หากมี โฮมสเตย์ มากพร้อมด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ อันเกิดจากวิถีชาวบ้านที่เรียบง่าย และวัฒนธรรมที่งดงามในท้องถิ่น ไร้แสงสียามค่ำคืน แต่มีรอยยิ้มที่จริงใจจากผู้คนในท้องถิ่น คุณจะสนใจไปเยือนหรือไม่...?
ถ้าความสงบทางใจเป็นสิ่งที่ใครหลายๆ คนกำลังแสวงหาอยู่ บางทีการท่องเที่ยวในรูปแบบ โฮมสเตย์ อาจเป็นคำตอบให้คุณได้ โฮมสเตย์ ไม่ได้อิงอยู่กับความหรูหรา แต่แนบชิดกับความพอเพียง
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้รับการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ของชุมชนนั้นๆ ไปด้วย เราจะได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นไปที่แท้จริง เมื่อเราได้ใกล้ชิดผู้คนในชุมชน ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ อาจจะทำให้เราได้รับความประทับใจกลับไปได้ อย่างไม่รู้ลืมเลยก็ได้
โฮมสเตย์ดีๆ มีมากมายกระจายอยู่ทั่วไทย แต่ครั้งนี้ขอเดินทางลงใต้ไปสัมผัสกับ สามโฮมเตย์ จากสามถิ่นแดนใต้ รับกลิ่นไอลมทะเลต้อนรับหน้าร้อนกัน
พักลีเล็ด ชมคลอง 100 สาย จ.สุราษฏ์ธานี
วิถีท้องถิ่นที่สัมผัสได้จาก โฮมสเตย์ แห่งแรกคือ ชุมชนโฮมสเตย์ลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่นี่มีรูปแบบของการนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ แก้ไขปัญหาที่รุมเร้าทำลายทรัพยากร ด้วยการสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว เพื่อเป็นรายได้เสริมให้คนในชุมชนอีกทางหนึ่ง
ชุมชนลีเล็ดในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปบ้านดอน ทางเรือพระที่นั่ง ทรงเห็นว่าคลองสายนี้เป็นทางลัดที่ใกล้กว่า จึงทรงเสด็จไปตามคลองสายนี้ ที่นี่จึงได้ชื่อว่า คลองลัด ชาวบ้านในคลองลัดส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ข้าว จึงมีชาวจีนมาล่องเรือรับซื้อข้าวอยู่ประจำ ชาวจีนจึงเรียนคลองลัดเพี้ยนเป็น คลองเล็ด และเป็นลีเล็ดในปัจจุบัน
สำหรับ โฮมสเตย์บ้านลีเล็ด กำนันตำบลลีเล็ด และประธานกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ กล่าวว่า ก่อนปีพ.ศ.2546 ผู้คนในชุมชนใช้ทรัพยากรกันอย่างผิด ใช้อวนลาก อวนรุน ในการจับสัตว์น้ำ ทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง
พอมาปีพ.ศ.2547 เริ่มหันมาทำด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นอาชีพเสริมแก่ชาวบ้าน ปี พ.ศ.2548 จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงาน เลิกการใช้อวนลาก อวนรุก ปัจจุบันที่นี่มีอาสาสมัครเฝ้าระวังสัตว์น้ำ มีพื้นที่กรณีศึกษาการจัดการ การท่องเที่ยวในชุมชน ป่าไม้เพิ่มขึ้นเองโดยไม่ต้องปลูกกว่า 2,733 ไร่ มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วม ด้านส่วนราชการก็ให้การสนับสนุน ชุมชนลีเล็ดจึงจัดเป็นชุมชนต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จ ในการใช้คนเป็นเครื่องมือ จัดการทรัพยากรชายฝั่ง
