มะเร็งเป็นโรคหนึ่ง ที่คุกคามมนุษย์มากขึ้นทุกขณะ สามารถเกิดขึ้นได้ในเกือบทุกระบบของร่างกาย เมื่อเป็นแล้วก็จำเป็นต้องรักษา
ซึ่งอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน การให้เคมีบำบัด ก็เป็นวิธีการพื้นฐานหนึ่งที่ใช้กันมาก การให้เคมีบำบัดมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
ให้อย่างไร ให้ผลอย่างไร ต้องดูแลและระวังตัวอย่างไร และควรต้องเตรียมตัวอย่างไร
อันที่จริงความหมายของยาเคมีบำบัด คือ การให้ยาที่จะไปควบคุม หรือทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งยาจะไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และโดยทั่วไปเซลล์ปกติของร่างกาย ที่มีการแบ่งตัวมากๆ เช่น เซลล์ของเม็ดเลือด เซลล์ของเยื่อบุทางเดินอาหาร ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากกว่าเซลล์ชนิดอื่นๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นที่คล้ายคลึงกันคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ปากอักเสบ โดยอาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยา ขนาดของยาที่ให้ สภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้รับ ซึ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากบางคนกลัวมาก พอขับรถมาถึงหน้าโรงพยาบาล ยังไม่ทันได้กลิ่นยาด้วยซ้ำไป ก็เริ่มเกิดอาการแล้ว (อันนี้เป็นเรื่องจริงนะครับ)
ยาเคมีบำบัดโดยทั่วไปมีอยู่สองรูปแบบ คือ ชนิดรับประทาน และชนิดฉีดเข้ากระแสเลือด สำหรับระยะเวลาในการให้นั้น แล้วแต่ชนิดของโรค และชนิดของยา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนด เช่น ให้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือเดือนละหนึ่งครั้ง จะให้ไปนานเท่าใดก็แล้วแต่โรค
และแล้วแต่ยา บางชนิดถูกกำหนดให้เป็นคอร์ส ประมาณ 6-8 คอร์ส บางชนิดถูกกำหนดเป็นเวลา เช่น ให้ไป 1-2 ปี บางชนิดให้ไปเรื่อยๆ เพื่อคุมไม่ให้โรคกำเริบ และมีการปรับยาขึ้นลงแล้วแต่ความจำเป็น รายละเอียดแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นคนกำหนดครับ หากต้องให้นาน
ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ครับ กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งคนข้างเคียงในครอบครัว จะเป็นผู้ที่ให้กำลังใจดีที่สุด
ต้องมีการเตรียมตัวหรือไม่ เมื่อต้องรับยาเคมีบำบัด?
โดยทั่วไปก็คงต้องรักษาสุขภาพกาย และสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง รับประทานอาหารให้ครบหมู่ เพื่อตุนไว้ตอนร่างกายได้รับยา ซึ่งอาจจะทำให้เพลียและรับประทานไม่ค่อยได้ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ควรเตรียมพร้อมในด้านจิตใจและอารมณ์ ทำใจให้ได้ ความหวาดกลัวจะได้ลดลง อาการข้างเคียงบางอย่างก็จะลดลงไปด้วย ต้องมั่นใจในตัวแพทย์ผู้รักษา าารแพทย์ปัจจุบัน มียาเพื่อใช้ลดผลข้างเคียงของเคมีบำบัดได้ดี อาการคลื่นไส้อาเจียนจะลดลงอย่างมาก การที่มีเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดงต่ำ ก็มียากระตุ้น ดังนั้นอย่าวิตกกังวลมากเกินไป ขณะได้รับยาเคมีบำบัด ควรสังเกตอาการต่างๆ ด้วย เช่น ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา มีอาการปวด เจ็บ แดง ร้อน เกิดขึ้นหลังการฉีดหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ยาซึมออกนอกหลอดเลือด หรือเกิดการอักเสบ ติดเชื้อขึ้น หลังจากได้รับเคมีบำบัด
ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อเป็นการช่วยร่างกาย ในการขับสารเคมีออกมาภายนอก และหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อเพิ่มปริมาณยาที่ใช้แก้ไขอาการ
หลายคนที่ต้องรับเคมีบำบัด จะมีความรู้สึกฝังใจหรือกลัวการให้ยา โดยเฉพาะในคอร์สแรก ซึ่งสามารถส่งผลต่อการควบคุม อาการข้างเคียงในคอร์สต่อๆ ไปให้มากขึ้นครับ ส่วนเรื่องของอาหา รควรรับประทานครั้งละไม่มาก แต่ให้บ่อยครั้ง ต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนแล้ว อาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเล ควรงดเนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องเสีย และติดเชื้อทางเดินอาหารได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มันจัด และกลิ่นฉุน ควรงดอาหารที่เป็นกระดูกแข็ง และต้องกัด แคะ เนื่องจากมีโอกาสที่จะตำและทำให้เกิดแผลในปากได้
ควรดื่มน้ำอุ่นๆ น้ำส้ม หรือน้ำมะนาว ควรบ้วนปากหลังจากรับประทานอาหารทุกครั้ง ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือเจือจาง
การให้ยาเคมีบำบัดโดยทั่วไปแล้ว จะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลง เม็ดเลือดขาวต่ำลง เกล็ดเลือดต่ำลง ดังนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องการติดเชื้อง่าย และมีเลือดออกผิดปกติ ดังนั้นข้อปฏิบัติระหว่างการได้รับยาคือ ควรดูแลความสะอาดของร่างกายให้ดี ควรหลีกเลี่ยง
อย่าใกล้ชิดคนที่เป็นไข้ ไม่สบาย เนื่องจากจะมีโอกาสติดต่อได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ตลาด
ศูนย์การค้า ควรรับประทานอาหารที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อ ผักสดควรงด อาหารต้องผ่านการปรุง และฆ่าเชื้อด้วยความร้อนก่อน ผลไม้ต้องเลือกรับประทานผลไม้ที่มีเปลือก โดยนำมาปอกเปลือกทิ้ง และรับประทานทันที อย่าซื้อผลไม้สำเร็จรูป ที่ปอกเปลือกแล้วมารับประทาน เพื่อลดปัญหาเรื่องการติดเชื้อ หากมีอาการผิดปกติบางอย่าง ต้องรีบไปพบแพทย์ เช่น มีไข้ มีท้องผูกหรือท้องเดิน มีแผลในปากมาก
เจ็บคอ ไอ มีอาการหอบเหนื่อย มีเลือดออกง่าย มีจุดหรือจ้ำเลือดเกิดขึ้นตามร่างกาย ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด
ปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการปวดบวมแดงร้อน ที่ตำแหน่งที่ฉีดยาหรือตำแหน่งอื่นๆ และดูแลร่างกายให้ดี พยายามอย่าให้เกิดแผล
อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี ฝุ่นและมลพิษน้อยที่สุด อุณหภูมิสบายตัวไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งตกอกตกใจนะครับ ผลข้างเคียงทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เกิดขึ้นในบางคนเท่านั้น และจะมากน้อยต่างกันไป บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ ที่นำมาเล่าให้ฟังเพื่อให้รู้นะครับ ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด...
รศ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล
|