มีประโยชน์มาก เมื่อเริ่มมีศูนย์ฯ (ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน) อะไรก็ดีขึ้น ป่าชายเลนสมบูรณ์ขึ้น ส่วนพันธุ์สัตว์น้ำ มีปูไข่นอกกระดอง ทางศูนย์ฯ จะเอากระชังลอยน้ำไว้ ถ้าสมาชิกได้ปูนอกกระดอง ก็นำไปคืนศูนย์ฯ จะได้ขยายพันธุ์ออกมาอีก โดยเขี่ยไข่ออกมา จะได้เป็นตัวให้เราจับต่อไป...
นายกิมเหล็ง คุมคณะ ประธานกลุ่มเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี
จากคำกล่าวของนายกิมเหล็ง สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หลังการถือกำเนิดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ผืนป่าชายเลน สัตว์น้ำ ได้มีความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีอาชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเพาะเลี้ยงและจับสัตว์น้ำไปขาย
สำหรับป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ต้องถือว่าฟ้ามาโปรดอย่างแท้จริง เพราะจากเดิมที่เคยเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม จนแทบจะร้างไร้ประโยชน์ แต่แล้วในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงประกอบพิธีเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำรัส แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีว่า
"ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนา ด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี"
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานเงิน ที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสนั้น เป็นทุนเริ่มดำเนินการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 จังหวัดจันทบุรีได้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ขึ้นที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฟื้นฟู ดูแลสภาพแวดล้อม ของชายฝั่งทะเลให้มีสภาพสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลกว่า 2,000 ไร่
นับแต่นั้นมา ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ได้พลิกฟื้นกลายเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์ มากไปด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย ในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย นอกจากนี้ ศูนย์ฯ พัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่น แห่งภาคตะวันออก ซึ่งมีรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือรางวัลกินรี ประเภทองค์กรส่งเสริม และพัฒนาการท่องเที่ยว ใน ปีพ.ศ.2545 การันตีในคุณภาพ
ตื่นตาตื่นใจกับสัตว์น้ำนานาพันธุ์
ก่อนที่เราจะออกกำลังกาย ชมสีสันของพืชและสัตว์บนสะพานไม้ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ของอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มรื่น ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ แนะนำว่าควรแวะที่ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ก่อน เพื่อเรียกน้ำย่อยรับออร์เดิร์ฟ เติมความรู้ให้ตัวเอง
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม ปลาในแนวปะการัง และปลาที่มีรูปร่างแปลก ที่ถือว่าได้ว่าเป็นพันธุ์ปลาที่หายาก ในแถบทะเลตะวันออก อาทิ ปลาการ์ตูน (นีโม) ปลาผีเสื้อลายไขว้ หอยมือเสือ ปลาสิงโต ปลานกขุนทองปากหนา ปะการังเขากวาง ปะการังดอกแดง ฯลฯ
สำหรับสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำหลังนี้ แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต แต่ว่าภายในกลับเต็มไปด้วย สีสันของโลกใต้ทะเล ที่ชวนน่าตื่นตาตื่นใจอยู่มากหลายทีเดียว
สนุกเพลิดเพลินบนทางเดินศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นสะพานไม้ที่ทอดตัวหายเข้าไปในผืนป่าชายเลนที่ดูร่มครึ้ม และดูไม่แปลกแยกกับสภาพแวดล้อม
สำหรับสะพานไม้สายนี้ ยาวประมาณ 1,600 เมตร ซึ่งหากเดินชมพันธุ์ไม้ ปู ปลา แบบเรื่อยๆ เอื่อยๆ สบายอารมณ์ก็ใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง แต่หากว่าจะเดินชมกันแบบเพ่งพินิจพิจารณา งานนี้เห็นที่ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ทีเดียว และหากใครอยากได้ความรู้แบบเจาะลึกแน่นเอี๊ยด ก็ควรติดต่อให้เจ้าหน้าที่ของทางศูนย์มานำชมด้วย เพราะเจ้าหน้าที่แต่ละคน เข้าขั้นระดับกูรูป่าชายเลนทั้งนั้น
