หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เป็นโรคตับจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


คำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นโรคตับมักจะถามแพทย์เสมอ นอกจากทานยาตามที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอแล้ว ความจริงคำว่าโรคตับมีความหมายค่อนข้างกว้าง อาจจะหมายถึงผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ซึ่งสภาพตับโดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากคนปกติทั่วไปเท่าไรนัก ไปจนถึงผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ซึ่งอาจจะมีอาการดีซ่าน บวม หรือท้องมานก็ได้ ซึ่งหมายถึงมีการเสื่อมสภาพของตับไปมาก สำหรับผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง คงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคตับเหล่านี้ พอจะแบ่งออกได้เป็นหัวข้อสำคัญๆ 6 อ. คือ

1. อาหาร

สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นพาหะของเชื้อไวรัสบี ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเฉียบพลัน การรับประทานน้ำหวานมาก ๆ ไม่มีรายงานว่าทำให้การดำเนินของโรคดีขึ้น กว่าการไม่ได้รับประทานน้ำหวาน อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย ไม่สามารถบริโภคอาหารได้ เนื่องจากมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในกรณีเช่นนี้การรับประทานอาหาร ที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรทพวกแป้ง และน้ำตาล เป็นหลักจะทำให้ย่อยอาหารได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง สำหรับผู้ป่วย ซึ่งเริ่มมีอาการตับแข็งแล้ว อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่มีรสเค็มจัด เนื่องจากการรับประทานอาหารเค็ม สามารถทำให้อาการบวม หรืออาการท้องมานเลวลงได้ โดยทั่วไปแล้วในผู้ป่วยที่มีอาการบวม หรือท้องมาน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่น ประมาณเศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็ง ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงขึ้นใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่เก็บค้างคืน หรืออาหารที่ประกอบขึ้นสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น การลวก การย่าง เพราะบ่อยครั้งทีเดียว ที่ผู้ป่วยโรคตับแข็งมาพบแพทย์ ด้วยอาการติดเชื้อจากทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งบางครั้งสามารถเป็นรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยตับแข็งที่ไม่มีอาการซึม หรืออาการทางสมอง สามารถรับประทานโปรตีนได้ตามปกติเหมือนกับคนปกติทั่วไป ผู้ที่มีอาการทางสมองร่วมกับภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยเหล่านี้ ควรจำกัดปริมาณโปรตีนที่ได้จากสัตว์ อย่างไรก็ตามสามารถเสริมโปรตีนได้ ในรูปของโปรตีนได้ในรูปของโปรตีนจากพืช หรือถั่ว เป็นต้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่เป็นผัก และผลไม้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการภาวะท้องผูก การรับประทานอาหารเสริมที่เป็นโปรตีนที่มีกิ่ง (Branch Chains Amino Acid) อาจทำให้ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมดังกล่าวยังมีราคาแพง และทดแทนได้ด้วยการรับประทานโปรตีนจากพืช ปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า อาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จะมีประโยชน์โดยแท้จริงกับผู้ป่วยโรคตับ นอกจากการรับประทานอาหารที่ถูกต้องร่วมกับพืช ผัก และผลไม้ที่สะอาด ในปริมาณที่พอเพียง จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย การรับประทานอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยวไม่มีผลเสียโดยตรงอย่างไรต่อตับ

2. แอลกอฮอล์

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มทุกชนิด ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจจะพบรับประทานได้บ้าง แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบ ชนิดบีแบบเรื้อรัง มีหลักฐานชัดเจนพบว่า การรับประทานแอลกอฮอล์ มีส่วนสัมพันธ์โดยตรง ทำให้การดำเนินของโรคลุกลามเร็วขึ้น ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะไม่มีผลโดยตรงกับโรคตับ แต่การสูบบุหรี่มีผลเสียต่อร่างกาย รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ในการเกิดมะเร็งในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย นอกจากปอด ดังนั้น เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงควรจะงด และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วย

3. อัลฟาท๊อกซิน (Aflatoxin)

สารอัลฟาท๊อกซินเป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา Aspergillus ซึ่งเป็นเชื้อราตระกูลเดียวกับ ที่พบตามขนมปังที่เก็บไว้นานๆ นั่นเอง เชื้อรา Aspergillus บางตระกูลสามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า อัลฟาท๊อกซินขึ้น ซึ่งสารพิษนี้สามารถชักนำให้เกิดมะเร็งตับได้ เชื้อราชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในอาหารบางอย่าง ซึ่งเก็บอย่างไม่ถูกวิธี และมีความชื้น เช่น ถั่ว พรกป่น ข้าวโพด ข้าวสารเป็นต้น การศึกษาจากประเทศจีนตอนใต้พบว่า อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งตับ ในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบแบบบีเรื้อรัง ในหมู่บ้านที่มีสารอัลฟาท๊อกซิน ปนเปื้อนในอาหารสูงกว่า กลุ่มประชากรที่เป็นตับอักเสบบีแบบเรื้อรังที่บริโภคอาหาร ที่ไม่ได้ปนเปื้อน ด้วยสารอัลฟาท๊อกซินอย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารดังที่กล่าวมาแล้ว

