หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เบาหวาน (เมื่อน้ำตาลเป็นพิษ)
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคเบาหวานคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ โรคเบาหวาน เกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน หรือบางที่ไม่ขาด แต่อินซูลินที่มีอยู่ ใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้ตามปกติ ยังผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นานๆ เข้าทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้พิการหรือเสียชีวิต

โดยปกติ เมื่อเรากินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไป อาหารเหล่านี้ จะถูกย่อยกลายเป็นโมเลกุลของน้ำตาลเล็กๆ แล้วจึงถูกดูดซึมจากลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือดนำส่งเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน การใช้น้ำตาลให้เกิดพลังงานนี้ ต้องอาศัยอินซูลิน เมื่อขาดอินซูลิน น้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ น้ำตาลในเลือดนั้นมีหลายชนิด สำหรับน้ำตาลในโรคเบาหวาน เราจะหมายถึงน้ำตาลกลูโคสเท่านั้น

โรคเบาหวานที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ

ชนิดที่ 1 ต้องพึ่งอินซูลิน มักพบในคนอายุน้อย เด็กและวัยรุ่น ในผู้ใหญ่พบได้บ้าง ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทุกวัน ถ้าขาดยา อาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงถึงตายได้ เกิดจากเซลล์สร้างอินซูลินในตับอ่อนถูกทำลาย ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ทราบแน่นอน ทำให้สร้างอินซูลินได้น้อย หรือไม่ได้เลย

ชนิดที่ 2 ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เพราะตับอ่อนยังผลิตอินซูลินได้ ในจำนวนที่อาจปกติ น้อยลง หรือมากขึ้น แต่อินซูลินที่มีอยู่นั้น ไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร พบได้ในผู้ใหญ่ และคนอ้วน คนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ 2 นี้

สาเหตุของโรคเบาหวาน ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า กรรมพันธุ์ ความอ้วน การตั้งครรภ์ ความเครียด เป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งโรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เนื้องอกในต่อมหมวกไต และต่อมใต้สมอง เป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญของการเกิดโรคนี้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน

อาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมากและบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด กินเก่งขึ้น ตาพร่ามัว เป็นอาการที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าสูงมากๆ อาจถึงกับซึมหรือหมดสติได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก อาจไม่แสดงอาการเลยก็ได้ ฉะนั้นการตรวจสุขภาพจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น คนอ้วน หญิงมีครรภ์ ผู้หญิงที่คลอดบุตรมีน้ำหนักแรกคลอดเกิน 4 กิโลกรัม และผู้มีญาติพี่น้อง (โดยสายเลือด) เป็นเบาหวาน คนปกติจะมีน้ำตาลในเลือด อยู่ในช่วง 70 - 115 มิลลิกรัม ต่อ เดซิลิตร น้ำตาลในเลือดต้องสูงเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะออกมาในปัสสาวะให้ตรวจพบได้ ดังนั้นการตรวจปัสสาวะอย่างเดียว เพื่อหาเบาหวานจึงไม่เพียงพอ ต้องใช้การตรวจเลือดดูระดับน้ำตาล

จะควบคุมเบาหวานได้อย่างไร รักษาให้หายได้ไหม

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่รักษาไม่หายขาดแต่ควบคุมได้ โดยการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดชีวิต จุดประสงค์ของการรักษาเพื่อ

 
1.
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันหรือชะลอ การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ
 
2.
ให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติ หรือใกล้เคียงปกติ สามารถประกอบภาระกิจต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป

การรักษาเบาหวานให้ได้ผลดี จะต้องประกอบด้วย

  การควบคุมอาหาร
 
การออกกำลังกาย
 
การให้ความรู้เกี่ยวกับเบาหวาน แก่ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล
 
การใช้ยาลดน้ำตาล (อาจไม่จำเป็นในบางราย)

การติดตามผลการรักษา

ผู้ป่วยเบาหวาน ควรติดตามดูผลการควบคุมน้ำตาลว่า ได้ผลดีเพียงใด โดยอาจใช้การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจปริมาณฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C เป็น Glycosylated hemoglobin) และ ฟรุคโตซามีน (Fructo samin เป็น Glycosylated protein) และการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ

 
1.
การตรวจน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี อาจตรวจน้ำตาลในเลือดเดือนละครั้ง แต่ผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ อาจจะต้องตรวจน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือวันละหลายครั้ง ผู้ป่วยอาจตรวจเองที่บ้านได้ โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กพกพาได้ ใช้เลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว หยดลงบนแผ่นอาบน้ำยาเข้าเครื่องตรวจ อ่านออกมาเป็นตัวเลข เครื่องมือนี้มีหลายแบบ และผลิตจากหลายบริษัท ราคาก็ต่างๆ กัน การตรวจชนิดนี้สิ้นเปลืองพอสมควร
 
