หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
สมองเสื่อม...ความชราที่ชะลอได้
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคสมองเสื่อม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น สมองเสื่อมจากโรคไทรอยด์ โรคเนื้องอกในสมอง โรคขาดสารอาหารบางชนิด ซึ่งเมื่อแก้ที่สาเหตุโรคสมองเสื่อมจากสาเหตุเหล่านี้ก็จะดีขึ้น แต่สาเหตุสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด คือจากอัลไซเมอร์ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ และไม่ทราบการเกิดแน่ชัด พบแต่เพียงว่าในคนที่เป็นอัลไซเมอร์ จะมีสารโปรตีนชนิดหนึ่ง ชื่อว่า เบต้าอะไมลอยด์ เข้าไปฝังตัวอยู่ในสมอง และทำลายเซลล์ประสาท เมื่อเซลล์ประสาทเหลือน้อยลง ก็จะเกิดอาการอัลไซเมอร์

อาการของอัลไซเมอร์ คือ มีความบกพร่องด้านความจำ ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของสมองด้านอื่นๆ ต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ความคิดการคำนวณ ความเข้าใจในเรื่องของเหตุผล การตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ หรือความสามารถทางด้านภาษา ตัวอย่างอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็เช่น ย้ำคิดย้ำทำถามซ้ำซาก เนื่องจากจำไม่ได้ว่าทำหรือถามไปแล้ว ทำสิ่งง่ายๆ ที่เคยทำไม่ได้ เช่น ใช้กรรไกรตัดเล็บไม่ได้ เปิดกระป๋องไม่เป็น ติดกระดุมเสื้อไม่ได้ มีอาการซึมเศร้า หงุดหงิดก้าวร้าว

อาการของโรคจะคล้ายกับอาการหลงลืมตามปกติในผู้สูงอายุ และโรคทางจิตเวช ให้สังเกตว่า หากเป็นอาการหลงลืมตามปกติของผู้สูงอายุ จะไม่มีอาการผิดปกติของสมองด้านอื่นร่วมด้วย อัลไซเมอร์จะมีอาการความจำเสื่อม บุคลิกภาพถดถอย ความสามารถด้านอื่นๆ เสื่อมลงก่อน แล้วจึงค่อยมีอาการทางจิต แต่ถ้าเป็นโรคทางจิตเวช จะมีอาการของประสาทหลอน หูแว่ว มาก่อน

อาการความจำเสื่อมนี้ หากมีอาการมากจนเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทางระบบประสาท เพื่อตรวจวินิจฉัย

อัลไซเมอร์ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเป็นกับคนอายุ 55-60 ปีขึ้นไป และยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสเป็นโรคก็ยิ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนเดิมของแต่ละคน หากเป็นคนที่ต้องใช้ความคิดการตัดสินใจอยู่เสมอ เมื่อสมองเสื่อมถอยไปบ้าง ก็ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันอยู่ในสังคมได้ หรือคนที่เกษียณแล้ว ถ้าใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ สมองจะถดถอยลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ายังทำงานอุทิศตนให้สังคม ศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อ คิดวิเคราะห์ให้ความเห็น แม้จะมีสมองบางส่วนที่เสียไปตลอดเวลาตามอายุขัย แต่ส่วนที่ฝึกไว้ก็จะดีขึ้น

การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ แม้จะให้ยาช่วยในด้านความจำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้กลับมาดีเหมือนเดิม เพียงแต่ช่วยให้พอดำรงชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง ส่วนยาบำรุงสมองราคาแพงที่โฆษณาขายกันอยู่นั้น มักจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้กระฉับกระเฉงอยู่ชั่วคราว แต่ก็เป็นการดึงพลังสำรองมาใช้ ทำให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง จนต้องใช้เวลาพักนานขึ้น จึงไม่แนะนำ

