หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เคมีบำบัด คืออะไร
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เคมีบำบัด หมายถึง การรักษาด้วยยา เพื่อควบคุมหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต และแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง บางครั้งอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ ผมร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดของยา สภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ป่วย

วิธีการให้ยาเคมีบำบัดแบ่งง่ายๆ เป็น 2 วิธี

•  ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน

•  ยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

ระยะเวลาของการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์แนะนำและกำหนดเวลา ตลอดจนเลือกยาที่ได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย ความถี่ของการให้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักและซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาครั้งต่อไปได้ ผู้ป่วยบางรายอาจท้อแท้ เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนานของการรักษา ถ้าหากมีความกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล แพทย์อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาให้เหมาะสมขึ้น ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตรงตามแพทย์นัด ให้ยาตรงตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบหรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง

การเตรียมตัวก่อนได้รับยาเคมีบำบัด

ด้านร่างกาย

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และเพิ่มการนอนพักในตอนกลางวัน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
  • ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ

ด้านจิตใจ

  • ควรทำอารมณ์ จิตใจ พร้อมรับการรักษา
  • ลดความกลัว ความวิตกกังวล
  • มั่นใจในวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งสามารถลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ถ้าท่านรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับโรค การดูแลรักษาตนเอง ควรปรึกษาแพทย์และพยาบาล

การดูแลตนเองขณะรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการรักษา ถ้าผู้ป่วยร่วมมือด้วยการดูแลตัวเองและร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ควรดูแลตนเองดังนี้

  • สังเกตผิวหนังบริเวณที่ฉีดยา ถ้ารู้สึกปวด บวม แดง หรือสงสัยมียารั่วซึมออกนอกหลอดเลือด ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับสารเคมีที่อาจตกค้างในร่างกายออกทางปัสสาวะ
  • ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้แจ้งพยาบาลทันที เพื่อรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อาการที่ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การบำบัดรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจะได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อเป็นมากแล้ว ผลข้างเคียงบางประการถ้าไม่รักษาทันท่วงที อาจนำไปสู่ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น อาการไข้ ระหว่างที่เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจนำไปสู่อาการช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อาการสำคัญที่ควรปรึกษาแพทย์ พอสรุปได้ดังนี้

  • มีแผลในปากและคอ
  • ซึมลง ชัก หรือมีอาการเกร็งผิดปกติ
  • ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ( 101 องศาฟาเรนไฮต์)
  • ท้องผูกหรือท้องเดินอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลด หรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการบวมผิดปกติ
  • ไอ มีเสมหะ
  • เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก
  • เลือดออกง่าย หรือไม่หยุด หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีผื่นขึ้นตามลำตัว
  • มีอาการปวดท้องรุนแรง
  • คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
  • บริเวณให้ยา ปวดแสบ ปวดร้อน บวมแดง
  • มีการติดเชื้อเกิดขึ้น

การปฏิบัติตนระหว่างและหลังรับยาเคมีบำบัด

  • รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด กลิ่นฉุน ควรดื่มน้ำอุ่นๆ น้ำส้ม น้ำมะนาว
  • บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นๆ หรือน้ำเกลือเจือจางหลังรับประทานอาหารหรือหลังอาเจียนทุกครั้ง

เบื่ออาหาร

  • รับประทานอาหารย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง
  • ดูแลความสะอาดของช่องปากและฟัน
  • การออกกำลังกายเบาๆ ก่อนมื้ออาหาร 5-10 นาที

ท้องเสีย

  • งดอาหารประเภทของหมักดอง
  • รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย ไม่มีกาก
  • ดื่มน้ำเกลือแร่เสริม
  • ถ้าอาการไม่ทุเลา ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข

อ่อนเพลีย ภาวะซีด

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แป้ง เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มการนอนพักกลางวัน วันละ 1-2 ชั่วโมง

เยื่อบุช่องปากอักเสบ

  • รักษาความสะอาดในช่องปาก แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มๆ บ้วนปากด้วยน้ำหรือน้ำเกลือบ่อยๆ และหลังรับประทานอาหาร
  • รับประทานอาหารอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ร้อนจัด
  • งดบุหรี่ เหล้า หมาก
  • ดื่มน้ำมากๆ

ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

  • ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัด วัณโรค
  • รับประทานอาหารที่สุก สะอาด งดผักสด
  • สังเกตการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง เจ็บคอ ปัสสาวะแสบขัด ให้รายงานแพทย์หรือพยาบาลทราบ

ผมร่วง

ยาเคมีบำบัดบางชนิด ทำให้ผมร่วงหมดศีรษะ แนะนำให้ซื้อวิกผมมาใส่ และเมื่อจบการรักษา ผมจะงอกขึ้นมาเป็นปกติ

โปรดระลึกไว้เสมอ : อาการข้างเคียงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดการรักษาอาการต่างๆก็จะหายไป

การปฎิบัติตนเมื่อกลับบ้าน

  • ท่านควรปฎิบัติตามคำแนะนำต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • กรณีมีอาการผิดปกติ เช่นมีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ ให้ติดต่อเพื่อนัดพบแพทย์ก่อนวันนัดเดิม
  • กรณีไม่มีอาการผิดปกติ ควรมาตรวจอย่างสม่ำเสมอตามวันและเวลาที่แพทย์นัด
 
       
    แหล่งข้อมูล : คลีนิคอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง...ตัวร้าย
 
การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก
 
การป้องกัน และลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
 
พืช ผัก ผลไม้ เมนูพิชิตมะเร็ง
 
กินเป็น อยู่เป็น ไม่เป็นมะเร็ง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.