หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เมื่อมะเร็ง...แพร่กระจายไปที่กระดูก
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


มะเร็ง
เป็นโรคที่ทุกคนภาวนาให้ไม่เกิดขึ้นกับตัว แต่ชีวิตก็ยากกำหนด ความรู้เท่านั้นที่จะช่วยให้เราเท่าทันโรคภัย สู้และอยู่กับมันได้อย่างราบรื่นที่สุด โดยเฉพาะคนที่เลี่ยงไม่ได้กับโรคมะเร็ง ความน่ากังวลของโรคนี้ คือ การที่เกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญๆ และการกระจายตัวไปสู่อวัยวะอื่นๆ รวมทั้งกระดูกด้วย

โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกจัดเป็นโรคที่พบบ่อย จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 ล้านคน และประมาณ 600,000 คนจะมีมะเร็งแพร่กระจายมาที่บริเวณกระดูก กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง เป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากปอด และตับ !!

มะเร็งที่มักแพร่กระจายมายังบริเวณกระดูก คือ มะเร็งของเต้านม ปอด ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์และไต พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ มักจะพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าหญิง ตำแหน่งของกระดูกที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง มักเป็นกระดูกบริเวณแกนกลางของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง และกระดูกเชิงกราน ส่วนในกระดูกระยางค์ มักพบในบริเวณกระดูกต้นขาส่วนต้น และกระดูกต้นแขนส่วนต้น ในกรณีที่มะเร็งมาที่กระดูก คนที่เป็นมะเร็งปอด มีแนวโน้มของโรคที่แย่ที่สุดกว่ามะเร็งชนิดอื่น

ปวดมากขึ้น ต่อเนื่องยาวนาน คือสัญญาณเตือน

เมื่อมะเร็งกระจายมาที่กระดูกจะทำให้ปวด มักจะปวดนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มักจะปวดตลอดเวลา และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดธรรมดา นอกจากนี้บางคนปวดมาก และไปหาหมอเพราะกระดูกหัก บางครั้งแค่ล้มก็ทำให้เกิดกระดูกหักได้ อาการอีกอย่างที่สำคัญของมะเร็งกระจายไปที่กระดูก คือ ปวดหลังร่วมกับอ่อนแรง และชาบริเวณขา เนื่องจากมะเร็งแพร่มาที่กระดูกบริเวณสันหลัง จนมีการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง

ประเมินล่วงหน้า เพื่อรักษาเต็มประสิทธิภาพ

การประเมินว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายมาที่กระดูก มีความสำคัญมาก เพื่อนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพบแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อติดตามอาการ ตรวจร่างกายเป็นระยะ ทั้งทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษด้วยภาพถ่ายทางรังสี คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงการส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา

ตรวจร่างกายทุกระบบอย่างละเอียด รวมถึงตำแหน่งที่มีอาการ เช่น ถ้ามีอาการปวดบริเวณหลังต้องคลำหาจุดกดเจ็บ ตรวจระบบประสาท และต้องหาตำแหน่งที่อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้ เช่น เต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์ ปอด รวมถึงลักษณะทั่วไปด้วย เช่น ภาวะซีด ภาวะโภชนาการของคนเป็นมะเร็ง

ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือต่างๆ บอกอะไร?     

 
•
การตรวจเลือด มีความจำเป็นต้องตรวจ เพื่อดูสภาพทั่วไป เช่น ภาวะความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เนื่องจากคนเป็นมะเร็งส่วนใหญ่มักมีอาการซีด การตรวจความเข้มข้นของปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือด ซึ่งมักจะสูง ในคนเป็นโรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูก
 
•
การตรวจหาค่าบ่งชี้ tumor marker ที่จำเพาะเจาะจงกับมะเร็ง เช่น ค่า PSA ซึ่งมักจะสูงในมะเร็งต่อมลูกหมาก
 
•
ทำ bone scan ซึ่งเป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในร่างกาย เพื่อศึกษากระดูกในส่วนที่มะเร็งแพร่กระจายไป จะช่วยในการติดตามดูแลรักษา และวินิจฉัยแยกโรค
 
•
การตรวจภาพทางรังสี (X-ray) มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย ควรตรวจในตำแหน่งที่มีอาการเจ็บปวดผิดปกติ การตรวจด้วยภาพรังสีบริเวณทรวงอก ก็ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งปอดได้ ลักษณะของรอยโรคที่พบในบริเวณโรคนั้น มักพบทั้งการสร้างและการทำลายของกระดูก อาจพบภาวะกระดูกหักที่ไม่รุนแรง และพบรอยโรคของการทำลายกระดูก ในตำแหน่งที่มีกระดูกหัก
 
•
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ช่วยบอกถึงการทำลายกระดูก และภาวะการเกาะตัวของหินปูนในตำแหน่งของรอยโรค
 
