การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี หมายถึงการใช้สายสวนขนาดเล็ก (โดยทั่วไป เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม.) ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ (ซึ่งนิยมมากที่สุด) ข้อพับแขนหรือข้อมือ ไปจนถึง จุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจ (หรือที่รู้จักกันว่าหลอดเลือดโคโรนารี่) ทั้งซ้ายและขวา ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว มักจะอยู่ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย จากนั้น แพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ (หรือ "สี") ฉีดเข้าทางสายสวนนั้น ไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการตีบแคบ หรือตันของหลอดเลือดอันสำคัญนั้นหรือไม่ ถ้ามีการตีบแคบหรือตัน การฉีดสี ก็จะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนอีกว่า เป็น ณ บริเวณใดของหลอดเลือด เป็นมากหรือน้อยประการใด ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ อย่างแม่นยำ แล้ว ยังช่วยในการตัดสินใจของผู้ป่วยญาติ และแพทย์ อีกด้วยว่า ควรจะแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีใด ให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิผล แก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด
ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจ ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน และขณะทำก็ไม่มี การใช้ยาสลบแต่อย่างใด จะใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ขณะตรวจ ผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อการตรวจเสร็จ เรียบร้อย ท่านก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
|
1. |
ท่านจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ให้งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ |
|
|
ทุกท่านจะต้องลงชื่อในใบยินยอม ก่อนการตรวจสวนหัวใจ |
|
3. |
หากท่ามีประวัติแพ้ใดๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหารทะเล หรือ มีประวัติเลือดออกแล้วหยุดยาก ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ |
|
4. |
หากท่านมีประวัติการตรวจอื่นๆ ที่ยังเก็บไว้เอง เช่น ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดและหัวใจ ผลการตรวจเลือดเร็วๆนี้ ผลการตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลการตรวจ สมรรถภาพของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) หรือผลการตรวจ Echocardiography ควรนำมาให้แพทย์ดูก่อนหรือในวันตรวจด้วย |
|
5. |
อื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ |
ผลแทรกซ้อนจากการตรวจ
มีผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนหัวใจ และฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจอยู่บ้าง ผลแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง (พบได้น้อยกว่าร้อยละ 5) เช่น ผลต่อหลอดเลือดที่ขา (ตำแหน่งที่แทงเข็ม) เลือดออก แพ้สี แบบไม่รุนแรง เป็นต้น หรือ ผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อัมพาต แพ้สีรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงเหล่านี้พบน้อยมาก น้อยกว่าร้อยละ 1 ทำให้เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี กับ ข้อเสียแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมาก จะได้ประโยชน์จากการสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือด
นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา
อายุรแพทย์โรคหัวใจ
|