ระหว่างทางจะมีศาลาให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ของป่าชายเลน รวมถึงป้ายสื่อความหมายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ไปเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง
ส่วนที่สร้างความเพลิดเพลินในจิตใจได้เป็นอย่างดี ก็เห็นจะเป็นระบบนิเวศของป่าชายเลน อันหลากหลายแต่ว่าต่างก็อยู่ร่วมกัน อย่างผสมกลมกลืนเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน นั่นโกงกางใบเล็ก โน่นโกงกางใบใหญ่ที่โผล่รากออกมา ช่วยหายใจเต็มผืนเลน นอกจากนี้ก็มี ต้นฝาด ต้นฝาดแดง แสมขาว แสมดำ ลำพู ลำแพน ตะบูน ประสัก ฯลฯ ส่วนที่น่าเศร้าใจในช่วงแรก ก็เห็นจะเป็น ตอแสม ขนาดเขื่อง ที่ถูกไฟจากน้ำมือมนุษย์เผาตายสนิท...นี่แหละหนาฤทธิ์เดชของคนที่หากไม่อนุรักษ์ไว้ อนาคตบางทีป่าชายเลนแห่งนี้ จะสูญสิ้นไปจากเมืองไทยก็ได้
นอกจากต้นไม้สารพัดชนิดแล้ว สิ่งที่ทำให้ต้องเหลียวมองตามแทบทุกครั้ง เมื่อเห็นพวกมัน ก็คือ ปลาตีนที่วิ่งดุ๊กๆไปมาในดินเลน ปูสีสันสดใส ที่รู้สึกได้ถึงความไม่ชอบมาพากล ก็จะวิ่งมุดข้ารูในทันที
ส่วนปูก้ามดาบหรือที่หลายๆ คนเรียกว่า ปูผู้แทน เพราะลักษณะการชูก้าม เหมือนการยกมือของ ส.ส.ในสภา แต่การชูก้ามของปูก้ามดาบ เป็นการชูก้ามเพื่อแสดงอำนาจ ประกาศศักดา หรือ เพื่อเรียกร้องความสนใจของตัวเมีย
เิดินมาเรื่อยๆ ก็จะมาพบกับ ต้นปู่แสม (ขาว) อายุกว่า 200 ปี ที่ทางศูนย์สร้างสะพานล้อมรอบ ต้นแสมขาวโบราณขนาดใหญ่ ร่วมสิบคนโอบที่หลงเหลืออยู่
จากนั้น ทางเดินได้พาทอดยาวออกสู่ปากอ่าว ที่ด้านหนึ่งเป็นป่าโกงกาง ตามธรรมชาติที่ขึ้นหนาทึบ ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นป่าโกงกาง ที่ปลูกขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เป็นปากอ่าวอันเวิ้งว้าง ที่มีศาลาชมวิวให้หยุดยืนพักเหนื่อย รับลมเย็นจากท้องทะเล ที่บอกว่าได้อารมณ์คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเลไม่น้อยทีเดียว
ครั้นเมื่อเดินต่อไปอีกหน่อย ก็ได้พบกับ สะพานแขวน ที่เป็นทั้งจุดชมวิว และมุมถ่ายรูปอันยอดเยี่ยม ส่วนถัดไปเป็น ศาลาโกงกาง ที่มากไปด้วยดงโกงกางขึ้นอย่างหนาแน่น แถมแต่ละต้นต่างก็มีขนาดใหญ่โต ซึ่งถ้าไม่อนุรักษ์น่ากลัว โดนตัดไปขายเกลี้ยงป่านานแล้ว เพราะตัวอย่างของการไม่อนุรักษ์ ใส่ใจในทรัพยากรมีให้เห็นชัดเจนที่อนุสรณ์ หมูดุด หรือ พะยูน หรือที่บางคนเรียกว่า วัวทะเล ซึ่งเจ้าสัตว์ชนิดนี้ในอดีต ถือเป็นเจ้าแห่งอ่าวคุ้งกระเบน แต่มาวันนี้สูญพันธุ์ กลายเป็นตำนาน มีแค่รูปปั้นเอาไว้ให้ดูต่างหน้านั้น
และศาลาสุดท้าย คือ ศาลาเชิงทรง ที่เป็นป่ารอยต่อระหว่างป่า
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ถัดยังคงคงพาซอกซอนผ่านผืนป่าชายเลน อันกว้างใหญ่มาสู่ช่วงปลาย ก่อนจะผ่าน ศาลาประมง จุดสาธิตบ่อกุ้งกุลาดำ ระบบปิดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
ชายเลนกับป่าชายหาดและป่าบก ที่เป็นจุดส่งท้ายในเส้นทาง เดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ผืนป่าอันทรงคุณค่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เปรียบดังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต ซึ่งจากการที่ได้เดินชมอย่างหนำใจนั้น ได้ทั้ง อาหารตา อาหารใจ รวมไปถึงอาหารสมองจากป่าชายเลน
รายละเอียดเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
|
ที่ตั้ง : หมู่ 4 ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี |
|
เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. |
|
การเดินทาง : รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองจันทบุรี ไปตาม ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 301 จะมีแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปตาม ทางหลวงหมายเลข 3399 อีกประมาณ 18 กม. ก็จะถึงยังที่ทำการศูนย์ฯ |
|
|
|
สอบถามรายละเีอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 039-388116-8 |
ผู้จัดการออนไลน์ 10 ธันวาคม 2549
|