เวลาเราหกล้มหัวเข่าถลอกเป็นแผล สามารถรักษาได้ด้วยการใส่ยาสมานแผล ไม่กี่วันก็หายดี แต่นั่นเป็นบาดแผลภายนอก แล้วถ้าอวัยวะภายในเราเกิดเป็นแผลขึ้นมาล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี?
บาดแผลภายในที่พบได้บ่อยมากเห็นจะได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระเพาะ ทำให้เกิดอาการปวดท้องที่หลายๆ คนอาจมีประสบการณ์มาบ้าง หรือมีแนวโน้มจะเป็นในอนาคต โดยเฉพาะในภาวะการณ์เครียดๆ อย่างในช่วงนี้ ถ้าอย่างนั้นเราลองมาดูกันว่าจะรับมือกับเจ้าโรคนี้กันได้อย่างไร
กระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่เชื่อมติดต่อกับหลอดอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น กล่าวคือ อาหารที่เรากินเข้าไป จะผ่านไปทางหลอดอาหารเข้าไปสู่กระเพาะอาหาร เพื่อทำการย่อย แล้วจึงค่อยผ่านไปทางลำไส้เล็ก เพื่อการดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วนำไปใช้เลี้ยงร่างกาย จากนั้นกากอาหารที่ผ่านกระบวนการดูดซึมแล้ว จะเคลื่อนตัวไปยังลำไส้ใหญ่ เพื่อผ่านไปยังทวารหนักแล้วขับออกจากร่างกายต่อไป เมื่อพูดถึงแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นคำที่เรียกกันทั่วๆ ไปจนติดปาก ความหมายจึงมักคาบเกี่ยวระหว่าง แผลที่กระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) กับแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer) ก็เป็นได้
แผลในกระเพาะอาหารที่ว่านี้ บางคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ต้องขอบอกว่าไม่เหมือนกับบาดแผลถลอกตามผิวหนังภายนอก ที่เมื่อแห้งแล้วจะเกิดสะเก็ดแผลสีดำๆ แน่ แต่ให้นึกถึงเวลาที่เราเกิดแผลในปาก หรือตามกระพุ้งแก้มดูก็แล้วกัน ซึ่งนี่จะเป็นรอยแผลเล็กๆ ขนาด 5-25 มิลลิเมตร ที่เกิดบนผนังของกระเพาะ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ก่อนมักมีความเชื่อกันว่าแผลในกระเพาะนี้ มักเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงระดับความเครียด หรือวิตกกังวลที่มากเกินไป หรือเป็นผลของการกินอาหารเผ็ดจัดๆ แต่ปัจจุบันพบว่า การเกิดแผลในกระเพาะนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของกรดในกระเพาะ (ที่ใช้ย่อยอาหาร) กับสารที่ทำหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อของร่างกาย จากกรดเหล่านี้ต่างหาก
แผลในกระเพาะเกิดได้อย่างไร?
ในสถานะสมดุล
ในกระเพาะอาหารของคนเรา จะมีการสร้างกรดและเอนไซม์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า เปปซิน (Pepsin) เพื่อใช้สำหรับย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป กรดนี้จะมีฤทธิ์รุนแรงในการกัดกร่อนfย่อยสลายอินทรียสารต่างๆ ดังนั้นเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้กรดนี้ ไปย่อยเนื้อเยื่อของร่างกายเสียเอง ตลอดผนังทางเดินอาหารส่วนบนของร่างกาย จึงเคลือบไว้ด้วยเกราะป้องกันที่สร้างจากเมือกและโปรตีน ความสมดุลระหว่างปริมาณของกรดในกระเพาะ กับปริมาณของเมือกบุผนังทางเดินอาหารนี้ จะช่วยรักษาทางเดินอาหารให้มีสุขภาพที่ดี
เมื่อเกิดความไม่สมดุล ก็เป็นที่มาของแผลในกระเพาะอาหาร
หากกรดในกระเพาะอาหารเกิดหลั่งออกมามากเกินไป หรือเมือกที่บุผนังทางเดินอาหารมีปริมาณไม่มากเพียงพอ ก็มีโอกาสที่กรดและเอนไซม์เปปซินจะไปกัดกร่อน ทำลายเนื้อเยื่อชั้นในของผนังทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลได้ ตำแหน่งที่เกิดแผลมักอยู่ในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) หรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer)
อะไรทำให้เกิดความไม่สมดุล?
มีหลายปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สมดุลกัน ระหว่างกรดในกระเพาะอาหาร กับเมือกที่บุผนังทางเดินอาหาร จนอาจนำมาสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่
|
|
การใช้ยาต้านอักเสบ (NSAIDs) ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยารักษาอาการปวดข้อชนิดต่างๆ |
|
|
การสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลไปเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะ และยับยั้งการสร้างเมือกบุผนังทางเดินอาหาร |
|
|
การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ กาแฟ (รวมทั้งกาแฟชนิดดีคาเฟอีน (decaffeinated coffee) หรือโคล่า (มีคาเฟอีนผสมเหมือนกัน) อาจทำให้อาการแย่ลง |
|
|
ปัจจัยทางพันธุกรรม หากใครมีประวัติคนในครอบครัว เคยเป็นแผลในกระเพาะอาหารมาก่อน ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นได้มากกว่าคนอื่นๆ |
ติดเชื้อ! อีกสาเหตุของแผลในกระเพาะ
นอกจากความไม่สมดุลในกระเพาะอาหาร จะเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารแล้ว การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H.pylori) ก็เป็นอีกสาเหตุของการเกิดแผลนี้ด้วยเช่นกัน
โดยปกติเชื้อโรคทั่วไป จะไม่สามารถทนภาวะกรดในกระเพาะอาหารได้ แต่ H.pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถปรับตัว จนอาศัยในอยู่ภาวะกรดอย่างแรงได้ จึงเจริญเติบโตอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร และเป็นสาเหตุของการอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และในระยะยาวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่ง ของมะเร็งในกระเพาะอาหาร
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นแผลในกระเพาะอาหาร คืออาการดังต่อไปนี้
|
|
ปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่เวลาท้องว่าง หรือจุก เสียด แน่นท้อง หรือปวดคล้ายกับเวลาหิวข้าว ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารไปแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือปวดกลางดึก |
|
|
เวลาได้กินอาหารมักจะหายปวด หรือไม่ก็อาจจะปวดยิ่งขึ้น |
|
|
รู้สึกคลื่นไส้ หรืออาเจียน |
|
|
รู้สึกท้องอืด มีลมในท้อง เหมือนอาหารย่อยได้ไม่ดี |
|
|
มีอุจจาระเป็นสีคล้ำดำ หรือมีเลือดปน (ในกรณีที่แผลมีเลือดออกร่วมด้วย) |
|
|
แต่บางกรณีผู้ที่เป็นก็อาจไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือมีอาการเลยจนกว่าจะเกิดมีเลือดออก |
ในคนที่เกิดอาการดังกล่าว ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คในแน่ใจว่า อาการที่เป็นนั้น เกิดจากเป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือเกิดจากเหตุอื่น ซึ่งแพทย์อาจสอบถามประวัติหรือทดสอบบางอย่าง เพื่อจะได้วินิจฉัย และหาวิธีรักษาที่เหมาะสมได้ถูกกับโรคได้ เช่น ประวัติการสูบบุหรี่ การได้รับยาบางอย่าง โรคอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย หรือมีคนในครอบครัวเคยเป็นแผลในกระเพาะมาก่อนหรือไม่ ในกรณีที่มีอาการยังไม่มาก แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาเบื้องต้น เช่น การใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อทดลองรักษาเบื้องต้นว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ ก่อนที่จะตรวจในระดับลึกขึ้น
สำหรับคนที่รักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ได้ผล หรือมีอาการเรื้อรังมานานๆ ในบางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งตรวจพิเศษ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น
|
|
การตรวจเอกซเรย์โดยให้กลืนแบเรียม เพื่อการระบุตำแหน่งของแผลในกระเพาะอาหาร |
|
|
การตรวจโดยการส่องกล้อง (Endoscopic Exam) เพื่อดูลักษณะแผลที่อยู่ในกระเพาะอาหาร หรือทำการห้ามเลือด กรณีเลือดออกมาก รวมทั้งอาจตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ เพื่อดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ |
|
|
การตรวจอื่นๆ เช่น ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H.pylori) |
เมื่อทราบสมุฏฐานของโรคแล้ว แพทย์จะเลือกรักษาด้วยยาที่เหมาะสม ซึ่งยาที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารมีหลายอย่าง บางอย่างเป็นยาที่ช่วยลดปริมาณกรดในกระเพาะ บางอย่างเป็นยาที่ใช้เคลือบผนังกระเพาะอาหาร และปรับสภาพกรดให้เป็นกลางมากขึ้น ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งรวมๆ แล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้
รักษาแผลในกระเพาะอย่างไรให้ได้ผล ?
เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของโรคที่เป็น และช่วยทำให้การรักษามีประสิทธิภาพเต็มที่ ล้วนขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา และการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยมีข้อเตือนใจที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
|
|
อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร มักจะหายไปก่อนที่แผลจะหายสนิท ดังนั้นคุณไม่ควรหยุดกินยา ก่อนที่แพทย์จะสั่งให้หยุด |
|
|
แผลในกระเพาะอาหารอาจกลับมาเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้บ่อยๆ คุณอาจจำเป็นต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าแผลเก่าจะหายสนิทแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดแผลใหม่ขึ้นมา |
|
|
ระหว่างรับการรักษานี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยาต้านอักเสบอื่นๆ เพราะล้วนมีฤทธิ์ระคายเคือง ต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งจะยิ่งทำให้เป็นแผลมากขึ้น |
|
|
เมื่อเจ็บป่วยหรือต้องได้รับยาอย่างอื่น ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วยว่า กำลังเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงตัวยา ที่มีผลระคายเคืองกระเพาะ |
นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น
|
|
หยุดสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะทำให้ทางเดินอาหาร อยู่ในสภาพไม่สมดุลแล้ว สารในบุหรี่ยังระคายเคือง ต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นด้วย ซึ่งจะมีผลให้แผลหายช้าลงมาก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่แผลนั้นเสียเอง คนที่ยังสูบบุหรี่ มักมีแนวโน้มเกิดแผลในกระเพาะซ้ำแล้วซ้ำอีก |
|
|
กินยาให้ตรงตามแพทย์สั่ง เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างกรด และเมือกที่บุผนังทางเดินอาหาร ควรกินยาให้หมด หรือจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุด แม้จะหายปวดท้องหรือไม่มีอาการปรากฏแล้วก็ตาม |
|
|
อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียด แม้ว่าความเครียดจะไม่ได้มีผลโดยตรง ต่อการเกิดแผลในกระเพาะ แต่ก็มักจะมีผลรบกวนการบรรเทาของแผล และมักจะทำให้อาการแย่ลงได้มาก วิธีบรรเทาความเครียดหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อาจทำได้โดยการหันไปออกกำลังกาย หรือการหยุดพักงานที่ทำอยู่สักพัก และนอนหลับให้เต็มอิ่ม |
|
|
กินอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายให้ครบหมู่ สมัยก่อนคนที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มักจะถูกสั่งให้เปลี่ยนมากินอาหารที่มีรสจืดๆ เป็นหลักไว้ก่อน แต่ปัจจุบันมีการพบว่าอาหารส่วนมาก แม้แต่อาหารที่มีรสเผ็ดร้อนก็ตาม มีผลน้อยมากต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร แต่อย่างไรก็ตาม อาหารบางอย่างก็อาจทำให้คุณรู้สึกแย่ลง ดังนั้นจึงควรเลี่ยงจะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ กาแฟ น้ำอัดลม โซดา เป็นต้น |
ล้อมกรอบ
ในกรณีที่คุณไม่ได้รักษาตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่กินยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบ หรือมีอาการกลับมาเป็นใหม่หรือแย่ยิ่งกว่าเดิม มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกไม่หยุด แผลทะลุ อาหารผ่านเข้าสู่ลำไส้ไม่ได้จากการอุดตัน หรือเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ในที่สุดแล้ว อาจถึงขั้นจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดก็เป็นได้ ดังนั้นอย่าละเลย ถ้ามีอาการรุนแรงเกิดขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เป็นต้นว่า
|
|
มีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง หรืออาเจียนเป็นเลือด หรือลิ่มเลือด |
|
|
อุจจาระเป็นสีคล้ำ ดำ หรือมีเลือดปน |
|
|
มีอาการอ่อนแรง หรือเวียนศีรษะโดยไม่รู้สาเหตุ (เป็นสัญญาณของการเสียเลือดอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง) |
|
|
ปวดท้องมากอย่างฉับพลัน |
|
|
น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง |
|
|
ยังคงรู้สึกปวดต่อเนื่องแม้จะกินยารักษาแล้วก็ตาม |
|
|
รู้สึกอิ่มตื้อหลังจากกินอาหารไปได้เพียงไม่กี่คำ |
|