หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ปัญหาหัวใจ ในผู้สูงอายุ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


วันหนึ่งผมเข้าไปในห้อง ICU เห็นผู้ป่วยรายหนึ่ง เป็นผู้หญิงวัยกลางคน ผมรู้สึกแปลกใจ จนต้องหยิบแฟ้มมาดูว่า เธอมาทำอะไรที่นี่ ทำไมผมถึงแปลกใจ ก็เพราะผู้ป่วย ICU รพ.นี้ ล้วนแต่อายุมากกว่า 70 ปี เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งนับรวมๆ กันทั้งห้องก็เกือบ 1000 ปีเลยละครับ เมื่อการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ผู้คนอายุยืนขึ้น ก็จะพบผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาโรคหัวใจ และหลอดเลือดในผู้สูงอายุ ย่อมมีมากขึ้นด้วย

โรคหลอดเลือดแดงเสื่อมและแข็งตัว

หากคุณมีโอกาสลองคลำหลอดเลือดแดง หรือชีพจรที่ข้อศอก (ด้านใน) หรือข้อมือของผู้สูงอายุดูซิครับ จะพบว่าเป็นเส้นแข็ง ไม่ยืดหยุ่น เหมือนวัยหนุ่มสาว ทั้งนี้เนื่องจากว่าหลอดเลือดแดงเหล่านี้ เกิดการเสื่อมสภาพตามอายุ มีไขมันและหินปูน (แคลเซียม) เข้าไปสะสม อยู่ตามผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นและแข็ง ยิ่งมีหินปูนสะสมมาก ก็จะแข็งมาก (หินปูนนี้ไม่เกี่ยวข้อง กับปริมาณแคลเซียมในเลือด หรืออาหารที่เรารับประทาน) ความจริงแล้ว มีหลายปัจจัย ที่ทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการเสื่อม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน บุหรี่ เป็นต้น แต่ “อายุ” ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก และเราไม่อาจเลี่ยงได้ หลอดเลือดแดงที่เสื่อมนี้ จะเกิดทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดที่เลี้ยงสมอง หัวใจ ไต ฯลฯ และแน่นอนเมื่อเกิดการเสื่อม ก็จะเกิดการตีบตัน ของหลอดเลือดเล็กๆ ตามมา เป็นผลให้เลือดเลี้ยงสมองลดลง เกิดเนื้อสมองตายเป็นบางส่วน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไตเสื่อม ล้วนแต่เป็นผลตามมา เนื่องจากหลอดเลือดแดงเสื่อมทั้งสิ้น แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร เป็นที่น่าเสียดาย ที่เรายังไม่สามารถหยุดอายุ หยุดความเสื่อมของร่างกายลงได้ ดังนั้นสิ่งนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ควรจะต้องระวังรักษาตัวให้ดี เพราะความเสื่อมนี้จะมา เยือนเร็วกว่าที่ควร

ความดันโลหิตสูง

กล่าวกันว่า ความดันโลหิตสูงเป็นของคู่กันกับผู้สูงอายุ การที่ความดันโลหิตสูงพบบ่อยขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก หลอดเลือดแดงแข็งตัว ผิดปกติ บางส่วนเป็นผลจากการที่ไตขาดเลือดไปเลี้ยง แต่ก่อนเราเชื่อว่า ความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ เป็นของปกติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สูงเฉพาะตัวบนหรือ systolic) ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่วันนี้ความรู้นี้เปลี่ยนไปแล้ว ความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ เช่นเดียวกันกับความดัน โลหิตสูงทั่วไป และพบว่า การลดความดันโลหิตที่สูงลง ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต (stroke) และลดปัญหาจากโรคหัวใจขาดเลือดด้วย ความดันโลหิตในผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ควรจะน้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท การรักษาความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากหากลดความดันโลหิตลงมากเกินไป หรือ ลดลงเร็วเกินไป เลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และมีผลให้สมองขาดเลือด เกิดอัมพาตขึ้นได้เช่นกัน แล้วจะลดความดันโลหิตลงมาเท่าไรถึงจะดี ? สำหรับผู้สูงอายุแล้ว เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะไม่มีคำตอบแน่นอน ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย บางรายสามารถลดลงมาใกล้ 140/90 มม.ปรอท ได้ โดยไม่มีปัญหาแทรกซ้อนจากการรักษา แต่บางราย แม้จะอายุเท่ากัน กลับลดลงไม่ได้เลย เพราะทุกครั้งที่ลดความดันโลหิตลง ก็จะเกิดอาการของสมองขาดเลือด คือ เวียนศีรษะ หน้ามืด เดินเซ เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีความดันโลหิตสูง ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ควรได้รับการวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ และ ควรวัดความดันโลหิต ในขณะที่ผู้ป่วยนั่ง และยืนด้วย

