กินผลไม้ให้ถูกเวลา...มากคุณค่า |
---|
ร่างกายคนเราเหมาะจะย่อยผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์ หนังสือขายดีไปทั่วโลกชื่อ Fit for Life ของนักบรรยายเรื่องโภชนาการชาวอเมริกัน ฮาร์วีย์ และมาริลีน ไดมอนด์ ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินผลไม้จนเราอดไม่ได้ที่ต้องนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังว่า ที่จริงแล้วเมื่อสืบค้นถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์ อย่างที่ ดร.อลัน วอล์คเกอร์ นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ ได้เผยผลการศึกษาในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2522 นั้น ดร.วอล์คเกอร์ได้ศึกษาอย่างละเอียดทั้งจากหลักฐานโครงกระดูกและฟันของมนุษย์ ตลอดจนซากฟอสซิลต่างๆ เขายืนยันว่ามนุษย์นั้นแต่เดิมไม่ใช่เป็นพวกที่กินเนื้อ เมล็ดพืช หรือแม้แต่ผักหญ้าใดๆ หากแต่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเก็บผลไม้มากิน ธรรมชาติได้สร้างร่างกายคนให้รองรับกับการกินผลไม้เป็นอาหารตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เพิ่งมามีช่วงศตวรรษที่ผ่านมานี้เองที่เราหันไปกินเนื้อสัตว์กันมากขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งผลตามมาก็คือ ร่างกายต้องปรับตัวอย่างหนัก บางครั้งปรับตัวไม่ไหวก็กลายเป็นพิษ เห็นจากอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็งนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือด เต้านม ตับ กระเพาะอาหาร ฯลฯ ขณะที่การกินผลไม้เป็นวิธีสำคัญที่ช่วยล้างพิษ เพราะผลไม้ส่วนใหญ่มีน้ำประกอบอยู่ในปริมาณ 80-90% ทั้งมีกากใย จึงช่วยกวาดล้างพิษต่างๆ ซึ่งคั่งค้างในร่างกายให้ออกไปโดยการขับถ่าย ดังนั้นเมื่อรวมกับสารอาหารที่เราได้จากผลไม้แล้ว จึงนับว่าเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์กับร่างกายสูงกว่าอาหารอีกหลายชนิด ในข้อแม้ว่าต้องกินอย่างถูกต้องและเหมาะสมจริงๆ นอกจากให้สารอาหารต่างๆ แล้ว ไดมอนด์ยังยืนยันว่าการกินผลไม้ แม้จะมีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และแคลอรีสูง แต่ไม่ได้ทำให้เราอ้วนแบบการกินอาหารชนิดอื่นๆ โดยอ้างถึงผลงานวิจัยของ ศ.จูดิท โรแดง จากมหาวิทยาลัยเยล ที่ได้แถลงผลงานวิจัยของเธอในเดือน ต.ค.ปี 2526 เกี่ยวกับน้ำตาลในผลไม้มีผลต่อการกินอาหารมื้อต่อไปได้ลดลง โดยทดลองให้คนดื่มน้ำหวานจากน้ำตาลฟรุคโตสที่ได้จากผลไม้กลุ่มหนึ่ง เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ให้กินน้ำหวานจากน้ำตาลซูโครส แล้วให้ทั้งสองกลุ่มกินอาหารมื้อต่อไป พบว่ากลุ่มที่กินน้ำตาลผลไม้จะกินอาหารมื้อต่อไปได้น้อยกว่าอีกกลุ่มเฉลี่ยถึง 479 แคลอรี ขณะที่ ดร.วิลเลียม คาสเทลลี จากฮาร์วาร์ด และศูนย์ศึกษาโรคหัวใจฟรามิงแฮม (แมสซาชูเส็ท) พบว่าสารหลายชนิดที่พบในผลไม้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหัวใจวายได้ โดยช่วยป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวหนาจนไปอุดตันในหลอดเลือด นอกจากนี้ร่างกายจะใช้เวลาในการย่อยและดูดซึมสารอาหารจากผลไม้ไปใช้ในร่างกายเพียง 20-30 นาทีเท่านั้น แถมยังใช้พลังงานสำหรับการย่อยน้อยมาก (โดยเฉพาะผลไม้ที่มีน้ำมาก เช่น ส้ม องุ่น ในขณะที่หากเป็นกล้วย ทุเรียน อินทผลัม ซึ่งมีน้ำน้อยจะใช้เวลาย่อยนานขึ้น) ซึ่งต่างกับการกินอาหารชนิดอื่น เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ฯลฯ จะต้องใช้พลังงานในการย่อยอย่างสูง ใช้เวลานานตั้งแต่ชั่วโมงครึ่ง ถึง 4 ชั่วโมง หรือหากกินอาหาร หลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น เนื้อสัตว์ แป้ง ในปริมาณมากๆ อาจใช้เวลาย่อยนานถึง 8 ชั่วโมง ใช้พลังงานไปกับการย่อยเต็มที่ ผลก็คือ ทำให้เรารู้สึกเพลีย ง่วงเหงาหาวนอนหลังอาหารมื้อนั้น ซึ่งอาการนี้จะไม่เกิดเลยหลังจากที่เรากินผลไม้เข้าไป กินผลไม้ตอนท้องว่าง...ได้ประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิดนี้ เวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ควรจะกินผลไม้หรือดื่มน้ำผลไม้ คือ ช่วงเช้าของทุกวัน ตั้งแต่ตอนตื่นจนถึงเที่ยง เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายสะสมพลังงานไว้เต็มเปี่ยมตลอดคืน ดังนั้นเวลาตื่นจะเป็นช่วงที่ร่างกายสดชื่นที่สุด จึงไม่ควรจะสูญเสียพลังงานที่มีค่าของวันนี้ไปเปล่าๆ กับการย่อยอาหารนานๆ แต่การกินผลไม้ที่ใช้พลังงานในการย่อยต่ำจะช่วยให้เรามีพลังงานเหลือเฟือไว้ใช้ประโยชน์กับกิจกรรมอื่นๆ ของชีวิต และดูดซึมสารอาหารที่ควรจะได้รับอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้กากใยช่วยขับของเสียที่สะสมมาจากวันก่อน ทั้งมีส่วนช่วยให้น้ำหนักลดลง โดยที่ในช่วงเวลาดังกล่าวเราสามารถกินผลไม้ได้มากเท่าที่อยากกิน และเว้นระยะประมาณสักครึ่งชั่วโมงจึงค่อยกินอาหารมื้อกลางวัน หากทำแบบนี้ได้เป็นประจำ ร่างกายเราก็จะได้รับสารอาหารสำคัญจากผลไม้เต็มที่ ช่วยให้เราคงความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ดี มีอายุยืน สุขภาพดี กระชุ่มกระชวย อยู่เสมอ มาตรฐานคือ ต้อง สด 100% |
|||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday | |||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |