หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
อยู่กับเบาหวานอย่างไรถึงห่างไกลโรคตา
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่การควบคุมน้ำตาลในร่างกายบกพร่อง อันเกิดจากการขาดอินซูลิน หรือการทำงานของอินซูลินผิดปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นๆ ลงๆ เป็นโรคที่ติดมาในสายเลือดจึงมักหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าปัจจุบันอาจกล่าวกันว่าการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป การเลือกรับประทานอาหารโดยลดอาหารหวานและคาร์โบไฮเดรต ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจป้องกันหรือแบ่งเบาภาวะเบาหวานลงได้ จากการศึกษาคาดคะเนว่าในอีก 30 ปี ข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ในประเทศตะวันตกเพิ่ม 40% แต่ในแถบเอเชียจะเพิ่มถึง 170% ชาวไทยก็เช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. 2534 พบคนที่เป็นเบาหวาน 1.4 ล้านคน จากประชากร 62 ล้านคน คิดเป็นความชุก 2.3% แต่การสำรวจในปี พ.ศ. 2539 พบความชุกเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% เชื่อว่าคนไทยรับอารยธรรมตะวันตก กินอาหารสำเร็จรูปประเภทจานด่วน เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ มันฝรั่ง เป็นอาหารที่ไขมันสูง บวกกับชีวิตที่เร่งรีบไม่ได้ออกกำลังกาย เป็นเหตุให้พบโรคเบาหวานมากขึ้น แล้วหากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีโรคเบาหวานติดตัวมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณจะอยู่กับเบาหวานอย่างเป็นสุขได้อย่างไร ?…

เบาหวานกับภาวะตาบอด

เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจะเกิดการทำลายหลอดเลือดเล็กๆ ทั่วร่างกาย ทั้งหัวใจ สมอง ไต และตา มีคนศึกษาพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนปกติ 25 เท่า และ 2% ของผู้ป่วยเบาหวานมักจะตาบอด ตาบอดจากเบาหวานพบได้ 8% ของคนตาบอดในสหรัฐอเมริกา ตาบอดจากเบาหวาน เป็นสาเหตุนำของคนตาบอดในสหรัฐอเมริกาในคนวัยทำงาน (อายุระหว่าง 20-70 ปี) พบได้ถึง 25% ในคนตาบอดในกลุ่มอายุนี้ มีคนตาบอดจากเบาหวานเพิ่มขึ้นปีละ 12,000 – 24,000 คน และแทบไม่น่าเชื่อว่า ในบรรดาคนตาบอดจากเบาหวานในสหรัฐฯ นั้น กว่าครึ่งหนึ่งน่าจะป้องกันได้ หรืออีกนัยหนึ่งตาไม่ควรจะบอด หากตรวจและรับการรักษาแต่เนิ่นๆ

ผู้ที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคทางตาที่สำคัญ ได้แก่

 
•
ต้อกระจก เป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ เป็นการเสื่อมของแก้วตาตามวัย สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานจะเป็นต้อกระจกด้วยวัยที่น้อยกว่า อาการของต้อกระจกในผู้ที่เป็นเบาหวาน ก็เหมือนกับต้อกระจกในผู้สูงอายุทั่วไป คือ ตามัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่เจ็บปวด วิธีการรักษาก็เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นต้อกระจกทั่วๆ ไป คือ การผ่าตัดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่มีข้อระมัดระวัง คือ การดูแลรักษาแผลผ่าตัด ความเชื่อที่ว่าเป็นเบาหวานแล้วผ่าตัดไม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริง หากควบคุมเบาหวานได้ดีแผลผ่าตัดจะหายได้รวดเร็วเช่นเดียวกับคนทั่วไป การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันทำได้รวดเร็ว แผลเล็ก การดูแลรักษาจึงง่ายขึ้นมาก
 
•
ต้อหิน ผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นต้อหินเรื้อรัง ที่ไม่ทราบสาเหตุได้มากกว่าคนปกติ การรักษาต้อหินชนิดนี้ไม่ต่างจากคนไม่เป็นเบาหวาน ได้แก่ การควบคุมด้วยยา การใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัดตามแต่ระยะของโรค ต้อหินอีกชนิดหนึ่งที่อาจพบในผู้ที่เป็นเบาหวาน ได้แก่ ต้อหินเนื่องจากมีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ม่านตา ต้องรับการรักษาให้ทัน มิเช่นนั้นตาอาจบอดแถมด้วยความเจ็บปวด
 
