หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เบาหวาน - ข้อแนะนำ และการป้องกัน
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ข้อแนะนำ

 
1.
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง อาจมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ แต่ถ้ารักษาไม่จริงจัง ก็อาจมีอันตรายจากโรคแทรกซ้อนได้มาก จึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ มิเช่นนั้น ผู้ป่วยมักจะดิ้นรน เปลี่ยนหมอไปเรื่อยๆ หรือหันไปรักษาทางไสยศาสตร์ หรือกินยาหม้อ หรือสมุนไพรแทน
     
 
2.
ผู้ป่วยที่กินยา หรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ บางครั้งอาจเกิด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำคือ มีอาการใจหวิวใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็นเหมือนเวลาหิวข้าว ถ้าเป็นมากๆ อาจเป็นลมหมดสติ หรือชักได้ ควรบอกให้ผู้ป่วย ระวังดูอาการดังกล่าว และควรพกน้ำตาล หรือของหวานติดตัวประจำ ถ้าเริ่มรู้สึกมีอาการดังกล่าว ให้ผู้ป่วยรีบกินน้ำตาล หรือของหวาน จะช่วยให้หายเป็นปลิดทิ้งทันที (ถ้าตรวจปัสสาวะตอนนั้น จะไม่พบน้ำตาลเลย) ผู้ป่วยควรทบทวนดูว่า กินอาหารน้อยไป หรือออกกำลังมากไปกว่า ที่เคยทำอยู่หรือไม่ ควรปรับทั้งสองอย่างให้พอดีกัน จะช่วยป้องกันมิให้เกิด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ถ้ายังเป็นอยู่บ่อยๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ที่รักษา อาจต้องลดยาเบาหวานลง ผู้ป่วยที่กินอาหารผิดเวลา ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน จึงต้องหมั่นกินข้าวให้ตรงเวลา
     
 
3.
ผู้ป่วยอย่าซื้อยาชุดกินเอง เพราะยาบางอย่าง อาจเพิ่มน้ำตาลในเลือดได้ เช่น สเตอรอยด์, ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น และยาบางอย่าง อาจเสริมฤทธิ์ของยารักษาเบาหวาน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่น  แอสไพริน, ยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตอรอยด์, ซัลฟา เป็นต้น ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาเอง ต้องแน่ใจว่า  ยานั้นไม่มีผลต่อ ระดับน้ำตาลในเลือด
     
 
4.
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีญาติพี่น้อง เป็นเบาหวาน หรือคนอ้วน ควรตรวจเช็กปัสสาวะ หรือเลือดเป็นครั้งคราว หากพบเป็นเบาหวาน ในระยะเริ่มแรก จะได้ให้การรักษาแต่เนิ่นๆ
     
 
5.
ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้
   
 
•
พบแพทย์และตรวจเลือดตามนัด ขอย้ำว่า ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย (140-200มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติให้รู้สึกได้  อาจทำให้คนไข้ชะล่าใจ ปล่อยตัว จนอาจเกิดโรคแทรกซ้อน ในระยะยาวได้ หากเป็นไปได้ ควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด ทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
     
 
•
กินยาลดน้ำตาล หรือฉีดอินซูลิน ตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่าลดยา หรือปรับยาตามความรู้สึก หรือการคาดเดา ของตัวเองเป็นอันขาด ควรใช้ยาและกินอาหารให้เป็นเวลา (ตรงเวลาทุกมื้อ) ปริมาณอาหารให้พอๆ กันทุกวัน
     
 
•
ควรควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้
   
 
1.
  กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกัน ทุกวันทุกมื้อ     
 
2.
  อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา
 
3.
  ในแต่ละมื้อ ให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก
 
4.
  ห้ามกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด (เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาล
 
5.
  ถ้าชอบหวาน ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
 
6.
  ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
 
7.
  หลีกเลี่ยงการกิน เครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีมกะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด (เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด ข้าวเกรียบ)
 
8.
  หลีกเลี่ยง อาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง)
 
9.
  กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ถั่ว ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
 
10.
  กินผักให้มากๆ (ปริมาณไม่จำกัด) โดยเฉพาะผัก ประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกะเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ฯลฯ
 
11.
  กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก ได้มื้อละ 6-8 คำ เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สับปะรด
     
 
•
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก ควรทำในปริมาณพอๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม ทั้งการควบคุมอาหาร และการออกกำลัง ควรให้เกิดความพอเหมาะ ที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าอ้วนเกินแสดงว่า ยังปฏิบัติ ทั้ง 2 เรื่องนี้ ไม่ได้เต็มที่
     
 
•
พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียด หรือวิตกกังวล
     
 
•
ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้น อาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ
     
