การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน |
---|
ก่อนอื่น ผู้ป่วยเบาหวานต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า สภาพร่างกาย และความพร้อมด้านสุขภาพโดยทั่วไป ย่อมด้อยกว่าบุคคลทั่วไป ผลจากการวิจัยมากมาย ยืนยันความจริงข้อนี้ โดยพบว่า ทั้งชีพจร ความดันโลหิต อัตราการเผาผลาญออกซิเจน ความพร้อมของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนล้วนต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญ ของการออกกำลังกาย ในการใช้เป็นส่วนเสริม ของการบำบัดรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวานผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการสูญเสียทางสายตา มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ไต ระบบไหลเวียนโลหิต หรือ กระทั่งถึงแก่ความตาย และสาเหตุสำคัญก็คือ การที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลิน ในการดึงเอาน้ำตาลในเลือด ไปใช้ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายได้ การออกกำลังกายมีส่วนช่วยเสริม ในการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน คือเป็นหนึ่งในสามส่วนของการรักษา ได้แก่ การควบคุมอาหาร การรักษาด้วยยา และการออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการวิจัยจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า สามารถช่วยเพิ่มการทำงาน ของอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้ ทำให้สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือด เข้าไปใช้งานในเซลเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ ตามปกติ ผู้ป่วยเบาหวาน มักมีระดับไขมันในเลือดสูงด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ แต่การออกกำลังกาย จะส่งผลโดยตรง ต่อการลดระดับโคเลสเตอรอล และต่อการลดน้ำหนักตัวด้วย ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน จึงเกิดประโยชน์หลายทาง รวมทั้งการลดปัญหาแทรกซ้อนจากโรคหัวใจนี้ด้วย การออกกำลังกายป้องกันโรคเบาหวานได้หรือไม่ผลการศึกษาวารสารทางการแพทย์ ของต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคเบาหวาน จากการตรวจเลือด เมื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอุบัติการของโรคเบาหวาน ลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย จึงกล่าวได้ว่า การออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ เหตุผลสนับสนุนง่ายๆ ก็คือ การออกกำลังกาย ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องความอ้วน ท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินนั้น ร้อยละ 80 มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ดังนั้นการออกกำลังกาย เพื่อลดหรือป้องกันน้ำหนักตัวมากเกิน จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มใด ควรออกกำลังกายผู้ป่วยเบาหวานแบ่งตามการรักษาได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน กับกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน การออกกำลังกายสามารถทำได้ ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งสองกลุ่ม ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ได้รับการสนับสนุนให้ออกกำลังกายมากที่สุด ทั้งนี้เพราะมีผลแทรกซ้อน จากการออกกำลังกายน้อยกว่า และได้ผลดีจากการออกกำลังกายมากกว่า เพราะสามารถกระตุ้นการทำงาน ของอินซูลินที่ยังมีอยู่พอสมควรในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน การออกกำลังกายให้ประโยชน์ ในการเพิ่มความพร้อมของระบบหายใจ และการไหลเวียนโลหิต ช่วยลดน้ำหนักตัว และช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องปรึกษาแพทย์ ก่อนเริ่มแผนการออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพราะอาจต้องปรับลดขนาดยาอินซูลิน ที่จะฉีดก่อนการออกกำลังกาย และควรได้รับคำแนะนำ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการออกกำลังกาย และข้อควรระวังอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ควรออกกำลังกายแบบไหนจึงเหมาะสมเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระมัดระวัง ไม่ให้เกิดบาดแผลที่บริเวณเท้า ดังนั้น การออกกำลังกาย จึงควรเลือกประเภทที่ไม่มีผลต่อการบาดเจ็บที่เท้า เช่น การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน จากการวิจัยพบว่า เมื่อคนเราออกกำลังกายเป็นจังหวะ อย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 30 นาที ร่างกายจึงจะกระตุ้น ให้มีการนำเอาน้ำตาลในเลือด ไปใช้งานในเซลเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน จึงควรออกกำลังนานเกินกว่า 30 นาที โดยควรมีช่วงของการอุ่นเครื่อง 10 นาที และช่วงของการเบาเครื่อง 10 นาที ด้วย ช่วงของการออกกำลังที่เกินกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือด เข้าสู่เซลเนื้อเยื่อ ช่วงของการอุ่นเครื่อง คือ ออกกำลังเป็นจังหวะช้าๆ ช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นและไขข้อได้ ช่วงของการเบาเครื่อง คือ การผ่อนกำลังในการออกกำลังกายลง ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ทั้งนี้ เพราะหากหยุดออกกำลังกายในทันที เลือดที่กระจายอยู่ตามแขนขา เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด จากการออกกำลังกาย จะไหลเทกลับมาสู่หัวใจอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวใจรับภาระ การทำงานสูบฉีดเลือดมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ สังเกตได้จากการที่หัวใจเต้นแรงมาก เมื่อหยุดออกกำลังกายในทันทีทันใด การออกกำลังกาย อย่างมีจังหวะและสม่ำเสมอนั้น ถือเอาการใช้กำลังน้อย แต่ใช้ระยะเวลานานเป็นหลัก คือให้ออกแรงเพียงครึ่งหนึ่ง ของความสามารถสูงสุด เช่น หากออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานอยู่กับที่ ให้ออกกำลังกายด้วยความเร็วเพียงร้อยละ 50 ของความเร็วสูงสุดที่ปั่นได้ ข้อควรปฏิบัติ และข้อควรระวังในการออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สรุปการออกกำลังกาย มีผลในการรักษาโรคเบาหวาน และเป็นหนึ่งในสามส่วน ของการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน (การควบคุมอาหาร การใช้ยา และการออกกำลังกาย) โดยช่วยกระตุ้นให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น และได้ผลดีกับผู้ป่วยเบาหวาน ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน ช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนโรคหัวใจ นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ยังได้ผลชัดเจนในการป้องกัน การเกิดโรคเบาหวาน ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน เน้นที่การออกกำลังอย่างเป็นจังหวะและสม่ำเสมอนานเกินกว่า 30 นาทีด้วยแรงหรือความเร็วน้อยๆ คือเพียงครึ่งหนึ่งของที่ทำได้สูงสุด ควรมีช่วงอุ่นเครื่อง และช่วงเบาเครื่อง ที่ยาวนานกว่าปกติด้วย ข้อควรระวังที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บที่เท้า และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในระยะที่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน
พญ.จิตรา วงศ์วิวัฒนานนท์ |
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 5 - www.ram-hosp.co.th/books | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |