หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เกาะเกร็ด
ท่องเที่ยว วันหยุด
ท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์
ท่องเที่ยว เชิงนิเวศ
ท่องเที่ยว ข้อมูล อุทยานแห่งชาติ
 


เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดลำน้ำเจ้าพระยา ตรงที่มีแหลมยื่นไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2265 เรียกคลองนี้ว่า คลองลัดเกร็ดน้อย (คลองลัดเกร็ดใหญ่ อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ขนาดกว้าง 6 วา ยาว 39 เส้นเศษ ลึก 6 ศอก ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางทำให้คลองขยายกว้างขึ้น เพราะถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพังจึงกลายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด และกัดเซาะจนมีสภาพเป็นเกาะเช่นทุกวันนี้

เมื่อลำคลองกว้างขึ้น สภาพความเป็นเกาะเด่นชัดขึ้น จึงเกิดเกาะ แต่ชื่อที่เรียกกันนั้นชั้นแรกนั้นเรียกว่า เกาะศาลากุน ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดินที่ออกในสมัยรัชกาลที่ 5 เกาะศาลากุนนี้เรียกตามชื่อวัดศาลากุน สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากผู้สร้างถวายชื่อ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ที่สมุหนายกรับราชการ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้ว เกาะศาลากุนจึงได้มีฐานะเป็นตำบลและเรียกว่า ตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงชื่อว่า เกาะเกร็ด จนถึงปัจจุบัน

สถานที่น่าสนใจในเกาะเกร็ด

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เป็นวัดอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกทิ้งเป็นวัดร้างหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น ได้สร้างพระเจดีย์ทรงรามัญ ชื่อเจดีย์ร่างกุ้ง รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ และท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้

พ.ศ. 2417 วันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐิน ณ วัดปากอ่าวและวัดใกล้เคียง ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งเสนาสนะต่างปรักหักพังทรุดโทรม ทรงคำนึงถึงพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งอภิบาลบำรุงพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีรับสั่งอยู่เนืองๆ ว่าถ้าทรงพระเจริญขึ้นแล้วขอให้ทรงช่วยให้ได้สร้างพระอารามหนึ่ง จึงทรงกำหนดจะปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว และทรงมีพระราชดำรัสต่อพระคุณวงศ์ (สน) เจ้าอาวาสให้ทราบพระราชประสงค์ และทรงนำพระราชดำริกราบทูลแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งทรงพระปิติปราโมทย์เมื่อได้ทรงทราบเช่นนั้น

การปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว มีพระยาอัศนีศาภัยจางวาง กรมพระแสงปืนต้นเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เริ่มทำกุฏิสงฆ์และหอไตรแบบมอญ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาก่อฤกษ์พระอุโบสถใหม่ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร (ต้นราชสกุลกฤดากร) เป็นนายกอง พระราชสงคราม (ทัด) เป็นช่างทำพระอารามที่สร้างใหม่ทั้งหมด คงรูปแบบมอญไว้ เนื่องจากเป็นวัดมอญ ทรงโปรดให้สร้างพระไตรปิฎก เป็นภาษามอญ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระยาลักษณ์จารึกเรื่องทรงพระอารามนี้ลงในเสาศิลาเป็นอักษรไทยเสาหนึ่ง และพระสุเมธาจารย์แปลเป็นภาษามอญ และทรงโปรดให้จารึกเป็นภาษามอญอีกเสาหนึ่ง จารึกทั้งอักษรไทยและอักษรมอญอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามนี้ใหม่ว่า วัดปรมัยยิกาวาส

(ปรมัยยิกาวาส คือ พรม + อัยยิกา + อาวาส)