หากนักท่องเที่ยวมาที่ลีเล็ด แน่นอนว่าจะได้พบกับกิจกรรมอันหลากหลาย ที่ชาวชุมชนลีเล็ดจัดเตรียมไว้ให้ ทั้งการล่องเรือดูวิถีชีวิต ดูต้นไม้ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ดูหิ่งห้อยยามค่ำคืน ที่นี่มีป่าชายเลนมีพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ แม่น้ำลำคลองมากว่า 100 สาย ที่ทะลุเชื่อมต่อกัน มีต้นไม้ที่สำคัญหลายชนิด เช่น ลำพู โกงกาง แสม ถั่ว ลำพูหิน ตะบูน หลุมพอ ฯลฯ
คนไทยอาจจะไม่รู้จักมากเท่าไหร่นัก แต่สำหรับ นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกแล้ว ลีเล็ดคือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ฝรั่งตะวันตกในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศใฝ่ฝันอยากจะมา กำนันกล่าว
เหตุที่ชาวตะวันตกชื่นชอบที่นี่เป็นหนักหนา ก็เพราะว่าลีเล็ดเป็นที่ ซึ่งสหภาพยุโรป 27 ประเทศ กำหนดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยอดเยี่ยม ชาวท้องถิ่นช่วยกันบริหาร จัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งดีที่สุดในโลก จนสหภาพยุโรปนำแบบอย่างไปใช้ในประเทศของตน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวยุโรปพากันมาที่ลีเล็ดอย่างไม่ขาดสาย โฮมสเตย์ ที่นี่จึงเชื่อมั่นได้ว่า ได้มาตรฐานพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเสมอ
สัมผัสวิถีชุมชน ยลทะเลแหวก ที่บ้านเกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร
จาก จ.สุราษฎร์ธานี ย้ายมาที่ จ.ชุมพร กันบ้าง ที่ เกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีโฮมสเตย์ริมทะเลรอคอยอยู่ จากถนนอ่าวท้องครกเข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงท่าเรือข้ามไปยัง เกาะพิทักษ์ นักท่องเที่ยวจะพบ เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่ข้างหน้าห่างจากท่าเรือเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น
ในบางเวลาที่น้ำลงมากๆ จะเห็นสันทรายทอดยาวเชื่อมระหว่างฝั่งกับเกาะ จนหลายๆ คนต่างพากันยกให้เป็นทะเลแหวกแห่งเกาะพิทักษ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินไป เกาะพิทักษ์ ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรือหางยาว โดยใช้เวลาในการเดินไปเพียง 15 นาทีเท่านั้น นับเป็นเกาะที่ใกล้ฝั่งมากที่สุดของ จ.ชุมพร เกาะแห่งนี้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า
บรรพบุรุษของชาวเกาะพิทักษ์ซึ่งส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนักโทษที่หลบล่าคดีของทางราชการ ล่องเรือมาจนถึงบริเวณเกาะพิทักษ์ จะได้ยินเสียงคนเรียกให้เข้าพักบนเกาะ แต่พอขึ้นไปบนเกาะก็ไม่มีคนอยู่ จึงเรียกเกาะแห่งนี้ว่า เกาะผีทัก จวบจนปี พ.ศ. 2464 ได้ประกาศเป็นหมู่บ้านและเปลี่ยนชื่อเป็น เกาะพิทักษ์ มาจนทุกวันนี้ วิถีชีวิตของชุมชนที่นี่ ล้วนแต่ประกอบอาชีพด้านการประมงเป็นหลัก
