หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
หวานได้ ไม่ทำร้ายสุขภาพ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


จากการวิจัยและศึกษาเรื่องพฤติกรรม การรับประทานอาหารและน้ำของคนไทยล่าสุด จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่าคนไทยติดรับประทานหวานมากขึ้น เฉลี่ยรับประทานน้ำตาลกว่า 29 กิโลกรัม/ ปี หรือ 18 ช้อนชา/วัน ทำให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง มากขึ้นกว่า 30%! ทำให้น่าสังเกตว่า วันหนึ่งเราเติมน้ำตาลลงเครื่องดื่มหรืออาหารกี่ช้อนชา? ปกติคนทั่วไปควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 4-8 ช้อนชา ยิ่งถ้าเป็นเด็กวัยเรียน ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุไม่ควรเกินวันละ 3 ช้อนชา แต่จะให้งดก็คงทำยากอยู่... เมื่อเป็นแบบนี้สารพัดน้ำตาลที่รับประทานทุกวัน มีชนิดใดบ้างที่เลือกทานแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายชนิดที่เรียกว่า “เติมหวานได้แต่ไม่ทำร้ายสุขภาพ” เราลองมาทำความรู้จักคุณค่าน้ำตาลและความหวานกัน

น้ำตาลทราย

แม้น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดงให้รสชาติหวานเหมือนกัน คือ 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี หรือเทียบง่ายๆ 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 19 กิโลแคลอรี แต่ให้คุณค่าทางอาหารต่างกัน

 
•
น้ำตาลทรายขาว ได้มาจากอ้อยแล้วผ่านกรรมวิธีการผลิต ตกผลึกให้เป็นเกล็ดและผ่านการฟอกสี ดังนั้นวิตามินแทบจะไม่หลงเหลืออยู่เลย
 
•
น้ำตาลทรายแดง ยังรักษาคุณค่าทางวิตามินได้ดีกว่าน้ำตาลทรายขาว เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก

แต่ดัชนีน้ำตาลของน้ำตาลทรายและน้ำตาลทรายแดงอยู่ที่ 73-75 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง ไม่เหมาะสำหรับคนที่ควบคุมน้ำหนักหรือเป็นโรคเบาหวาน

ถ้าเทียบพลังงานระหว่างน้ำตาลทรายและน้ำอ้อยในปริมาณที่เท่ากัน น้ำอ้อยมีฟอสฟอรัสและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทรายถึง 5 เท่า เพราะน้ำอ้อยมีส่วนผสมของน้ำอยู่มาก แต่มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่าน้ำตาลทราย

น้ำตาลปี๊ปหรือน้ำตาลปึก

น้ำตาลปี๊บได้มาจากการเคี่ยวน้ำของยอดทลายอ่อนของมะพร้าวจนกระทั่งเหนียว ข้นและหวาน เป็นเครื่องปรุงติดบ้านคู่ใจแม่บ้านชาวไทยทุกครัวเรือน เพราะนอกจากความหวานแล้ว ยังได้ความหอมอร่อยอีกด้วย น้ำตาลปี๊ป 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 18 กิโลแคลอรี ยังมีคุณค่าและวิตามินบ้าง เช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก

นมข้นหวาน

เป็นสารให้ความหวานที่ผลิตมาจากหางนม นำมาเติมน้ำตาลในปริมาณเข้มข้น และดึงไอระเหยจนข้นเหนียว นมข้นหวาน 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ถ้าเทียบในคุณค่าทางโภชนาการ นมข้นหวานให้พลังงานสูงมาก แต่ยังพอมีโปรตีน ไขมัน ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี และวิตามินเอ มากกว่าน้ำตาลชนิดอื่น แต่ก็ไม่เป็นอาหารหลักอยู่ดี ไม่มีคุณค่าทางอาหารเหมือน “นม” ปกติทั่วไป ไม่ควรให้เด็กรับประทานมากๆ เพราะจะทำให้อ้วนและมีผลต่อสุขภาพฟัน