ศิลปกรรมวัดปรมัยยิกาวาส

พระอุโบสถ พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีขนาดยาว 9 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 7 ห้อง เฉลียงปูศิลาขาว ศิลาดำ ลาดพระอุโบสถปูศิลารอบพระอุโบสถ มีรั้วเหล็ก บานประตูเหล็ก ซึ่งเป็นเหล็กชั้นดีที่สั่งจากยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลวดลายสวยงาม ซุ้มเสมาใหญ่ ฐานกว้าง 2 วา 4 เหลี่ยม อยู่ในมุมทั้ง 4 ทิศ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้าพระวิช ในพระเจ้าราชวงศ์เธอกรมขุนราชศีหวิกรม เป็นภาพแสดงเรื่องธุดงวัตร 13 และพุทธประวัติโดยเฉพาะ พระพุทธกิจหลังการตรัสรู้ (พระพุทธจรรยา) เป็นพระวินัยของพระสงฆ์เกี่ยวกับผ้าจีวร 2 บท เกี่ยวกับภัตตาหาร 5 บท เสนาสนะ 5 บท และเกี่ยวกับความเพียร 1 บท ตกแต่งภายในด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก จึงมีลักษณะของศิลปะตะวันออกผสมกลมกลืนกับตะวันตกอย่างงดงาม

ด้านหน้าพระอุโบสถมีคำจารึกหินอ่อนทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของประตูพระอุโบสถ เป็นคำโคลงสี่สุภาพกล่าวถึงประวัติการบูรณะพระอารามวัดปากอ่าวเดิมจนแล้วเสร็จ แล้วพระราชทานนามวัดว่า วัดปรมัยยิกาวาส หน้าบันพระอุโบสถประดับตราพระเกี้ยว

พระมหารามัญเจดีย์ เป็นเจดีย์รามัญ ฐานกว้าง 5 วา 3 ศอก สูง 6 วา 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ

ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับจากอุปราชอินเดีย พระธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ จำลองแบบพระธาตุเจดีย์มุเตา มีงานประจำปีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุของวัดเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4

วิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารพระพุทธไสยาสน์กว้าง 4 วา 2 ศอก 5 ห้อง พื้นปูศิลา ขื่อกว้าง 2 วา 3 ศอก คีบยาว 2 วา ทั้งมุขหน้ามุขหลังแถวระเบียงล้อมพระวิหารขยายด้านละ 3 วา ขื่อกว้าง 6 ศอก ยาว 20 วา 13 ห้อง 2 แถว เป็นพระระเบียงฝรั่งด้านสกัด 7 ห้อง ยาว 12 วา พระระเบียงรอบพระวิหารมี 46 องค์ เป็นพระพุทธรูปนั่ง ภายในวิหารบรรจุพระพุทธไสยาสน์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดยาว 9.50 เมตร หันพระพักตร์ไปทางตะวันออก พระเศียรอยู่ทางทิศใต้ พระกรรณเป็นขมวดแบบพระพุทธรูปลาว พระพุทธไสยาสน์นี้สร้างโดย พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) เจ้าอาวาสองค์แรก

หน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ด้านเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาวแบบรามัญ ปางมารวิชัย ด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ซึ่งสมเด็จพระศาสนโสภณ (อ่อน) เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพฯ ได้จัดสร้างขึ้นให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรีให้ชื่อว่า นนทมุนินท์

เพดานพระพุทธไสยาสน์ เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราประจำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระเจดีย์มุเตา (องค์เดิม)
เป็นเจดีย์ทรงรามัญ ตั้งอยู่ด้านเหนือของวัดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่าสร้างโดยชาวมอญที่อพยพเข้ามารุ่นแรกในสมัยกรุงธนบุรี เป็นเจดีย์เก่าแก่ มีลักษณะเอียงแทบจะตกลงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน



ศาลารับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดปรมัยยิกาวาสเพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลสมเด็จพระเทพศิรินทรพระบรมราชชนนีและพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

การปฏิสังขรณ์เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2417 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2427 พระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ว่า วัดปรมัยยิกาวาส พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างศาลาหน้าพระอุโบสถ สำหรับเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 ทรงประทับเยี่ยมราษฎรชาวไทยและชาวรามัญที่อาศัยที่อำเภอปากเกร็ด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงประทับทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวมอญอย่างสนพระทัยอย่างยิ่ง ณ ศาลารับเสด็จนี้ จากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ดด้วย

รายละเอียดเกี่ยวกับเกาะเกร็ด

ที่ตั้ง : ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
การเดินทาง :