ผู้ใหญ่บ้านเกาะพิทักษ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นและความเป็นมา ของโฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ว่า เริ่มจากที่มีเพื่อนฝูงคนรู้จัก ได้เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนที่บ้านของตนก่อน จึงเล็งเห็นว่าถ้ามีโฮมสเตย์เกิดขึ้น จะมีส่วนช่วยเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้าน นอกเหนือจากการทำประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักได้
จึงเริ่มจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ.2538 ช่วงแรกๆ ก็ยังไม่เข้าที่เข้าทางดีนัก เนื่องจากเกิดปัญหา ความหวาดระแวงกันและกัน ระหว่างชาวบ้านและนักท่องเที่ยว จวบจนปี พ.ศ.2545 คนเริ่มรู้จักมากขึ้น
อาชีพในชุมชนบนเกาะพิทักษ์ ที่นักท่องเที่ยวมาแล้วจะได้สัมผัสคือ การลอบปู ดูธรรมชาติ ไดหมึก ดำน้ำที่เกาะครามเกาะที่ห่างจากเกาะพิทักษ์เพียง 1 กิโลเมตร ทุกวันจะมีตำรวจตระเวนชายแดนมาคอยดูแลนักท่องเที่ยว ตำรวจตระเวนชายแดนที่นี่ทำหน้าที่ดูแล หอยมือเสือ สัตว์อนุรักษ์ของชาวเกาะพิทักษ์
เกาะพิทักษ์มีกฎของหมู่บ้าน ว่าหากพบเจอการเสพหรือค้ายาเสพติด ไล่ออกจากเกาะทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หากมีเรื่องทะเลาะกัน 3 ครั้ง จะไล่ออกจากเกาะตามข้อบังคับของศาลชุมชนที่นี่
ผู้ใหญ่ยังกล่าวต่ออีกว่า เกาะพิทักษ์มีสโลแกนอยู่ว่า ถนนน้ำข้ามสมุทร น้ำจืดผุดกลางเกาะ หอยเจาะทะเลขาดหอยเจาะเป็นหอยที่คล้ายหอยนางรม พบได้มากบริเวณเกาะพิทักษ์ และถ้านักท่องเที่ยวมาที่เกาะพิทักษ์ เกิดเรือจมขึ้นมาผู้ใหญ่แนะนำว่า อย่าลนลานว่ายน้ำ แต่ให้ยืน เพราะน้ำตื้นเพียงแค่เข่า
ชาวเกาะพิทักษ์เน้นเศรษฐกิจพอเพียงและไร่นาสวนผสม มีแหล่งน้ำจืดบนเกาะ และฝังท่อประปามาจากแผ่นดินใหญ่ ฝังผ่านใต้ทะเล คนบนเกาะจึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากเกาะพิทักษ์ตั้งอยู่ใกล้ฝั่ง บนเกาะพิทักษ์จึงไม่มีโรงเรียน ไม่มีสถานีอนามัย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจึงต้องข้ามที่ฝั่งแผ่นดินใหญ่
กิจกรรมโฮมสเตย์เป็นการเสริมรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะฤดูมรสุมที่ไม่ค่อยได้ออกเรือ รายได้ของแต่ละบ้านจะหักเข้ากลุ่ม 5% เพื่อเป็นค่าบริหารกลุ่ม หรือจัดกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
ที่นี่มีโฮมสเตย์ทั้งหมด 13 หลัง แต่ถ้าเหมารวมบ้านผู้ใหญ่ด้วยก็เป็น 14 หลัง ลักษณะบ้านพักส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมทะเล มีชานบ้านกว้างขวางยื่นออกไปในทะเล คนรักน้ำกับฟ้าจะมองได้ไม่รู้เบื่อ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้ที่โฮมสเตย์ทุกหลัง มุ้งกันยุง ที่นอน พัดลม กินข้าวร่วมกับเจ้าของเรือน ใครอยากนอนในในห้องหรือชานเรือนก็ได้แล้วแต่สมัครใจ
บ้านม่วงกลวง อบอุ่นมิตรไมตรีในวิถีมุสลิม จ.ระนอง
ในแดนที่เปิดกว้างมีเสรีจะนับถือศาสนาใดก็ได้อย่างเมืองไทย ห่างจาก อ.กะเปอร์ จ.ระนอง ราว 6 กิโลเมตร ที่ ชุมชนม่วงกลวง ยังมีวิถีแห่งชุมชนมุสลิมของผู้ที่นับถือ ศาสนาอิสลาม รอให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสได้ โดยไม่แบ่งแยกศาสนา