น้ำตาลเทียม

เป็นสารให้ความหวานที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นสารให้ความหวานที่เป็นทางเลือก ของคนที่ควบคุมน้ำหนักหรือเป็นเบาหวาน น้ำตาลเทียมที่ขายทั่วไปคือ แซคคาริน แอสปาเทม ซูคาโลส ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติตั้งแต่ 200-600 เท่า แต่ให้พลังงานต่ำ การใช้น้ำตาลเทียมในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มที่บอกว่า “ให้แคลอรี 0” หรือ “ไม่มี น้ำตาล” แต่ยังคงรสหวานได้เหมือนปกติ แต่ก่อนเลือกให้ดูที่ฉลากสักนิด เพราะอาจให้พลังงานหลากหลายตั้งแต่ 0 แคลอรีจนถึง15 แคลอรี/ซอง และสำหรับการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม น้ำตาลเทียมบางชนิดสามารถปรุงอาหารขณะร้อนได้ แต่บางชนิดก็ไม่ได้ ต้องยกลงจากเตาก่อน หรือผสมลงในเครื่องดื่มที่ไม่ร้อนจัด มิฉะนั้นความหวานจะหายไป

น้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 15 กิโลแคลอรี น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานต่างจากชนิดอื่นๆ ตรงที่อุดมไปด้วยโปรตีน พลังงาน วิตามินและเกลือแร่ ดัชนีน้ำตาลของน้ำผึ้งอยู่ที่ 55 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ดีต่อสุขภาพมากกว่า น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง จึงเป็นทางเลือกที่ดีของการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่มของคนที่กำลังลดน้ำหนัก ทั้งนี้ก็ไม่แนะนำให้รับประทานเกินวันละ 6 ช้อนชา มิฉะนั้นอาจเป็นผลร้ายต่อสุขภาพแทน

น้ำเชื่อม

เป็นการใช้น้ำตาลมาเคี่ยวผสมกับน้ำจนกระทั่งใส ส่วนใหญ่คนไทยจะใช้ปรุงอาหารหวานหรือเครื่องดื่มต่างๆ น้ำเชื่อมแต่ละชนิดก็ให้รสหวานเข้มข้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ผสม (หวานมากก็ให้พลังงานมากตาม) ส่วนวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นน้ำเชื่อมสำเร็จรูปจากต่างประเทศ คุณค่าทางอาหารจะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้ เช่น องุ่น เมเปิลหรือแอปเปิล มักจะมีการเติมสารอาหารบางชนิดลงไปเพื่อขยายผลทางการค้านั่นเอง

เมื่อทราบดังนี้แล้ว ต้องกะปริมาณน้ำตาลให้ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วนหรือความดันโลหิตสูง ยิ่งต้องระวังและมีเป้าหมายในการรักษาจากการดูแลเรื่องโภชนาการ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติเท่าที่จะทำได้ รักษาระดับไขมันในเลือดให้เหมาะสม รักษาน้ำหนักตัวและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ พร้อมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชีวิตที่มีความสุข

 แหล่งน้ำตาลมีทั้งที่มาจากพืชและสัตว์ แหล่งน้ำตาลของพืชจะเป็นพืชที่มีหัว ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่ได้จะแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นปนอยู่ด้วยเช่น โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ พืชที่ให้น้ำตาล ได้แก่ ข้าวชนิดต่าง ๆ เผือก มัน ข้าวโพด อ้อย ตาล มะพร้าว ส่วนแหล่งน้ำตาลจากสัตว์ จะเป็นน้ำตาลในนมและไกลโคเจนที่เป็นพลังานสำรองในส่วนกล้ามเนื้อและตับ เทียบกันแล้วความหวานและปริมาณน้ำตาลจากสัตว์จะมีน้อยกว่าพืช

 

ธิติมา ปฎิพิมพาคม นักโภชนาการ

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน VS ดัชนีน้ำตาลในอาหาร
 
สารให้ความหวานในอาหาร
 
เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยง น้ำตาลทราย
 
ข้าวกล้อง วิตามิน...เพียบ
 
สุดยอดอาหารถั่วเหลือง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.