2.
การตรวจ HbA1C และ Fructosamine ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการเท่านั้น HbA1C เป็นน้ำตาลที่จับกับฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดแดง Fructosamine เป็นน้ำตาลที่จับกับโปรตีนในเลือด ค่า HbA1C บอกถึงการควบคุมน้ำตาลในช่วง 4 - 6 สัปดาห์ ก่อนการตรวจ ส่วนค่า Fructosamine บอกถึงระดับน้ำตาลในช่วง 7 - 10 วัน ก่อนตรวจ
 
3.
การตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ อาจใช้ยาเม็ดสำหรับตรวจ หรือใช้แผ่นทดสอบน้ำตาล ตรวจก่อนมื้ออาหาร และก่อนนอน วิธีนี้ใช้ไม่ได้ในคนที่ไตเสื่อม มีข้อเสียคือ บอกระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และน้ำตาลในเลือดจะต้องสูงพอสมควร คือเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จึงจะตรวจพบได้ ใช้บอกได้คร่าวๆ เท่านั้น

โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน

โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และโรคแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 500 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิต) มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมาก และควบคุมน้ำตาลไม่ดี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ต้องใช้อินซูลินแล้วขาดยา อาจเกิดในคนที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเป็นเบาหวานก็ได้ จะมีอาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจหอบ ซึม เลอะเลือน และหมดสติในที่สุด ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาล มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบได้บ่อยและอาจรุนแรงจนเสียชีวิต เกิดกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยากิน หรือ ยาฉีดสาเหตุจากการใช้ยามากเกินไป หรือใช้ยาเท่าเดิมแต่อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป จะมีอาการ หิว หงุดหงิด ปวดศีรษะ ตาลาย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ชาตามปาก อ่อนเพลีย หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตัวเย็น สับสน (ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบหมดทุกอย่าง) ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นลมหมดสติหรือชักได้ ถ้าเป็นตอนกลางคืนขณะหลับจะฝันร้าย และปวดศีรษะในตอนเช้า อาการน้ำตาลต่ำนี้ อาจเป็นอยู่นานหลายวัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้

วิธีรักษา เมื่อเริ่มมีอาการ ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ 1/2 แก้ว หรือกินน้ำตาล อมลูกกวาด จากนั้นให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพราะอาจต้องปรับยาที่ใช้อยู่ประจำ ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ป้องกันได้โดยการกินอาหารให้เป็นเวลา กินอาหารเพิ่มก่อนการออกกำลังกายที่หนักๆ หรือนานๆ กินของว่างหรือดื่มนมรองท้องไปก่อน ถ้าต้องเลื่อนเวลาอาหารออกไป

โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง

พบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหลายปี และควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงอยู่นานๆ นี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระบบหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเป็นอันตรายแอบแฝง กว่าจะรู้ตัวเมื่อเกิดอาการก็สายเกินไป ยากจะรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้ โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยต้องการพิการ หรือเสียชีวิต สิ้นเปลืองทั้งเวลา และค่ารักษาพยาบาลเป็นอันมาก

ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรได้ตระหนักถึงอันตรายแอบแฝงต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การดูแลตนเองที่ดี และการปฏิบัติตัวถูกต้องเท่านั้น ที่จะช่วยป้องกันอันตรายเหล่านี้ได้

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

 
1.
ควบคุมอาหารสม่ำเสมอ
 
2.
ออกกำลังกาย ตามความเหมาะสมกับสภาวะร่างกาย
 
3.
ใช้ยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
 
4.
ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน และวิธีปฏิบัติตัว
 
5.
พบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อวัดผลการควบคุมน้ำตาล และตรวจหาโรคแทรกซ้อน
 
6.
ตรวจน้ำตาลในเลือด หรือในปัสสาวะบ่อยๆ โดยเฉพาะในรายที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี
 
7.
พกน้ำตาล ทอฟฟี่ หรือลูกกวาดติดตัวเสมอ และใช้ทันทีเมื่อมีอาการน่าสงสัยว่าน้ำตาลต่ำ
 
8.
หมั่นตรวจเท้าทุกวัน ห้ามสวมรองเท้าคับ
 
9.
ปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการเจ็บไข้ มีอาการน้ำตาลต่ำ มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีบาดแผล หรือแผลที่เท้า และเมื่อตั้งครรภ์

 

 

แพทย์หญิงวนิดา พยัคฆพันธ์
แผนกอายุรกรรม

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 5 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน โรคคุ้นหูที่ไม่ธรรมดา
 
สาระความรู้เรื่องโรคเบาหวาน
 
เบาหวาน ... น่ารู้
 
รู้ทันเบาหวาน
 
โรคเบาหวาน กับ ภาวะไตวาย
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.