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

 
1.
ให้ความเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย
 
2.
หากผู้ป่วยย้ำถามซ้ำซาก และเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น เวลานัดหมาย อาจเตือนความจำ โดยเขียนไว้บนกระดานให้ผู้ป่วยอ่าน
 
3.
ผู้ป่วยอาจจะทำกิจวัตรประจำวันได้ช้า เพราะจำวิธีทำไม่ได้ ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ และแนะนำให้ทีละขั้นตอน จากนั้นให้ผู้ป่วยค่อยๆ ทำเองให้มากที่สุด แทนที่จะรีบทำให้ เพื่อให้เขายังมีโอกาสได้ฝึกทำ จะได้ไม่ลืมไปหมด
 
4.
พาเข้าสังคมบ้าง เพื่อฝึกให้ทักษะในการเข้าสังคมให้ยังคงอยู่บ้าง
 
5.
หากในกรณีที่ผู้ป่วยชอบออกนอกบ้าน แล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้ ให้ผู้ป่วยพกนามบัตร เบอร์โทร.ติดต่อ แต่ทางที่ดีควรมีผู้ดูแลไปด้วย
 
6.
จัดบริเวณบ้านให้ปลอดภัย

วิธีป้องกันและชะลอการเสื่อมของสมอง

 
1.
ฝึกสมองให้ได้คิดวิเคราะห์อยู่ตลอด และในวัยกลางคน ควรเริ่มบริหารสมองด้วยการทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ อาจเริ่มฝึกจากงานอดิเรกที่ตนเองชอบ เพื่อให้เกิดความสนุกและเพลิดเพลิน
 
2.
หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำลายสมอง เช่น เหล้า บุหรี่ มลพิษ
 
3.
กินอาหารชะลอด้านความเสื่อมของสมอง และส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทให้ดีขึ้น ตามแนวเวชศาสตร์วัยชรา (Gerontology)

อาหารที่ช่วยบำรุงสมองมีดังนี้

 
•
อาหารที่มีวิตามิน B1 ได้แก่ ข้าวทุกชนิดที่ไม่ขัดขาว ถั่วลิสง ผักทุกชนิด ยีสต์ และปลา
 
•
อาหารที่มีวิตามิน B2 ได้แก่ ยีสต์ เนยแข็ง ผักใบเขียว ปลา
 
•
อาหารที่มีวิตามิน B6 ได้แก่ ยีสต์ รำข้าว จมูกข้าว แคนตาลูป กะหล่ำปลี
 
•
อาหารที่มีวิตามิน B12 ได้แก่ ปลา
 
•
อาหาร ที่มีไอโนซิทอลและคอลิน ได้แก่ ผักใบเขียว ยีสต์ จมูกข้าว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง แคนตาลูป ส้มโอ องุ่นแห้ง ถั่วลิสง และกะหล่ำปลี
 
•
อาหารที่มีเลซิทิน ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด
 
•
อาหารที่มีโพแทสเซียม ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว แคนตาลูป มะเขือเทศ ฟักน้ำ ผักใบเขียว สะระแหน่ เมล็ดทานตะวัน กล้วย และมันฝรั่ง
 
•
อาหารที่มีกำมะถัน ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ปลา กะหล่ำปลี
 
•
อาหารที่มีสังกะสี ได้แก่ จมูกข้าว เมล็ดฟักทอง ยีสต์ มัสตาร์ดผง

ซึ่งถ้ากินอาหารตามสูตรของชีวจิต (แป้งไม่ขัดขาวปริมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ผัก 25 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 15 เปอร์เซ็นต์ และเบ็ดเตล็ด 10 เปอร์เซ็นต์) วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ก็น่าจะเพียงพอ ....สมองเสื่อมรักษาไม่ได้ แต่ชะลอและป้องกันได้ค่ะ

 

 

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 128

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
สมองเสื่อม. . . คืออะไร ?
 
อาการแรกเริ่มของสมองเสื่อม
 
ภาวะสมองเสื่อม
 
ชะลออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ
 
วิธีป้องกันสมองเสื่อม
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.