รถประจำทาง นั่งรถเมล์สาย 32 สนามหลวง-ปากเกร็ด ไปลงที่ปากเกร็ด แล้วนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างไปที่วัดสนามเหนือ เพื่อจะไปลงเรือหน้าวัดสนามเหนือข้ามฟากไปยังเกาะเกร็ด (ค่าเรือข้ามฟากคนละ 2 บาท)


สอบถามรายละเีอียดเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนนทบุรี โทร. 0-2580-0751, 0-2589-7615
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด โทร. 0-2583-9544


การเดินทางไปจังหวัดนนทบุรี
รถยนต์ มีถนนสายสำคัญ 11 สาย คือ 
1.
  ถนนพิบูลสงคราม ระหว่างเชิงสะพานพระรามหก - สี่แยกโรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์ 
2.
  ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 ระหว่างศาลากลางจังหวัด - สี่แยกโรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์ 
3.
  ถนนติวานนท์ ระหว่างสามแยกวัดลานนาบุญ-ท่าน้ำปทุมธานี
4.
  ถนนงามวงศ์วาน ระหว่างสี่แยกแคลาย-สี่แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5.
  ถนนนนทบุรี 1 ระหว่างศาลากลางจังหวัด-ถนนติวานนท์
6.
  ถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างสี่แยกปากเกร็ด-สี่แยกหลักสี่
7.
  ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ระหว่างสะพานพระรามหก-อำเภอไทรน้อย
8.
  ถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชัน ระหว่างแยกบางบัวทอง-ตลิ่งชัน
9.
  ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ระหว่างแยกบางบัวทอง-สุพรรณบุรี
10.
  ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ระหว่างสามแยกเตาปูน-สามแยกวัดลานนาบุญ
11.
  ถนนรัตนาธิเบศร์ ระหว่างสี่แยกแคลาย-สะพานพระราม 5 -ถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชัน 

รถโดยสารประจำทาง
จากกรุงเทพฯมีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) มาจังหวัดนนทบุรี ดังนี้

สาย 27 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ประชานิเวศน์ 3) สาย 30 (สายใต้ใหม่-นนทบุรี) 
สาย 32 (วัดโพธิ์-ปากเกร็ด) สาย 33 (สนามหลวง-ปทุมธานี) 
สาย 51 (ท่าน้ำบางโพ-ปากเกร็ด) สาย 52 (สถานีรถไฟบางซื่อ-ปากเกร็ด) 
สาย 63 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-นนทบุรี) สาย 64 (สนามหลวง-ถนนสามเสน-นนทบุรี) 
สาย 65 (ท่าเตียน-วัดปากน้ำ) สาย 66 (สายใต้ใหม่-ประชานิเวศน์) 
สาย 69 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามบินน้ำ) สาย 70 (สนามหลวง-ประชานิเวศน์) 
สาย 90 (ย่านสินค้าพหลโยธิน-ท่าน้ำบางพูน) สาย 97 (โรงพยาบาลสงฆ์-นนทบุรี) 
สาย 104 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ปากเกร็ด) สาย 114 (แยกลำลูกกา-นนทบุรี) 
สาย 117 (ห้วยขวาง-วัดเขมาฯ ) สาย 127 (เชิงสะพานกรุงธนฯ-อำเภอบางบัวทอง) 
สาย 128 (เชิงสะพานกรุงธนฯ-บางใหญ่) สาย 134 (ย่านสินค้าพหลโยธิน-อำเภอบางบัวทอง) 
สาย 203 (สนามหลวง-นนทบุรี)     

เรือ 
มีเรือด่วนเจ้าพระยาบริการระหว่างเส้นทางจากท่าน้ำวัดราชสิงขร เขตยานนาวาถึงท่าน้ำนนทบุรี (ฝั่งพระนคร) อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. เรือออกทุก 20 นาที

สอบถามที่บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด โทร. 0-2222-5330, 0-2225-3003, 0-2623-6001-3

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.hamanan.com และ www.moohin.com  
   
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
 
เมืองโบราณ
 
อุทยาน ร. 2
 
ตลาดบ้านใหม่
 
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
 
ตลาดริมน้ำโบราณบางพลี
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.