หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การดูแลสมองของผู้สูงอายุ ให้ยั่งยืนยาวนาน (1)
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


คนทั่วๆ ไป มักจะเข้าใจกันว่า เมื่ออายุมากแล้ว สมองจะเสื่อมลง ความจำไม่ดี หมดความคิดความอ่าน ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ดี ช่วยตัวเองไม่ได้และอื่นๆ อีกมาก แต่โดยแท้จริงแล้ว ผู้สูงอายุสามารถจะรักษาให้สมอง ทำหน้าที่เป็นปกติได้อีกนาน ถ้าท่านเข้าใจวิธีการที่จะดูแลให้ถูกต้อง ตามหลักทางการแพทย์ นั่นคือ การดูแลสุขภาพของร่างกายและจิตใจ นั่นเอง

สมองกับสุขภาพทั่วไปของร่างกาย

สุขภาพของร่างกาย จะมีผลต่อสมองอย่างมาก โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ จึงควรดูแลสุขภาพของท่าน ดังนี้

 
1.
อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ผู้สูงอายุมักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่ม เพราะเคยชินต่อการรับประทานอาหาร ด้วยปริมาณที่เคยได้รับ วัยสูงอายุเป็นวัยที่มีการเผาผลาญในร่างกายน้อย ดังนั้น อาหารที่เพิ่มขึ้น จึงไปพอกพูนเป็นไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนี้ จะมีผลกระทบโดยทางอ้อมอย่างน้อย 3 ประการ คือ
   
 
•
ทำให้เลือดสูบฉีดไปสมองน้อยลง เพราะหัวใจจะต้องทำงานหนัก มากกว่าปกติ เพื่อไปสูบฉีดเลือดที่เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เพิ่มขึ้น หัวใจที่ทำงานมาหนักตลอดชีวิต จะอ่อนกำลังลง มีลักษณะเหมือนเฆี่ยนม้าที่เหนื่อย
 
•
ผู้สูงอายุที่น้ำหนักตัวเพิ่ม มักจะเป็นเบาหวานด้วย เนื่องจากอินซูลินที่ร่างกายผลิตออกมาไม่พอ ต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เบาหวานเป็นภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง และทำให้เลือดเหนียวข้นคล้ายน้ำเชื่อม ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปสมอง ด้วยความยากลำบาก
 
•
หลอดเลือดคนอ้วน มักจะมีไขมันไปทำให้ผนังหลอดเลือดขรุขระ ทำให้เลือดผ่านไปสมองไม่สะดวก
    ด้วยเหตุดังที่กล่าวไว้ ผู้สูงอายุควรจะต้องกำหนดอาหาร ที่บริโภคแต่ละครั้งให้น้อยลง และอย่าตามใจปาก รับประทานอาหารตามชอบ ควรเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังให้สม่ำเสมอที่เหมาะสมกับวัย
 
2.
รักษาความดันโลหิตไว้ให้อยู่ระดับปกติ ถ้าความดันโลหิตสูงเกินไป จะมีโอกาสทำให้หลอดเลือดในสมองแตกได้ ในขณะเดียวกัน ความดันโลหิตที่ต่ำเกินไป ก็ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ อย่าปล่อยปละละเลย หรืออย่ารักษาตัวเอง โดยซื้อยาลดความดันมารับประทานเอง จะมีอันตรายได้
 
3.
ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมและเป็นเวลาพอสมควร ที่นิยมกันมากคือการเดินเร็วๆ วันละครึ่งชั่วโมง ถ้าท่านทำสม่ำเสมอทุกวันให้ตรงเวลา จะทำให้เคยชิน อยากจะเดินเมื่อถึงเวลานั้น ไม่เกิดการเบื่อหน่าย การเดินออกกำลัง จะช่วยรักษาให้น้ำหนักคงที่ และทำให้นอนหลับในกลางคืนได้ดี
 
4.
งดดื่มสุราและสูบบุหรี่รวมทั้งยาเสพติดทั้งหลาย เซลล์ของสมองละเอียดอ่อน ต้องการน้ำตาลและออกซิเจน เพื่อทำให้เกิดพลังงาน สุรา บุหรี่และยาเสพติด จะทำให้ขบวนการเกิดพลังงานเสื่อมถอย มีผลต่อสมองอย่างมาก ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้เซลล์ของสมองมีอายุยาวนาน ผู้ที่เสพสุรา ความคิดสร้างสรรค์ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
 
5.
ระวังในเรื่องการใช้ยาบำรุงทั้งหลาย เพราะยาทุกชนิดเหมือนดาบสองคม ในขณะนี้ตามท้องตลาด มียาบำรุงมากมาย และบางอย่างก็มีคนเชื่อว่าเป็นยากระตุ้นพลังทางเพศ โปรดระวังยาเหล่านี้เป็นพิเศษ ถ้าหากสงสัยให้ปรึกษาแพทย์ของท่าน ยาอย่างหนึ่งที่กำลังแพร่หลายในต่างประเทศ และมีผู้นำเข้ามาในเมืองไทยบ้างขณะนี้ คือเมลาโทนิน (melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สกัดจากพืช ยานี้บางประเทศยังไม่ยอมให้ใช้พร่ำเพรื่อ เพราะถ้าได้รับฮอร์โมนนี้นานๆ อาจมีผลทำให้ต่อมไร้ท่อบางอย่างในร่างกายฝ่อลงได้
 
6.
ได้รับวิตามินที่พอสมควร เซลล์สมองไม่สามารถจะเกิดพลังงานได้ ถ้าขาดวิตามินบีหนึ่ง หากได้รับวิตามินเหมาะสม ก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในทางตรงกันข้ามวิตามินบางอย่าง ถ้าได้รับมากเกินไป อาจจะเกิดโทษได้ วิตามินบางอย่าง จะทำให้สารทริปโทแฟน (tryptophan) ถูกแย่งเข้าไปในตับ ไม่เข้าไปในสมอง และอาจจะทำให้เกิดการนอนไม่หลับ หรือมีอาการสั่นคล้ายโรคพากินสันได้
 
7.
ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ มีโรคหลายอย่าง ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสมองได้ เช่น โรคซิฟิลิส โรคมาเลเรีย โรคโลหิตจางและอื่นๆ อีกมาก อย่าละเลยนิ่งนอนใจ ผู้สูงอายุควรจะได้รับการตรวจร่างกาย จากแพทย์ทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย

ถ้าท่านสามารถดูแลสุขภาพของร่างกาย ได้ครบทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ย่อมส่งผลให้สมองของท่าน ยังคงมีประสิทธิภาพ ในการทำงานต่อไปได้อีกยาวนาน

 

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช
ศัลยกรรมประสาท

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 9 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
สมองเสื่อม. . . คืออะไร ?
 
อาการแรกเริ่มของสมองเสื่อม
 
ภาวะสมองเสื่อม
 
ชะลออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ
 
ทำอย่างไร ... ห่างไกล สมองเสื่อม
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.