แมมโมแกรมคืออะไร
แมมโมแกรมคือ การถ่ายเอกซเรย์เต้านมทั้ง 2 ข้าง ตามปกติจะทำ 2 ท่า คือถ่ายเต้านมด้านตรง (Craniocaudal view- CC) และแนวเอียง (Mediolateral oblique-MLO)
ทำไมต้องทำแมมโมแกรม
ปัจจุบันนี้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในประเทศไทยพบสูงขึ้นเรื่อยๆ ในกรุงเทพฯ มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิง แมมโมแกรมเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจาก ทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการตรวจพบหินปูนในเต้านม ซึ่งหินปูนบางชนิดพบในมะเร็ง เต้านมระยะเริ่มแรกซึ่งไม่สามารถค้นพบจากการตรวจร่างกาย
อายุเท่าไรที่สมควรทำแมมโมแกรม
ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง (มารดา, พี่สาว, น้องสาว) เป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุเท่ากับญาติสายตรงที่เป็นลบอีก 5 ปี
ควรทำแมมโมแกรมบ่อยเพียงใด
ผู้หญิงทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติควรรับการตรวจทุก 1-2 ปี
กลุ่มใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ควรมาตรวจแมมโมแกรมทุก 1 ปี
|
|
ผู้หญิงที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม (มารดา , พี่สาว , น้องสาว , บุตรสาว) |
|
|
ผู้ที่เคยรับการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณหน้าอก |
|
|
ผู้ที่รับยาฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ |
|
|
ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง |
|
|
ผู้ที่ได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อพบภาวะที่เรียกว่า Atypical ductal hyperplasia |
กำลังมีประจำเดือนอยู่ทำแมมโมแกรมได้หรือไม่
พบว่าระยะของประจำเดือน ไม่มีผลต่อภาพที่ได้จากแมมโมแกรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วงที่ใกล้มีประจำเดือน หรือกำลังมีประจำเดือนอยู่ เต้านมจะมีการคัดตึงตามธรรมชาติ ทำให้เจ็บเวลากด เต้านมขณะทำแมมโมแกรม ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจคือ 7-14 วันหลังมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ต้องกังวลถ้าวันนัดของท่านไม่ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าว
ทำแมมโมแกรมเจ็บหรือไม่
ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรมจำเป็นต้องมีการกดเต้านม โดยมีจุดประสงค์หลัก เพื่อทำให้เนื้อเต้านมแผ่ออกไม่บังสิ่งผิดปกติถ้ามี
นอกจากนี้ยังลดปริมาณรังสีที่เต้านมจะได้รับ แต่ท่านไม่ต้องกังวลว่าการตรวจจะเจ็บมาก เพราะจากการศึกษาของศูนย์ตรวจวินิจฉัยเต้านมโรงพยาบาลรามาธิบดี จากจำนวนผู้รับการตรวจ 765 ราย 23% บอกว่าไม่เจ็บเลย, 48% เจ็บเล็กน้อย 25% เจ็บปานกลาง มีเพียง 4 % ที่บอกว่าเจ็บมาก
การทำแมมโมแกรมได้รับรังสีมากไหม
ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการทำแมมโมแกรมน้อยมากๆ ไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดอันตรายในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการตรวจท่านควรแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
การทำแมมโมแกรมเชื่อถือได้ 100% หรือไม่ว่าจะไม่พบมะเร็ง
มีภาวะบางประการที่ทำให้แมมโมแกรมมีข้อจำกัด ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ความหนาแน่นของเนื้อเต้านม เต้านมคนเรามีส่วนประกอบหลักๆ คือ ส่วนที่เป็นเนื้อของเต้านม (รวมท่อน้ำนม , ต่อมน้ำนม , เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) และส่วนที่เป็นไขมัน ในรายที่เนื้อเต้านมหนาแน่นมาก เช่น อายุน้อย เนื้อเต้านมมีโอกาสบังสิ่งผิดปกติทำให้ตรวจไม่พบ นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่เราไม่ทำแมมโมแกรม ในผู้หญิงอายุน้อยที่ไม่มีอาการผิดปกติของเต้านม
นอกจากนี้มะเร็งระยะต้นบางกรณี อาจตรวจพบได้ยาก หรือไม่สามารถแยกจากความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็งได้ โดยรวมแมมโมแกรม อาจให้ผลปกติแม้มีมะเร็งเต้านมอยู่ โดยมีโอกาสพบกรณีเช่นนี้ได้ประมาณ 10% ดังนั้นที่ศูนย์ตรวจวินิจฉัยเต้านม จึงนำอัลตราซาวด์มาใช้เสริมกับแมมโมแกรม เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจมากขึ้น
การตรวจคัดกรอง (Screening) มะเร็งเต้านม นอกจากแมมโมแกรมแล้วยังมีวิธีอื่นหรือไม่
จริงๆ แล้วแมมโมแกรมเป็นเพียงหนึ่งในสามวิธีที่ใช้ในการตรวจหามะเร็งเต้านม ซึ่งประกอบด้วย:
|
1. |
การตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน |
|
|
การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการอบรมทุก 6 เดือน-1 ปี |
|
3. |
การตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี |
|