กล้ามเนื้อหัวใจตาย |
---|
รอยโรคจากอดีตที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบัน จากการตรวจมัมมี่พระศพของกษัตริย์ Merneptah ฟาโรห์องค์หนึ่งแห่ง Exodus ดินแดนในอียิปต์โบราณ เมื่อพันกว่าปีก่อน คริสตกาล ได้มีการพบหลักฐาน การเกิดผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งต่อมาเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุ เบื้องต้นของโรคนี้ แต่มนุษย์ยังต้องใช้เวลานับพันปีกว่า ที่จะเรียนรู้ถึงกลไก และสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็น สาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรในซีกโลกตะวันตก ในประเทศ สหรัฐอเมริกา เองถึงแม้จะมีความก้าวหน้าทาง วิชาการสูง และมีแนวโน้มของอัตราตายจากโรคนี้ลดลง แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ไม่ต่ำกว่า 500,000 คนต่อปี และ มีผู้ป่วยจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ราว 1.2 ล้าน คนต่อปี สำหรับในประเทศไทยนั้น กลับตรงข้าม แม้เราจะไม่ทราบสถิติที่แน่นอน แต่การเกิดโรคนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกที และพบมากขึ้นในคนอายุน้อยลง แม้ในช่วงอายุเพียง 30-40 ปี ไขมันตัวร้าย ผู้ก่อโรค จากการศึกษาในปัจจุบันบ่งชัดว่า โรคนี้เริ่มเกิดที่ผนังของหลอดเลือดแดงเอง โดยมีการสะสมของไขมันโคเลสเตอรอลที่ผนังด้านใน ไขมันนี้ได้มาจากสัตว์เท่านั้น ร่างกายของเราได้รับโคเลสเตอรอลมาจาก 2 แหล่ง คือจากภายนอก ได้จากอาหารที่มีไขมันสูง (เช่น หมูหัน ขาหมู มันไก่ ไข่แดง สมอง หอย นางรม ฯลฯ) และจากภายในร่างกายเอง โดยการสร้างของตับ เราอาจแบ่งไขมัน โคเลสเตอรอลออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โคเลสเตอรอลที่มีขนาดใหญ่ แต่มีความหนาแน่นน้อยเรียกว่า แอล-ดี-แอล (Low Density Lipoprotein Cholesterol) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อม และโคเลสเตอรอล ชนิดที่มีขนาดเล็ก แต่มีความหนาแน่นสูง ที่เรียกว่า เอช--ดี-แอล (High Density Lipoprotein Cholesterol) เจ้าตัวหลังนี้จะกลับเป็นพระเอก ช่วยขนถ่าย แอล-ดี-แอล ที่ผนังหลอดเลือดกลับไปทำลายที่ตับ เมื่อมาถึงตรงนี้ก็คงนึกภาพออกว่า ผู้ที่มีไขมันชนิด แอล-ดี-แอลสูง หรือ เอช-ดี-แอล ต่ำ ก็จะทำให้ เกิดการสะสมของไขมันในผนังมาก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด กล่าวกันว่าในชายอเมริกันที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ร้อยละ 90 จะมี แอล-ดี-แอลสะสมที่ผนังหลอดเลือด จากการศึกษาพบว่า การสะสมของไขมันนี้ เกิดตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น โดยมีลักษณะเป็นปื้นไขมันเล็กๆ สีเหลืองซึ่งอาจหายไปได้เอง หรือหายไปได้หลังจาก ได้รับการรักษา แต่ในรายที่มี แอล-ดี-แอลในเลือด สูงการสะสมจะเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นแอ่งในไขมันในผนัง โดยมีพังผืดหุ้มไว้บางๆ เมื่อเกิดเคราะห์หามยามร้าย พังผืด ซึ่งทำหน้าที่ เป็นเปลือกหุ้มไขมัน นี้เกิดปริแตกออก ก็จะทำให้ไขมันข้างใต้ ออกมาสัมผัสกับเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงจับกันเป็นกลุ่ม เกิดการอุดตันหลอดเลือดเส้นนั้นทันที เป็นผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ณ จุดนี้การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดก็ คือการขจัดก้อนเลือดที่อุดตันนี้โดยเร็ว ซึ่งอาจทำได้ด้วย การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ การใช้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด บางครั้งการปริแตกที่เกิดมีไม่มาก เป็นผลให้ก้อนเลือดที่เกิดมีขนาดไม่ใหญ่นัก ก็จะไม่เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หากแต่จะมีการซ่อมแซม