•
จอตาผิดปกติจากเบาหวาน (diabetic retinopathy) ผู้ที่เป็นเบาหวานทุกคนมักเกิดภาวะนี้ แต่ในเวลาต่างกัน การเป็นเบาหวานยิ่งนานยิ่งมีโอกาสเป็นมากกว่า คนเป็นเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี มีโอกาสเป็นเร็วกว่า โดยเฉพาะการควบคุมในระยะแรกที่ไม่ดี ตลอดจนเบาหวานที่ต้องพึ่งพาอินซูลิน มีการศึกษาพบว่าจอตาผิดปกติจากเบาหวานได้ 7% ในผู้ที่เป็นเบาหวานน้อยกว่า 10 ปี แต่ถ้าเป็นเบาหวานมากกว่า 15 ปี พบภาวะนี้ได้ถึง 63%

ความผิดปกติของจอตาจากเบาหวาน จะเริ่มจากหลอดเลือดจอตาโป่งพอง ตามด้วยน้ำเลือดและน้ำเหลือง ซึมจากหลอดเลือดกระจายตัวทั่วๆ จอประสาทตา ระยะนี้จะไม่มีอาการผิดปกติทางตาเลย นอกจากมีเลือดและน้ำเหลืองออกบริเวณจุดรับภาพ (diabetic maculopathy) เมื่อมีเลือดและน้ำเหลืองออกมากขึ้น หลอดเลือดผิดปกติมากขึ้น ทำให้จอตาบางส่วนขาดเลือด มีการตายของจอตาเป็นหย่อมๆ มากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป สายตาจะเริ่มมัวลง หากไม่ได้รับการรักษา การทำลายจอตาเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยการเกิดหลอดเลือดใหม่เพื่อแก้ไขภาวะขาดเลือด ตัวหลอดเลือดเกิดใหม่นี้จะเปราะบาง ฉีกขาดง่าย มีพังผืดต่างๆ ตามมา หากพังผืดเกิดการดึงรั้งทำให้จอตาหลุดลอกจากที่เดิม ลงเอยด้วยตาบอดในที่สุด การรักษาภาวะจอตาผิดปกติจากเบาหวานนั้นอยู่ที่การควบคุมเบาหวานที่ดี ร่วมกับการรักษาเฉพาะที่จอตา ด้วยแสงเลเซอร์ในระยะแรก หรือด้วยการผ่าตัดน้ำวุ้นตาในระยะสุดท้าย

การรักษาโรคนี้ด้วยแสงเลเซอร์ เป็นการใช้แสงเลเซอร์ที่เหมาะสม ยิงไปยังบริเวณจอตาที่เสียและทั่วๆ จอตา เพื่อลดการขาดเลือด สกัดกั้นมิให้มีหลอดเลือดเกิดใหม่ ตลอดจนทำลายหลอดเลือดเกิดใหม่ให้หมด เป็นการรักษามิให้โรคลุกลาม แต่จะไม่ช่วยให้จอตาที่เสีย หรือตายไปแล้วกลับคืนมา สายตาจึงไม่ดีขึ้น ซึ่งควรรับการรักษาก่อนที่สายตาจะมัวลง โดยทั่วไปผู้ที่เป็นเบาหวาน มักจะไม่มารับการตรวจถ้าสายตายังเห็นดี หรือเมื่อตรวจพบภาวะนี้ แพทย์แนะนำให้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ก็มักปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าสายตายังดีอยู่ ซึ่งแพทย์มักต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนเสมอ การรักษาด้วยแสงเลเซอร์นั้นไม่ยุ่งยากนัก ไม่ต้องผ่าตัด ไม่เจ็บปวด สามารถรับการรักษาแบบไปกลับ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่มีการสูญเสียเลือด แต่อาจต้องทำหลายครั้ง ในสมัยก่อนที่จะมีแสงเลเซอร์มาใช้ในวงการแพทย์ ผู้ที่เป็นเบาหวานที่มีความผิดปกติที่จอตา เกือบจะไม่มีวิธีรักษา คงต้องปล่อยให้ตาค่อยๆ มัวลงและบอดในที่สุด เมื่อมีการพัฒนาการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ จึงสกัดกั้นมิให้ตาบอดได้บ้าง

แม้คุณจะโชคร้ายที่เกิดเป็นเบาหวาน แต่คุณไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ตัวเองตาบอด จากเบาหวานดังเช่นบรรพบุรุษ โดยจะต้องเริ่มจากการควบคุมอาหาร ทำงานตามความเหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด รับประทานยาเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์ และที่ไม่ควรลืมก็คือ ไปพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง แม้ตาจะยังเห็นดีอยู่ แล้วดวงตาของคุณก็จะรับใช้คุณไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับคนที่ไม่เป็นเบาหวาน

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ทำไมเป็นโรคเบาหวาน
 
เบาหวานกับไขมันในเลือด
 
เบาหวาน ทำให้ไตวาย
 
เรื่องของเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
 
คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.