•
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สามารถตรวจความผิดปกติของกระดูก ที่เกิดภายนอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ดูขอบเขตของการลุกลามของมะเร็งได้ดีมาก ถ้าเป็นรอยโรคในบริเวณกระดูกสันหลัง ก็จะช่วยให้เห็นการกดไขสันหลัง การทำลายของกระดูกได้
 
•
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิสภาพ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการวินิจฉัย การตรวจชิ้นเนื้อมี 2 วิธี คือตรวจชิ้นเนื้อแบบไม่มีแผลเปิด ซึ่งใช้เข็มในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อมาตรวจ และการผ่าตัดเปิดแผล เอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ซึ่งการพิจารณาวิธีการนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรอยโรค รวมถึงประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ผู้ให้การรักษา

รักษาได้ไหม เมื่อมะเร็งกระจายสู่กระดูก

ประมาณ 80% ของมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก มาจากมะเร็งของเต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์ ปอด และไต เป้าหมายในการรักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวด และรักษาสภาพจิตใจของคนเป็นมะเร็ง ให้สามารถเคลื่อนไหว ช่วยตนเองได้ และสามารถกลับสู่สังคมได้ เพราะมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก ก่อให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากการกดทับของไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต กระดูกหัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูง ทำให้อาจมีอาการชัก ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และภาวะขาดน้ำ

การรักษาผู้ที่มะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกนั้น จึงเป็นการดูแลร่วมกันของทีมแพทย์ ได้แก่ แพทย์มะเร็ง ศัลยแพทย์กระดูก แพทย์รังสีรักษา แพทย์รักษาความเจ็บปวด รวมถึงจิตแพทย์ ที่จะช่วยในการรักษาอาการซึมเศร้าและบรรเทาจิตใจ

ผ่าตัด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การผ่าตัดจะทำโดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เพื่อลดความเจ็บปวด และทำให้สามารถใช้อวัยวะส่วนนั้นๆ ได้ใกล้เคียงปกติ การผ่าตัดส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง มากกว่าที่จะรักษาให้หายขาด คนเป็นมะเร็งบางคน ิอาจมีโอกาสกระดูกหักแต่ยังไม่หัก ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพื่อป้องกันการหัก ส่วนการรักษาคนที่กระดูกหัก จากมะเร็งลุกลามมาที่กระดูกแล้ว ขึ้นอยู่กับลักษณะตำแหน่งของกระดูกที่เกี่ยวข้อง การตอบสนองต่อรังสีรักษาและเคมีบำบัด สุขภาพทั่วไป ระยะของโรค ระยะเวลาชีวิตที่เหลือ หลักการในการผ่าตัดนั้น ควรจะผ่าตัดที่เบ็ดเสร็จเรียบร้อยภายในครั้งเดียว เพราะคนกลุ่มนี้มีสุขภาพทั่วไปไม่แข็งแรง

ในคนที่ยังไม่มีกระดูกหัก แต่มีรอยโรคในส่วนของกระดูกระยางค์ และมีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักสูงมาก อาจต้องผ่าตัดยึดตรึงกระดูก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ซึ่งรอยโรคมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2.5 เซนติเมตร มีการทำลายกระดูกมากกว่า 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกระดูก อาการปวดมาก ไม่สามารถทุเลาลงด้วยยาแก้ปวด และพิจารณาลักษณะของการทำลายกระดูกร่วมด้วย ภายหลังการผ่าตัดทุกราย จำเป็นต้องได้รับการฉายรังสีรักษาที่บริเวณผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำของมะเร็งเฉพาะที่ และลดปัญหาการเกิดการหักหลวมของวัสดุที่ใช้ในการยึดตรึงกระดูก หรือทดแทนกระดูกส่วนนั้น บางครั้งถ้าแพทย์คาดการณ์ภาวะมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกได้ดี คนๆ นั้นก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้

นอกจากการผ่าตัดรักษาทางร่างกายแล้ว ยังต้องช่วยกันรักษาทางจิตใจด้วย การให้กำลังใจคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทั้งแพทย์และญาติผู้ดูแลสามารถช่วยกันได้ ยิ่งผู้ที่เป็นมะเร็งมีความศรัทธาต่อทีมผู้รักษา ก็จะยิ่งช่วยกันสร้างความรู้สึกให้เขารู้สึกว่าตนเองมีค่า ช่วยฟื้นฟูจิตวิญญาณ โดยการดึงความภาคภูมิใจที่เขามีอยู่ให้กลับคืนมา...พลังใจมีอำนาจยิ่งใหญ่เสมอ คนเราอาจจะชนะโรคภัยได้ด้วยหัวใจอัน
เข้มแข็งครับ

 

นพ. ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคเก๊าท์
 
โรคข้ออักเสบ
 
โรคข้อเสื่อม
 
โรคข้อ และรูมาติซั่ม บรรเทาได้ด้วยความเข้าใจ
 
โรคปวดหลัง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.