4. อารมณ์ และการพักผ่อน

บ่อยครั้งทีเดียวทีแพทย์พบผู้ป่วย ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง หรือเป็นโรคตับแข็ง ที่มีอาการทั่วไปสบายดีมาตลอด แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือตรากตรำงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง มีส่วนชักนำให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน หรือบางครั้งรุนแรง จนเกิดภาวะตับวายเกิดขึ้นได้ นอกจากการพักผ่อนที่เพียงพอแล้ว การมีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส ก็มีความสำคัญ ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย

5. ออกกำลัง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง และมีอาการที่บ่งว่า มีสภาพการทำงานของตับเหลืออยู่น้อย เช่น ดีซ่าน ท้องมาน ผู้ป่วยเหล่านี้ควรงดออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการเดิน หรือนั่งนานๆ ผู้ป่วยที่มีประวัติเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ไม่ควรออกกำลังที่จะต้องเบ่ง หรือเกร็งกล้ามเนื้อท้อง เข่น การยกน้ำหนัก เนื่องจากจะกระตุ้นให้ความดันเส้นเลือดขอด ในหลอดอาหารแตกได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นตับแข็งในระยะเริ่มต้น ที่ไม่มีอาการผิดปกติ สามารถออกกำลังได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม เช่น การวิ่งมาราธอน หรือกีฬาที่ต้องแข่งขัน การออกกำลัง เข่น การเดิน วิ่งเบาๆ ดูจะเป็นการออกกำลังที่เหมาะสม

6. อัลฟาฟีโตโปรตีน

(Alpha feto-protein) เป็นสารซึ่งสร้างขึ้นโดยเซลล์ตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ เราพบสาร Alpa feto-protein สูงขึ้นในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยซึ่งเป็นมะเร็งตับ อาจมีการเพิ่มขึ้นของ Alpha feto-protein ซึ่งใช้เป็นเครื่องแจ้งเตือนมะเร็งของตับได้ ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ตลอดจนผู้ที่เป็นตับแข็ง ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถือว่าเป็นประชากรที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ในการเกิดมะเร็งของตับได้ทั้งสิ้น การตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น สามารถให้การรักษาที่เหมาะสม และมีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคตับ ควรมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตามแพย์นัด และตรวจ Alpha feto-protien ตามที่แพทย์เห็นสมควร

การรับประทานยาในผู้ป่วยโรคตับเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง

เนื่องจากยาหลายชนิดต้องถูกกำจัด โดยผ่านตับการที่ตับมีการทำงานบกพร่อง เนื่องจากโรคต่างๆ เช่น ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง อาจทำให้มีการสะสมของยาจนเกิดโทษได้ ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่า ท่านมีปัญหาโรคตับ เพื่อแพทย์จะได้เลือก ยาที่ปลอดภัยให้ หรือถ้าสงสัยอาจปรึกษาแพทย์ เฉพาะทางดูก่อน ผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง ไม่ควรรับประทานยาลดไข้พวก paracetamol เกินกว่าวันละ 1500 mg หรือทานติดต่อกันนานเกิน 3 วัน อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่เป็นตับอักเสบเล็กน้อย หรือพาหะของตับอักเสบบี สามารถทาน paracetamol ได้ในขนาดปกติ สำหรับยาแก้ปวดนั้น ผู้ที่เป็นตับแข็งควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวด พวกที่เป็นแอสไพรินทั้งหลาย เนื่องจากยากลุ่มนี้ มีผลทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลง จนอาจทำให้มีการเสื่อมหน้าที่ของไต หรือไตวายได้ ควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่นแทน

ถึงแม้ว่าจะมีพืช อาหาร และสมุนไพรหลายอย่าง ที่อ้างว่ามีสรรพคุณป้องกันการเกิด และรักษาโรคตับได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเพียงพอ ที่จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาน นอกจากนั้น สมุนไพรบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้ เช่น บอระเพ็ด ใบขี้เหล็ก จึงควรระมัดระวัง

 
       
    แหล่งข้อมูล : ชมรมโรคตับแห่งประเทศไทย  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคตับอักเสบ จาก ไวรัสเอ
 
ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
 
โรคขาขาดเลือด
 
โรคกระเพาะอาหาร
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.