ปัญหาลิ้นหัวใจ

ดังได้กล่าวแล้วว่า อวัยวะที่ใช้งานนานๆ ย่อมเกิดการเสื่อม ลิ้นหัวใจก็เช่นกัน ทำหน้าที่ปิด เปิด สะบัดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เคยพัก ย่อมเกิดการเสื่อมตามมา นั่นคือเริ่มมีหินปูน (แคลเซียม) สะสมที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจที่เคยสะบัดพริ้ว ปิดแน่น เริ่มแข็งขึ้น สะบัดไม่ดี ปิดไม่สนิท เกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมา ในบางรายมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจอย่างมาก จนลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ ก็เกิดปัญหาลิ้นหัวใจตีบขึ้น ซึ่งหากเป็นมาก ก็จะชักนำให้หัวใจ ทำงานหนักขึ้น จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ สำหรับเรื่องของลิ้นหัวใจนี้ หากเป็นไม่มาก ไม่ว่าจะตีบหรือรั่วก็ตาม ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่มี การรักษาเฉพาะ มีแต่รักษาตามอาการ (ซึ่งถ้า เป็นน้อยจริง ก็ไม่น่าจะมีอาการ) แต่หากเป็นมาก การรักษาคือ ต้องแก้ที่ลิ้นหัวใจ เช่น อาจรักษาด้วยบอลลูน ถ่างลิ้นหัวใจ หรือ การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวสำหรับผู้สูงอายุ

โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน เป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ หากรุนแรง ก็ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบางส่วนได้ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเสื่อม เกิดจากหลายปัจจัย รวมทั้งเรื่องของอายุด้วย ผู้สูงอายุบางราย อาจไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือด (คือ อาการแน่นหน้าอก) มาก่อนเลยก็ได้ หรือมีอาการน้อยจนไม่สังเกต (เพราะไม่ค่อยได้ออกแรง) การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด ที่ยังไม่มีอาการ จึงค่อนข้างลำบากในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามารบกวน ทำให้การตรวจพิเศษต่างๆ ไม่สามารถทำได้เต็มที่ การตรวจที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การฉีดสี ดูหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แต่ก็ไม่ได้จำเป็น ในผู้ป่วยสูงอายุทุกราย เพราะบางครั้งผลการตรวจ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา ไม่ได้ช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น แนวทางการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดในผู้สูงอายุ ก็เช่นเดียวกันกับการรักษาในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า คือ รักษาด้วยยา ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การขยายหลอด เลือดด้วยบอลลูน และหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ต้องผ่าตัดบายพาส ซึ่งเรื่องของอายุ ไม่ได้เป็นข้อห้าม ในการผ่าตัด เพียงแต่โอกาสเสี่ยงจากการผ่าตัดสูงขึ้น สำหรับผู้ป่วยสูงอายุบางราย การไม่ผ่าตัดนั้น มีความเสี่ยงมากกว่าการผ่าตัด เสียอีก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การพูดคุยกับแพทย์ที่รักษา อย่าลืมว่าแพทย์ทำหน้าที่ ให้คำแนะนำ ให้ความเห็นถึงแนวทางการรักษาที่ เขาคิดว่าดีที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยและญาติต่างหาก ที่เป็นผู้ตัดสินใจ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้สูงอายุบางรายพบว่า หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะขึ้น โดยที่บางครั้งก็ไม่มีสาเหตุ หรือปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้อง นอกจากเรื่องของอายุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่พบบ่อยคือจากห้องบน หรือที่เรียกว่า atrial fibrillation (AF) ชนิดนี้พบได้ในผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด ความดันโลหิตสูง และพบบ่อยในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดปกติชนิดนี้ อาจเกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ขึ้นภายในหัวใจ ลิ่มเลือดเล็กๆ เหล่านี้ อาจหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงสมองได้ เป็นต้นเหตุของการเกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต ขึ้น การรักษาอาจแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ รักษาโดยเปลี่ยนให้หัวใจกลับมาเต้น อย่างปกติ (ด้วยยา ไฟฟ้า หรือ คลื่นวิทยุ) หรือ รักษาด้วยยา เพียงคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไปเท่านั้น บางรายจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้ การรักษาในแต่ละรายจะ ขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วย และแพทย์ผู้รักษาด้วย

ปัญหาหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องของความเสื่อม ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็จริง แต่ปัจจุบัน เราก็มีการรักษาต่างๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการ และลดปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เนื่องจากความเสื่อมนั้นๆ ลงได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาในผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ล้วนแต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษทั้งสิ้น ต้องระวังผลแทรกซ้อน ที่อาจเกิดจากการรักษาด้วย


นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา
อายุรแพทย์โรคหัวใจ

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.thaiheartweb.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคที่พบในผู้สูงอายุ
 
วัยทอง...วัยงามแห่งชีวิต
 
อัมพาตในผู้สูงอายุ
 
โรคหลอดเลือดสมอง
 
ตรวจร่างกาย ผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.