โดยอาศัยเนื้อเยื่อพังผืด และหินปูนในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้มีการหนาตัวเพิ่มขึ้น ของรอยโรคที่ผนังและจะเบียดรูหลอดเลือดให้ตีบแคบลงในที่สุด แพทย์รักษาหลอดเลือดหัวใจอุดตันกันอย่างไร การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน นับเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายยิ่ง เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที ถึงครึ่งหนึ่ง ณ ที่เกิดเหตุ โดยมีสาเหตุจากการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติ เป็นผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ไฟฟ้าช็อคหัวใจ ให้กลับมาเต้นปกติร่วมไปกับการปั๊มหัวใจ และช่วยการหายใจ อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ในขั้นต้น ขั้นต่อมาคือ จะต้องรีบเปิดเส้นเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งเวลาผ่านไป (เกิน 6 ชม.) ผนังกล้ามเนื้อที่ขาดเลือด ก็จะยิ่งถูกทำลาย และอาจทำให้เกิด ภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา ยาละลายลิ่มเลือด เป็นสารพวกเอ็นไซม์ ที่จะละลายลิ่มเลือดที่เกิดขึ้น แพทย์จะให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำ ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยจะมี ภาวะเลือดแข็งตัวช้า ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติร่วมด้วย (เช่นในทางเดินอาหาร ในสมอง) ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใหม่ๆ หรือมีประวัติแพ้ยา ก็จะไม่สามารถให้ยากลุ่มนี้ได้ โดยทั่วไปยาในกลุ่มนี้จะสามารถเปิดเส้นเลือดได้ผลในราว ร้อยละ 50-70 ในโรงพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ และมีทีมงานที่พร้อม แพทย์ผู้ชำนาญ จะสามารถใช้ลวดเล็กๆ สอดผ่านหลอดเลือดที่ตัน และทำการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่ง วิธีนี้พบว่า สามารถเปิดหลอดเลือดได้สำเร็จ ถึงกว่าร้อยละ90 และพบว่าได้ประโยชน์มาก ในรายที่ผู้ป่วยเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างมากจนช็อค โรคอันตรายที่คุณอาจป้องกันได้ ผลการศึกษาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาจากหลายสถาบันยืนยันว่า ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ถ้าได้รับการลดไขมันลงมา ในระดับที่ปลอดภัย จะสามารถลดการสะสมของไขมัน ที่ผนังหลอดเลือดได้ ทำให้หลอดเลือดตีบน้อยลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ตีบมากขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถลดอัตราตายจากโรคนี้ รวมทั้งอุบัติการณ์ในการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันลงราวร้อยละ 40-70 หลักปฏิบัติที่ควรทราบคือ
โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นโรคร้ายแรงที่มีอัตราตายสูง และมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าไม่ได้รับการแก้ไขรักษาให้ทันเวลา การป้องกันเสียก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น จึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการควบคุมไขมัน เบาหวาน ความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และงดสูบบุหรี่ เป็น สิ่งที่จำเป็นที่ท่านสามารถทำได้ หากมีความตั้งใจเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของชีวิตท่าน ซึ่งมีค่าประมาณมิได้ สำหรับบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวของท่าน
นอ.นพ.กัมปนาท วีรกุล |
|||||||||||||||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : www.thaiheartweb.com | |||||||||||||||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |