ผู้สูงอายุที่ยังมีฟันจริงเหลืออยู่ทั้งหมด หรือมีฟันจริงบางส่วน และใส่ฟันปลอมบางส่วน ควรดูแลฟันจริงที่มีอยู่นั้น ให้ดีและแข็งแรงอยู่ตลอดไป โดยดูแลอย่าให้เกิดรูผุขึ้นใหม่ ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ขนแปรงควรใช้อย่างอ่อน และแปรงฟันให้ถูกหลักวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการสึกของผิวฟัน ขณะที่เคี้ยวอาหาร ต้องระวับเศษอาหารแข็ง ที่อาจจะทำให้เกิดฟันบิ่นแตก
นอกจากนี้ ก็ดูแลเรื่องเหงือก อย่าให้เกิดอักเสบ ด้วยการแปรงฟันให้สะอาด ขัดคราบจับผิวฟัน และไปพบทันตแพทย์ เพื่อขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะๆ ฟันที่ดี ไม่มีรอยผุ รอยบิ่น แตก เหงือกแข็งแรง ไม่มีโรคเหงือกอักเสบ หรือเหงือกบวม เพราะโรครำมะนาด ฟันก็จะมีความแข็งแรงอยู่ได้ตลอดไป สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้เหมือนเดิม หรือสามารถใช้เป็นตัวเกาะฟันปลอม ชนิดถอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุขภาพในช่องปากก็จะดีอยู่ตลอดไป
ส่วนผู้ที่ไม่มีฟันจริงเหลืออยู่แล้ว ต้องใช้ฟันปลอมทั้งปาก ก็ต้องดูแลสภาพเหงือก และส่วนอื่นๆ ในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ อย่าให้เกิดมีแผลเจ็บหรืออักเสบ ถ้ามีแผลต้องพยายามรักษาให้หาย ฟันปลอมที่ใช้ ต้องหมั่นดูแลให้สะอาด อย่าปล่อยให้มีเศษอาหารจับเป็นคราบ เพราะทำให้แลดูสกปรก และเกิดกลิ่นเหม็น ฟันปลอมที่ใช้มานาน ควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้มีความแนบกระซับอยู่เสมอ ขณะเคี้ยวอาหาร ต้องไม่กดจุดใดจุดหนึ่งให้เจ็บ ถ้าเจ็บต้องไปหาทันตแพทย์เพื่อแก้ไข
ผู้สูงอายุมักจะแยกได้ 2 ประเภท คือ ผู้สูงอายุที่แข็งแรงไม่มีโรคภัยประจำตัว สภาพในช่องปากเหงือก และฟันก็จะแข็งแรงไปด้วย อีกประการหนึ่ง ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคไขข้ออักเสบ ปัญหาเหล่านี้ จะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมลง สภาวะในช่องปาก ก็จะเลวลงไปด้วย เช่น มีโรคเหงือกอักเสบมาก มีหนองไหลซึม ฟันโยก เคี้ยวอาหารได้ไม่ดี ความสกปรกในช่องปาก จะเป็นจุดแพร่เชื้อโรค ไปสู่ร่างกายส่วนต่างๆ จึงมีความจำเป็น ที่จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อที่สุขภาพในช่องปาก จะได้แข็งแรงตามไปด้วย
ทพ.สมนึก วัฒนสุนทร
งานทันตกรรม รพ.ศิริราช
|