หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรคเกาต์
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกภายในข้อ ซึ่งเป็นผลจากการมีระดับกรดยูริกในเลือด สูงเป็นเวลานาน โรคเกาต์เป็นโรคเรื้อรัง ที่อาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง มักเกิดในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ข้อที่มักพบการอักเสบจากโรคเกาต์ได้บ่อย เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ เป็นต้น

กรดยูริก คือ อะไร ?

กรดยูริก เกิดจากสารพิวรีน ที่มีอยู่ในโปรตีนทุกชนิด กรดยูริกในร่างกายได้จาก 2 ทาง คือ

 
1.
จากอาหารที่รับประทาน ประมาณร้อยละ 20 ได้จากอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่รับประทาน ซึ่งจะถูกย่อยสลายจนเกิดเป็นกรดยูริก
 
2.
จากร่างกายสร้างขึ้นเอง ประมาณร้อยละ 80 ได้จากการสลายเซลล์ หรือเนื้อเยื่อในร่างกาย แล้วถูกเปลี่ยนให้เป็นกรดยูริก

โดยปกติ ร่างกายจะมีระดับกรดยูริกในเลือด ไม่สูงกว่า 7 มิิลลิกรัมในเลือด 100 มิลลิลิตร เนื่องจากมีระบบควบคุม การสร้างและการกำจัดกรดยูริกอย่างสมดุล กรดยูริกจะถูกขับออกทางไต 2 ใน 3 ของที่ร่างกายสร้างขึ้น อีกส่วนหนึ่งจะขับออกทางน้ำลาย น้ำย่อย และน้ำดี ซึ่งจะถูกทำลายโดยแบคทีเรียในลำไส้

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

สาเหตุของภาวะกรดยูริกในเลือดนั้น มักไม่ทราบแน่ชัด โดยทั่วไปมีปัจจัยมาจาก

 
1.
ร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถควบคุม การสร้างของกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือร่างกายได้รับสารโปรตีนจากอาหารมากเกินไป
 
2.
ร่างกายขับกรดยูริกออกไม่ได้ดี จากโรคไตพิการ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาวัณโรคบางชนิด เป็นต้น

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์ ?

เมื่อมีอาการปวดบวมตามข้อโดยฉับพลัน หรือปวดข้อหนึ่งข้อใดเป็นๆ หายๆ ควรพบแพทย์เืพื่อรับการตรวจน้ำไขข้อ หาผลึกกรดยูริก ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเข็มเรียวยาวอยู่ในเม็ดเลือดขาว ถ้าตรวจพบจะเป็นการวินิจฉัยโรคเกาต์ที่แน่นอน ส่วนผู้มีระดับกรดยูริกสูงอย่างเดียว แต่ไม่เคยมีอาการข้ออักเสบเลย จะยังไม่ถือว่าเป็นโรคเกาต์

โรคเกาต์ มีอาการอย่างไรบ้าง ?

 
1.
ข้ออักเสบเฉียบหลัน มีข้อบวมแดงและร้อน บางรายอาจมีไข้ ระยะแรก อาการข้ออักเสบจะเป็นๆ หายๆ ถ้าไม่รับการรักษาต่อเนื่อง ข้ออักเสบจะกำเริบบ่อยๆ เป็นนานขึ้น และเป็นหลายข้อพร้อมกันได้
 
2.
ผู้ที่เป็นโรคเกาต์มานาน และไม่รับการรักษาให้ถูกต้อง จะมีการตกผลึกกรดยูริกเพิ่มมากขึ้น ตามข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เป็นปุ่มก้อนใต้ผิวหนังได้ บริเวณที่พบได้บ่อย เช่น หลังเท้าและนิ้วเท้า ตาตุ่ม ข้อศอก นิ้วมือ ใบหู เป็นต้น ซึ่งลักษณะอาการนี้ มักพบในผู้ที่เป็นโรคเกาต์มานาน และมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาก
 
3.
อาการของโรคไต จากการเป็นโรคเกาต์มานาน อาจเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริก จนเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อของไต ก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง และภาวะไตวายได้

การรักษาโรคเกาต์มีอะไรบ้าง ?

ปัจจุบัน การรักษาโรคเกาต์ได้ผลดี จุดมุ่งหมายของการรักษา คือ ควบคุมระดับของกรดยูริกในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติ มีดังนี้

 
1.
การรักษาอาการข้ออักเสบเฉียบหลัน เพื่อลดการอักเสบ และอาการปวดบวมของข้อ และป้องกันการอักเสบกำเริบของข้อ
 
2.
ควบคุมหรือลดระดับกรดยูริกในเลือด ให้อยู่ระดับปกติ ซึ่งอาจเป็นยายับยั้งการสร้างกรดยูริกของร่่างกาย หรือยาที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย

โรคเกาต์ ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมโรคได้อย่างดี โดยรักการรักษาอย่างต่อเนื่อง และรับประทานยาตามแพทย์กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำอีก และภาวะแทรกซ้อนจากการตกผลึกของกรดยูริกในอวัยวะต่างๆ หรือไม่ให้เกิดความพิการของข้อได้

เมื่อเป็นโรคเกาต์ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?

 
1.
ที่สำคัญที่สุด คือ การรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรคเกาต์และโรคประจำตัวอื่นๆ ให้รับประทานยาตามกำหนด ถ้ามีอาการผิดปกติให้ปรึกษาแพทยื ผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท โรคเบาหวาน เป็นต้น
 
2.
หยุดพักการใช้ข้อระยะที่มีการอักเสบ หลีกเลี่ยงการบีบนวด จะทำให้ข้ออักเสบเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อน และความเย็นประคบบริเวณข้อ ในขณะที่มีการอักเสบ
 
3.
รับประทานอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่เป็นอาหารแสลง กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบทุครั้งที่รับประทาน ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น เครื่องในสัตว์ น้ำซุปกระดูกสัตว์ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เบียร์ สุรา ไวน์ บรั่นดี เป็นต้น
 
4.
ดื่มน้ำมากๆ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อเร่งขับกรดยูริกทางไต และป้องกันการตกผลึกกรดยูริกตกค้างในไต
 
5.
หลีกเลี่ยงอากาศเย็น โรคเกาต์มักมีอาการกำเริบเวลาอากาศเย็น และเวลากลางคืน
 
6.
ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อ้วน เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อ และป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบ
 
7.
เมื่อมีอาการหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ก้อนหรือปุ่ม ปวดเอวหรือปวดท้อง ปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัำด
 
8.
ดำเนินชีวิตอย่าให้เคร่งเครียดมากนัก

 


ศจ. นพ. อุทิศ ดีสมโชค และ ประภัทธ์ โสตถิโสภา

 
       
    แหล่งข้อมูล : เอกสารเผยแพร่ - คลินิกโรคข้อ และหน่วยสุขศึกษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เก๊าท์
 
โรคเก๊าท์
 
โรคเก๊าท์
 
โรคเก๊าท์และการดูแลอาหารของผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์
 
อาหารกับโรคเก๊าต์
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.