 
•
หมั่นดูแลรักษาเท้า ดังนี้
   
 
1.
  ทำความสะอาดเท้า และดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำ ควรล้างและฟอกสบู่ ตามซอกนิ้วเท้า และส่วนต่างๆ ของเท้าอย่างทั่วถึง หลังล้างเท้าเรียบร้อยแล้ว ซับทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณซอก\นิ้วเท้า ให้แห้งด้วยผ้าขนหนู ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไป เพราะผิวหนังอาจถลอกเป็นแผลได้     
       
 
2.
  ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งเกินไป ควรใช้ครีมทาผิวทาบางๆ โดยเว้นบริเวณ ซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า
       
 
3.
  ตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้าบริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนัก และรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผล หรือการอักเสบหรือไม่ หากมีแผลที่เท้า ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
       
 
4.
  การตัดเล็บ ควรตัดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเล็บขบ ซึ่งอาจลุกลาม และเป็นสาเหตุ ของการถูกตัดขาได้
- ควรตัดเล็บในแนวตรงๆ และอย่าให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป
- ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ
- การตัดเล็บ ควรทำหลังล้างเท้า หรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย
ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้
       
 
5.
  ป้องกันการบาดเจ็บและเกิดแผล โดยการสวมรองเท้าทุกครั้ง ที่ออกจากบ้าน (อย่าเดินเท้าเปล่า) ควรเลือกรองเท้า ที่สวมพอดี ไม่หลวม ไม่บีบรัด พื้นนุ่ม มีการระบายอากาศ และความชื้นได้  ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ โดยเลือกสวมถุงเท้าที่สะอาด ไม่รัดแน่น และเปลี่ยนทุกวัน ก่อนสวมรองเท้า ควรตรวจดูว่า มีวัตถุมีคมตกอยู่ในรองเท้าหรือไม่ สำหรับรองเท้าคู่ใหม่ ในระยะเริ่มแรก ควรใส่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้รองเท้าค่อยๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี
       
 
6.
  หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า และไม่ควรซื้อยา กัดลอกตาปลามาใช้เอง
       
 
7.
  ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวด หรือกระเป๋าน้ำร้อน หรือประคบด้วยของร้อนใดๆ จะทำให้เกิดแผลไหม้พองขึ้นได้ และไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้นแต่อย่างใด
       
 
8.
  ถ้ามีตุ่มหนอง มีบาดแผล หรือการอักเสบที่เท้า ควรรีบไปหาแพทย์รักษา อย่าใช้เข็มบ่งเอง หรือใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ชะแผล ควรล้างแผล ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ และปิดแผล ด้วยผ้ากอซที่ปลอดเชื้อ และติดด้วยพลาสเตอร์อย่างนิ่ม (เช่น ไมโครพอร์) อย่าปิดด้วยพลาสเตอร์ธรรมดา
     
 
•
ผู้ที่กินยา หรือฉีดยารักษาเบาหวาน อยู่ประจำทุกวัน ถ้าหากมีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืดตาลาย ตัวเย็น อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบกินน้ำตาล หรือของหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่กินอาหารน้อย หรือกินผิดเวลา ทำงานหรือออกกำลังกาย หักโหมกว่าปกติ
     
 
•
หมั่นตรวจน้ำตาล ในปัสสาวะด้วยตนเอง ช่วยให้รู้ได้คร่าวๆ ว่า ควบคุมเบาหวานได้ดีเพียงไร ควรปรึกษาแพทย์ ถึงเทคนิคการตรวจ และความถี่ของการตรวจ การสังเกตจากอาการเพียงอย่างเดียว บอกไม่ได้ว่า ควบคุมโรคได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ ควรซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีเทคนิคการตรวจอย่างง่ายๆ ไว้ตรวจเองที่บ้านทุกวัน จะช่วยให้สามารถ ประเมินผลการรักษา และปรับอาหาร ให้สอดคล้อง กับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
     
 
•
ควรพกบัตรประจำตัว ที่ระบุถึงโรคที่เป็น และยาที่ใช้รักษา หากระหว่างเดินทางไปไหนมาไหน ประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมหมดสติ แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือ ที่ถูกต้อง และทันท่วงที

การป้องกัน

โรคนี้อาจป้องกันได้ โดย การรู้จักกินอาหาร (ลดของหวานๆ อาหารพวกแป้งและไขมัน กินอาหารพวกโปรตีน ผัก และผลไม้ให้มากๆ) อย่าปล่อยตัวให้อ้วน หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน อย่าให้เครียด หรือวิตกกังวล

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.thailabonline.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน โรคคุ้นหูที่ไม่ธรรมดา
 
รู้ทันเบาหวาน
 
สาระ่น่ารู้ - เบาหวาน
 
เบาหวานกับไขมันในเลือด
 
เบาหวาน ทำให้ไตวาย
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.