้ว ในเชียงรายยังมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดวาอารามมากมาย และศิลปวัฒนธรรม โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ไร่แม่ฟ้าหลวง บ.ป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย
ไร่แม่ฟ้าหลวง ไม่ใช่ไร่ปลูกพืชพันธุ์ ต้นไม้ เหมือนไร่ทั่วไป แต่เป็นไร่ที่ ปลูกคน ที่สมเด็จย่าพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อไว้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทรงงานและอบรมเยาวชนจากถิ่นธุรกันดาร ในความดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ด้วยเหตุที่ทรงพบว่าชาวเขาตามจังหวัดชายแดนภาคเหนือ มีความลำบากยากไร้ ต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น
นอกจากการเรียนตามตำราหรือในห้องเรียนแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง คือ การได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน พึ่งพาและสามัคคีกัน ต้องรู้จักดูแลตนเอง ดูแลกันและกัน ดังนั้น เยาวชนเหล่านี้ จะถูกฝึกจนสามารถกลับไปเป็นผู้นำที่ดีของชุมชนตนเองได้ต่อไป ต่อมาหลังจากมีโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และระบบการศึกษาไปถึงประชาชนบนภูเขาสูงและที่ทุรกันดาร บทบาทของไร่แม่ฟ้าหลวง ที่เป็นไร่ปลูกคนก็จบลง
ปัจจุบันไร่แม่ฟ้าหลวงบนพื้นที่กว่า 150 ไร่ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด อุทยานแห่งความสงบงามอย่างล้านนา ซึ่งได้ปรับสถานที่ให้เป็นอาคารอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมล้านนา เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษา อนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนา และเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ละคร อีกทั้งยังเหมาะสำหรับจัดงานเลี้ยงรับรองรูปแบบต่างๆ การประชุมสัมมนาหรือการประกอบพิธีกรรมพื้นเมืองเหนือ ในท่ามกลางบรรยากาศอันสงบขรึมขลัง
ในไร่แม่ฟ้าหลวง มีการจัดภูมิทัศน์เป็นสัดส่วนสวยงาม มีสวนที่ร่มรื่นด้วยหมู่พันธุ์ไม้พื้นเมือง และพันธุ์ไม้หอมนานาชนิด มีสระน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบบริเวณ โดยมีอาคารที่สำคัญอยู่ 3 หลัง คือ หอคำ หอคำน้อย และหอแก้ว
หอคำ สถาปัตยกรรมล้านนาที่ชาวเชียงรายร่วมกันสร้างเพื่อ ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ถวายเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งคำว่า ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง เป็นภาษาเหนือโบราณแปลว่า การน้อมคารวะ ส่วน แม่ฟ้าหลวงเป็นคำที่ชาวไทยในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ใช้แทนพระนามของสมเด็จย่า
สำหรับตัวหอคำมีโครงสร้างและวัสดุที่ใช้อย่างล้านนาไทย คือ ตัวอาคารสอบเข้าเหมือนลักษณะเรือนล้านนาอย่างโบราณ ลวดลายประดับได้จากจังหวัดอุตรดิตถ์ วัสดุใช้ไม้ทั้งหลัง แบบหลังคาได้ความบันดาลใจจากวัดในจังหวัดลำปาง เป็นหลังคาเก่าของบ้านในชนบทเป็นแผ่นไม้สักกว้างประมาณ 4 นิ้ว ซ้อนกัน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า แป้นเกล็ด
ภายในเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุและงานพุทธศิลป์ มีทั้งพระพุทธรูปแบบล้านนา พม่า และเครื่องใช้พื้นบ้านในชีวิตประจำวัน รวมถึงเครื่องไม้แกะสลักที่ใช้ในการพระศาสนา เช่น ตุงกระด้างหรือตุงหรือธงไม้ ขันดอกหรือภาชนะใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ เครื่องสัตภัณฑ์หรือเชิงเทียนไม้เก่าแก่ ที่ใช้ตั้งถวายบูชาหน้าพระประธานในวิหาร หรืออุโบสถของวัดทางภาคเหนือ แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น วัดวาอารามเก่าแก่หลายแห่งถูกรื้อลง เพื่อสร้างขึ้นใหม่ตามแบบสมัยนิยม สัตภัณฑ์ก็ได้ถูกยักย้ายถ่ายเทไปตามที่ต่างๆ และขาดผู้สนใจ
สัตภัณฑ์ในไร่แม่ฟ้าหลวงมีการแบ่งเป็นจังหวัดต่างๆ ในล้านนา ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างก็มีศิลปะของ สัตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รวบรวมมาเพื่ออนุรักษ์ไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและเกิดความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนมาก เครื่องสัตภัณฑ์ทุกชิ้นที่จัดแสดง จะมีป้ายชื่อและแหล่งที่มากำกับ เช่น เทพทิพย์ สัตภัณฑ์อย่างสันกำแพง ช้างแก้ว สัตภัณฑ์อย่างหริภุญไชย บัวร้อยดอก สัตภัณฑ์อย่างเขมรัฐและสุคนธประทีป สัตภัณฑ์อย่างนันทบุรี
