สารให้ความหวานในอาหาร |
---|
ในทางการแพทย์สารให้ความหวานแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nutritive sweetener) และสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nonnutritive sweetener) สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่รู้จักกันดีและใช้กันทั่วไป ได้แก่ น้ำตาล (sugar) ถ้าใช้คำว่า sugar หมายถึง น้ำตาลซูโครส ถ้า sugars หมายถึงน้ำตาลอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ซูโครส กลูโคส ฟรุคโตส และมอลโตส เป็นต้น น้ำตาลซูโครสคือน้ำตาลทรายที่ใช้ปรุงอาหาร ฟรุคโตสพบในผัก ผลไม้ มอลโตสมีมากในน้ำนม ซึ่งน้ำผึ้ง น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม น้ำอ้อย ก็จัดเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่าปราศจากน้ำตาลส่วนใหญ่ จะหมายถึงไม่มีน้ำตาลซูโครส แต่อาจจะมีน้ำตาลชนิดอื่นๆ น้ำตาลจัดเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตทุกชนิดจะถูกแปลงเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานของสมองและระบบต่างๆ ของร่างกาย น้ำตาลยังเป็นตัวการสำคัญของโรคและมีผลกระทบกับสุขภาพร่างกายหลายด้านอีกด้วย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไปเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก จะทำการย่อยสลายน้ำตาลในปากไปเป็นกรด ซึ่งสามารถทำลายสารเคลือบฟันของเราจนทำให้ฟันผุ นอกจากนี้ยังควรทำความเข้าใจด้วยว่า การรับประทานน้ำตาลในปริมาณมากไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะพฤติกรรมการไม่อยู่เฉย (hyperactive) ในเด็ก รวมทั้งไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานโดยตรงในผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานหรือขนมหวาน เนื่องจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ การรับประทานน้ำตาลปริมาณมากก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นได้ ในส่วนของผู้ที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักก็ไม่ควรรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ได้พลังงานมาก น้ำตาลให้พลังงาน 4 แคลอรี/กรัม หรือน้ำตาล 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี ถ้าร่างกายได้รับพลังงานมากเกิน ก็จะสะสมในรูปไขมันและเกิดโรคอ้วนในที่สุด ผลตามมาจากความอ้วนมีมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงอาจก่อให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ข้อเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งเต้านมในเพศหญิง มะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย การทำงานของปอดลดลง เนื่องจากชั้นไขมันหนารอบทรวงอกทำให้การขยายตัวของปอดทำได้ไม่ดีนัก และไขมันที่หนาบริเวณท้องก็ทำให้กระบังลมยืดหยุ่นตัวได้ไม่ดี ดังนั้นจึงสังเกตว่าในคนที่อ้วนมากจะมีอาการหายใจลำบาก หรือมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ ในขณะนอนหลับเรียกว่า sleep apnea ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดศีรษะในเวลาเช้า ง่วงนอน หายใจช้าในเวลากลางวัน เป็นต้น |
|||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday | |||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |