หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เบาหวาน มหันตภัยร้าย ออกกำลังกาย คุมอาหารช่วยได้
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


การเลี้ยงลูกให้อ้วน อาจถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของผู้เป็นพ่อแม่ แต่ปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะรู้แล้ว ว่า ความอ้วน เป็น ภัยอันตราย สุดต่อสุขภาพ และบางคนห้ามไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตัวเองอ้วน แต่ทุกคน ลืมคิดถึงผลของความอ้วน เป็นต้นต่อของ โรคเบาหวาน กำลังเล่นงานคนไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไม่มีวันหยุดได้

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคเบาหวาน กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่ทวีความรุนแรง ทั่วโลก ซึ่งเป็นภัยเงียบเกิดขึ้นที่ผู้ป่วย ไม่รู้ตัว และยังมี โรคแทรกซ้อนที่อันตราย

โดยจำนวนผู้ป่วยในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอีก เป็นจำนวนมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า ตั้งแต่ปี 2546-2548 มีประชากรโลก ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 72 โดยในปี 2546 พบเพียง 189 ล้านคน แต่ในปี 2548 เพิ่มเป็น 324 ล้านคน หรือเท่ากับ 4 % ของประชากรทั่วโลก อยู่ในทวีปเอเชีย 156 ล้านคน และในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ประมาณ 3.2 ล้านคน

สำหรับในประเทศไทย พบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยผู้ป่วยที่พบมากสุด อยู่ในผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี โดยจะพบใน หญิงมากกว่าชาย จากการสำรวจ ขณะนี้มีผู้ป่วย 3.2 ล้านคน โดยพบมากสุดในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 11 โดยมีเพียง 1 ล้านกว่าคนเท่านั้น ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 ล้านคน ไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานมาก่อน ซึ่งจะรู้ตัว เมื่อไปตรวจโรคอื่น

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ควบคุมเบาหวานได้ดีเพียง 400,000 คน หรือเพียงร้อยละ 12 ของผู้ที่เป็นโรค ส่วนที่เหลือยังควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไตวาย โรคหัวใจ ตาบอด และ ยังพบว่าผู้ป่วยเบาหวานบางรายใจร้อน ต้องการหายโดยเร็ว จึงได้เพิ่มขนาดยาลดน้ำตาล เพิ่มขนาดอินซูลินฉีด โดยการฉีดด้วยตนเอง และทำให้เกิดอาการช็อก เสียชีวิตในที่สุด ซึ่งพบได้บ่อยครั้ง

จากการสำรวจความชุกโรคเบาหวานในผู้มีอายุ 35 ปีขึ้นไป พบมีประมาณ 2 ล้านคน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งหากไม่มีการป้องกันแก้ไข จะทำให้กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11 ต่อปี หากมีการป้องกัน โดยการปรับเปลี่ยนการกินอาหาร ให้ควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาที และลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ ร้อยละ 7 ของน้ำหนักตัวเดิม จะลดอัตราการเป็นเบาหวาน ได้มากถึงร้อยละ 58

ปัจจุบันที่น่าวิตกมากกว่านั้น คือ พบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน นับวันจะมีอายุน้อยลง และยังพบได้ในเด็ก และวัยรุ่นอายุ 15-29 ปี เกือบร้อยละ 2 หรือมีต่ำกว่า 2 แสนคน จากก่อนหน้านี้ พบในวัย 40 ปีขึ้นไป โดยผลการสำรวจในรอบ 20 ปี มานี้ พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 10 เท่า สาเหตุสำคัญที่สุด มาจากความอ้วน โดยขณะนี้เด็กไทยอายุ 2-18 ปี ซึ่งจำนวนประมาณ 18 ล้านคน เป็นโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 8 ส่วนกลุ่มวัยรุ่น อายุ 13-18 ปี อ้วนร้อยละ 9 และเป็นวัยที่เป็นโรคอ้วนกันมากที่สุด และ 1 ใน 10 อยู่ในกรุงเทพมหานคร ถือว่ามากที่สุด รองลงมา ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ มีงานวิจัยยืนยันตรงกัน เด็กและวัยรุ่นที่อ้วน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะอ้วนร้อยละ 30 โดยต้นเหตุของความอ้วน ส่วนใหญ่มาจากการขาดการออกกำลังกาย นั่งดูทีวีเล่นคอมพิวเตอร์ทั้งวัน กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน อาหารสำเร็จรูป

นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า โรคเบาหวานเป็นภาวะผิดปกติของร่างกาย ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ที่พบทั่วโลกและในประเทศไทยขณะนี้ เกิดจากพฤติกรรมมากถึงร้อยละ 80 จากกรรมพันธุ์เพียงร้อยละ 20

ระดับน้ำตาลในเลือด มีผลต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ยิ่งน้ำตาลในเลือดสูงมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก และเกิดเร็วขึ้น โรคนี้เป็นเรื้อรัง ที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต

หากปฏิบัติตัวเคร่งครัด ตามคำแนะนำแพทย์ จะมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ หากดูแลไม่ดี จะมีโรคแทรกซ้อนเกิดตามมาอีก ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไตเสื่อมพบร้อยละ 44 จอประสาทตาเสื่อมร้อยละ 30 หัวใจขาดเลือดร้อยละ 8 เป็นอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ ร้อยละ 4 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งให้ทุกจังหวัด รณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพิ่มการออกกำลังกาย ลดกินหวานทุกจังหวัด ตั้งคลินิกเบาหวานในโรงพยาบาลทุกแห่ง ขยายถึงศูนย์สุขภาพชุมชน ตั้งเป้าหมายจะลดอัตราป่วย จากแสนละ 410 คน ให้ไม่เกินแสนละ 392 คน ภายในปี 2551

ด้านแพทย์หญิงอารยา ทองผิว นายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี จะเกิดโรคแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ไม่ทำให้สูญเสียชีวิตในทันที แต่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง โดยโรคนี้ จะทำให้เส้นเลือดแดงหนา และแข็งตัวผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดแดงส่วนปลาย ที่ไปเลี้ยงปลายขาตีบ ทำให้ขาดเลือด และเกิดเนื้อตาย เป็นแผลที่เท้า ทำให้เท้าเน่า ถึงขั้นต้องตัดทิ้ง ประมาณร้อยละ 2 ของผู้ป่วย และเกิดปัญหา ตาบอด ร้อยละ 1

นอกจากนี้ การเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงเกินปกติ ความดันโลหิตสูง นิ่วในถุงน้ำดี และติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากภูมิต้านทานโรคต่ำ โดยโรคเบาหวาน จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าคนปกติ 2-4 เท่าตัว อัมพาต 5 เท่า และมีผู้เบาหวานที่สูงอายุมากกว่า 50% เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ทำให้เกิดความสูญเสีย ทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ปีละไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายละประมาณ 2,000 บาทต่อครั้งต่อราย และบางรายอาจหันไปพึ่งยาสมุนไพร ซึ่งมักแอบอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วหาย 100 เปอร์เซ็นต์ ขอเตือนว่า อย่าไปหลงเชื่ออย่างเด็ดขาด เพราะเบาหวานไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นความผิดปกติในการทำงานร่างกาย

สำหรับการป้องกันโรคเบาหวาน ทำได้โดยรับประทานอาหารให้ถูกต้อง และลดอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน เช่น กะทิ อาหารทอด เพิ่มการกินผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดขนมหวาน ออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยตัวให้อ้วน หากพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป หรือตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ หรือหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หรือกินจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปัสสาวะมีมดขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ต้องพบแพทย์สม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

 

ชำนาญ ไชยศร

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.lerdsin.go.th  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน โรคคุ้นหูที่ไม่ธรรมดา
 
เบาหวาน ... น่ารู้
 
เบาหวานกับโรคหัวใจ
 
เลือกรับประทานอาหารอย่างไรเมื่อเป็นเบาหวาน
 
ฟาสต์ฟูด โรคอ้วน โรคเบาหวาน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.