ใจกลางหอคำมีไม้ลำต้นใหญ่ปักห่างกันประมาณหนึ่งฟุต บนพื้นที่ปูด้วยทราย ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ คือ พระพร้าโต้ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปไม้สัก ที่ใช้มีดโต้เป็นเครื่องแกะสลักอย่างสง่างาม จาก อ.ลอง จ.แพร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2236 โดยฝีมือช่างพื้นบ้าน ส่วนบริเวณรอบอาคารภายนอก เป็นที่จัดแสดงวัตถุไม้สลักรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย พญานาค หงส์ เป็นต้น
ถัดจากหอคำเข้าไปประมาณ 500 เมตร คือ หอคำน้อย เป็นสถาปัตยกรรมศิลาแลงหลังคาแป้นเกล็ดไม้สักเช่นกัน อาคารเป็นแบบปิดทึบโดยรอบ มีเพียงช่องระบายลมที่เป็นช่องว่างระหว่างส่วนบนของผนังกับเพดาน โดยมีซี่กรงไม้กั้นพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกอาคาร
สถาปัตยกรรมล้านนาที่ออกแบบเฉพาะนี้ เพื่อรักษาสภาพโบราณภายใน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนด้วยสีฝุ่นบนกระดานไม้สัก รัตนโกสินทร์ โดยช่างเขียนชาวไทลื้อ จากวัดเวียงต้า อ.สอง จ.แพร่ ภาพแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ การแต่งกาย และวัฒนธรรมล้านนาเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าภาพจิตกรรมฝาผนังนี้ มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และก่อนที่จะไปถึงยังหอแก้ว ด้านหน้าเป็น ศาลาแก้ว ซึ่งจัดนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีต่อปวงชนชาวไทย และอาคาสุดท้ายที่อยู่ติดกันนั้นก็คือ หอแก้ว ซึ่งภายในเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปวัตถุทางวัฒนธรรมและนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการถาวร
สำหรับนิทรรศการถาวร เป็นเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับไม้สักราชินีแห่งป่าเหนือ การจัดแสดงเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าประเภทของไม้สัก อันได้แก่ สักทอง สักขี้ควาย สักหยวก สักหิน และสักไฟ เปรียบเทียบความแตกต่างของไม้สักกับไม้ชนิดต่างๆ จากนั้นเป็นการขยายพันธ์ไม้สักด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการเพาะด้วยเมล็ด เนื้อเยื่อ กล้า และปักชำ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวล้านนาในอดีต ที่ทำจากไม้ อาทิ กระดานซักผ้า เครื่องมือปั่นฝ้าย กระสวยยิงด้าย เปลเด็ก ตะเกียงล้านนา หีบใส่ยาสมุนไพร หลุกหรือระหัดวิดน้ำ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ทำด้วยไม้ อาทิ หลังคา ป้านลม และยังมีเครื่องใช้ต่างๆ อีกเช่น รถม้าประกอบด้วยไม้สัก เกวียนเทียมวัว ปราสาทไม้สักในพิธีปลงศพของชาวมอญ รอยพระพุทธบาทไม้สัก
ส่วนที่น่าสนใจอีกแห่งในหอแก้วคือ ห้องจัดแสดงพระพุทธรูป เพราะมีการสร้างสถาปัตยกรรมให้ผู้ชมได้เข้าใจถึง ตำแหน่งการจัดวางพระพุทธรูปในโบสถ์หรือวิหาร และพระพุทธรูปในแต่ละยุคแต่ละสมัย อาทิ พระพุทธรูปไทยใหญ่ อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมทางศาลนาที่ทำจากไม้ เช่น ธรรมาสน์ บันไดนาค เป็นต้น
สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาถือเป็นความน่าสนใจในไร่แม่ฟ้าหลวง อุทยานแห่งความสงบงามอย่างล้านนา ที่มากไปด้วยศิลปวัตถุมากมายให้ผู้สนใจได้เลือกชม เลือกศึกษา หาความรู้กัน
รายละเอียดเกี่ยวกับไร่แม่ฟ้าหลวง
|
ที่ตั้ง : 313 หมู่ 7 บ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย |
|
เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 18.00 น. |
|
การเดินทาง : จากอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย ขับไปตามถนนข้ามสะพานแม่ฟ้าหลวง ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้าย ขับไปมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ |
|
สอบถามรายละเีอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 053-711968 |
ผู้จัดการออนไลน์ - 29 ธันวาคม 2551
|