มุสลิมโฮมสเตย์ ที่บ้านม่วงกลวง มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีตามแบบฉบับของชาวมุสลิม ที่สืบทอดมาแต่ครั้งอดีต คนที่นี่รักสงบ และรอคอยที่จะต้อนรับผู้มาเยือนตลอดเวลา
รองประธานชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศม่วงกลวง เล่าว่า มุสลิมโฮมสเตย์ เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2545 เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนพบว่า เด็กในชุมชนติดยาเสพติด จึงเริ่มคิดหาวิธีการที่จะให้เด็กๆ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
โดยเริ่มจัดตั้งโฮมสเตย์จากที่ชาวบ้านไม่รู้จักเลย ต้องอธิบายให้ฟังว่าโฮมสเตย์คืออะไร เมื่อชาวบ้านเกิดความเข้าใจแล้ว มุสลิมโฮมสเตย์ จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจาก กรีน เวย์กลุ่มอนุรักษ์ต่างชาติ ที่เข้ามาบริจาคเงินช่วยด้านต่างๆ
ตั้งแต่จัดตั้งมา โฮมสเตย์ที่นี่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ และเป็นที่ศึกษาดูงานของ นักเรียน นักศึกษา มานักต่อนัก เนื่องจากที่บ้านม่วงกลวง ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ ภูเขา และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก ทว่าชาวม่วงกลวงก็ไม่ได้หลงใหลในการท่องเที่ยว จนหลงลืมรูปแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม การท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริมจากการทำประมง เน้นการจัดการเชิงอนุรักษ์ด้วยชุมชนเอง
เราต้องการสร้างความเชื่อให้นักท่องเที่ยวที่มา ว่าเขาเป็นเสมือนญาติ รับประกันว่าไม่มีปัญหาความรุนแรงใดๆ ในชุมชนของเรา
ที่นี่เคยได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ มีชาวบ้านเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตลอดจนชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ต้องสูญเสียเครื่องมือยังชีพและเรือหาปลา ไปพร้อมกับคลื่นยักษ์มหันตภัย แต่ด้วยแรงใจอันสามัคคีของชุมชน ภายในระยะเวลา 2 ปี จึงฟื้นฟูพลิกกลับคืนมาดังเดิม
เมื่อถามถึงปัญหาที่ว่า นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับการปฏิบัติตน เมื่ออยู่กับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ควรทำอย่างไรเมื่อมาพัก วิทยาอธิบายว่า ไม่มีการปฏิบัติที่ยุ่งยาก เพราะเราจะอธิบายถึงข้อห้ามให้ฟังก่อนทุกครั้ง เช่น ห้ามสวมใส่ชุดว่ายน้ำในชุมชน ถ้าต้องการสวมชุดว่ายน้ำต้องรอให้ถึงทะเลก่อน แต่เรื่องที่ห้ามเด็ดขาดคือ การดื่มของมึนเมาและยาเสพติด
บ้านพักโฮมสเตย์ที่นี่มีหลากรูปแบบ ทั้งสมัยใหม่ก่ออิฐ โบกปูน หรือเรือนไม้แบบศิลปะทางใต้ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า40 ปี อย่างบ้านของ มะ (แม่) เอียด คงสุด หญิงชราวัยกว่า 60 ปี ที่จัดเป็นโฮมสเตย์ พร้อมรองรับเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจัดเป็นบ้านโฮมสเตย์ตัวอย่าง ที่ค่อนข้างพร้อมที่สุดหลังหนึ่งของที่นี่ ส่วนบ้านพักหลังอื่นๆ หากมีปัญหาขาดตกบกพร่องไปบ้าง นักท่องเที่ยวสามารถบอกกล่าว แนะนำ หรือร้องขอสิ่งที่ต้องการจากชาวบ้านได้ เพื่อที่จะได้ปรับปรุงจัดเตรียมไว้ให้อย่างถูกต้อง
