ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติหรือ overactive bladder เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าภาวะ OAB เป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยอาการปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะรุนแรงต้องรีบไปถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะราด มักจะร่วมกับการถ่ายปัสสาวะตอนกลางคืน อาการเหล่านี้เป็นอาการเกิดอย่างเรื้อรังนานนับเดือน
ปัสสาวะบ่อยแค่ไหนถึงผิดปกติ
โดยปกติวัยผู้ใหญ่จะถ่ายปัสสาวะประมาณวันละ 4-6 ครั้ง ทั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับความจุของกระเพาะปัสสาวะ ที่วัยผู้ใหญ่จะจุประมาณ 300-400 ซีซี และในสภาพการดื่มน้ำตามปกติ ดังนั้นหากกระเพาะปัสสาวะเล็ก เช่น หลังการอักเสบหรือหลังการฉายรังสี หรือกรณีที่ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก หรือปัสสาวะมากจากโรคอื่น เช่น เบาหวาน ก็อาจจะทำให้ปัสสาวะบ่อยได้ แต่การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ กรณีของ OAB การถ่ายปัสสาวะบ่อย มักเกิดจากการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะก่อนถึงเวลาที่สมควร ซึ่งในสภาวะปกติกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัว ต่อเมื่อถ่ายปัสสาวะเท่านั้น ในปัจจุบันเราถือว่า หากถ่ายปัสสาวะมากกว่าวันละ 8 ครั้งถือว่าผิดปกติ ในสภาพการดื่มน้ำตามปกติ
ปวดปัสสาวะรุนแรง
เป็นความรู้สึกปวดปัสสาวะต้องรีบไปห้องน้ำ หากไม่ไปทันทีจะมีความรำคาญแต่ไม่ได้มีปัสสาวะราดจริง สาเหตุเกิดจากมีกระแสประสาทจาก กระเพาะปัสสาวะส่งออกมาอย่างรุนแรง
ปัสสาวะราด
เป็นปัสสาวะเล็ดราดที่ตามหลังการปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง ตามปกติกระเพาะปัสสาวะ จะไม่มีการบีบตัวจนกว่าจะถ่ายปัสสาวะดังที่กล่าวข้างต้น แต่จะบีบตัวเมื่อมีการถ่ายปัสสาวะเท่านั้น ถึงแม้จะมีอาการปวดปัสสาวะเพียงใดก็ตาม หากยังไม่พร้อมจะถ่ายปัสสาวะ สมองจะยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะไว้ได้
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
หมายถึงต้องลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งหลังเข้านอนแล้ว แต่การถ่ายปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน อาจจะเกิดจากการดื่มน้ำมากก่อนนอน หรือผู้ป่วยนอนไม่หลับ หรือเกิดจากการรับประทานยาขับปัสสาวะก็ได้
อาการดังกล่าวเกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุดังกล่าวอาจจะเกิดจากโรคทางระบบประสาท สมอง ไขสันหลัง โรคประจำตัวบางอย่างเช่น เบาหวาน นอกจากนั้นอาจจะเกิดจากอายุที่มากขึ้น หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่อย่างไรก็ดี เราบางครั้งเราอาจจะตรวจหาโรค ที่เป็นสาเหตุของภาวะกระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติได้
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการซักประวัติโดยละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน การตรวจทางทวารหนัก และการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน เท่านั้น การตรวจเพิ่มเติมที่มากขึ้น เช่น เอกซเรย์ หรือการส่องกล้อง จะทำในบางรายที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น ในขั้นตอนนี้ผู้ป่วยสามารถที่จะช่วยเหลือแพทย์ในการวินิจฉัยได้มาก กล่าวคือสามารถจดบันทึกการถ่ายปัสสาวะ ซึ่งเป็นการจดบันทึกการดื่มน้ำ การถ่ายปัสสาวะจดต่อเนื่องกัน 3-5 วัน ซึ่งสามารถติดต่อขอแบบฟอร์ม และคำแนะนำได้ที่ห้องตรวจศัลยกรรมระบบปัสสาวะ
การรักษา
การรักษาขึ้นกับสาเหตุพื้นฐาน ที่เป็นสาเหตุและมุ่งรักษาเหตุนั้นๆ เช่น รักษาโรคทางระบบประสาท ให้ฮอร์โมนเสริม เป็นต้น ส่วนความผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ สามารถรักษาโดยการปรับพฤติกรรมของการถ่ายปัสสาวะ การดื่มน้ำ หากอาการมากจะต้องให้ยารักษา ในรูปยารับประทาน หรือใส่ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งพบว่าได้ผลดี แต่หากไม่ได้ผลจริงๆ สามารถเลือกการรักษาโดยการปรับสมดุลระบบประสาท หรือการผ่าตัด แต่กรณีที่ต้องผ่าตัดมีน้อยมาก
สรุป
การถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือมีปัสสาวะเล็ดราด จนรบกวนต่อชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นอาการของโรคบางอย่าง และสามารถให้การรักษาได้ไม่ยาก หากผู้ใดมีความผิดปกติ สามารถขอรับคำปรึกษาที่ห้องตรวจศัลยกรรมระบบปัสสาวะ
|