วิทยา กล่าวแนะนำกิจกรรมต่างๆ เมื่อเข้าพักโฮมสเตย์มุสลิมว่า กิจกรรมกลางแจ้งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว คือ แรลลี่เรือประมงพื้นบ้าน ชมระบบนิเวศชายเลน ศึกษาวิถีชีวิตชมการหาหอย ดูกรรมวิธีการเลี้ยงปูนิ่ม เลี้ยงปลาในกระชัง
ที่นี่มีการเที่ยวตามรอยสึนามิที่อุทยานแห่งชาติแหลมสนบางเบน ชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์อัสดงลาลับขอบฟ้า ชมพระจันทร์เต็มดวงที่ดอย100 วิว ท่องสวนเกษตรชมการเก็บกาหยูหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์
และพาไปล่องเรือใน ทะเลสาบระนอง ที่แม้แต่คนระนองยังไม่รู้จัก ว่าเป็นอ่าวทะเลด้านในของชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอาทิ แปลงปลูกป่าชายเลน ที่มีพื้นที่ราว 400 ไร่
สัมผัสความเป็นอยู่ของเหล่าลิงทะเล ชมดงฝาดดอกแดง ที่มีบรรยากาศชวนน่าท่องเที่ยว เป็นดงไม้ยืนต้นกึ่งบกกึ่งทะเล ลำต้นสูงใหญ่ดอกสีแดงสวยงาม ที่นี่ยังเป็นทะเลสาหร่าย มีสาหร่ายหลายชนิด อาทิ สาหร่ายลายไหม สาหร่ายใบ สาหร่ายข้อ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ในการชมดงฝาดดอกแดง คือ ช่วง พ.ย.-พ.ค. แต่หากนักท่องเที่ยวสนใจจะมา ให้ช่วงเวลาใด ควรติดต่อสอบถามล่วงหน้าก่อน
รายละเอียดเกี่ยวกับสามโฮมสเตย์ สามเสน่ห์จังหวัดใต้
|
โฮมสเตย์ลีเล็ด - อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี
ติดต่อ คุณประเสริฐ ชัญจุกรณ์ 109 หมู่ 5 ต. ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 84130
โทร.077-491081,088-1271001
ค่าใช้จ่าย
-
อัตราค่าเข้าพักบ้านพักโฮมสเตย์100บาท/คน/คืน
-
ราคาค่าบริการอาหาร 100บาท/คน
-
ค่าบริการล่องเรือ 800 บาท/ลำ |
|
|
|
โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์
ติดต่อ ผู้ใหญ่บ้าน อำพล ธานีครุฑ 32 หมู่14 บ้านเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด จ.ชุมพร
โทร. 081-0931443, 089-0180644
-
ค่าใช้จ่าย อัตราค่าเข้าพัก มี 2 ราคา คือ 450 บาท/คน/คืน และ 700 บาท/คน/คืน เป็นค่าที่พัก และอาหาร 3 มื้อ
- หากต้องการนั่งเรือออกไปเที่ยวดำน้ำ มีเรือเหมาในราคา 700 บาท/วัน ค่าอุปกรณ์ดำน้ำคนละ 50 บาท |
|
|
|
โฮมสเตย์มุสลิมบ้านม่วงกลวง
ติดต่อ คุณวิลาวัลย์ เสบสบาย ชมรมอนุรักษ์และเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จ.ระนอง
288/1 ถ.เรืองราษฎร์ ต.เขานิเวศ อ.เมือง จ.ระนอง 8500
โทร.089-2870471
-
ค่าใช้จ่าย อัตราค่าเข้าพักบ้านพักโฮมสเตย์100/คน/คืน
-
ค่าอาหารมื้อละ 50 บาท/คน/คืน
-
ดำน้ำ 500/คน
-
ค่าเรือคายัค ลำละ 200 บาท
-
ค่าเรือนำเที่ยวท่องทะเลสาบ/ดูนก/ชมป่าชายเลน ลำละ 1,800 บาท |
ผู้จัดการออนไลน์ - 17 มีนาคม 2551
|