การล้างไต (Dialysis) มี 2 วิธี คือ การฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และการล้างไตทางช่องท้อง (Peritonel Dialysis:CAPD) ในปัจจุบัน พบว่า ผลการรักษาทั้ง 2 วิธีได้ผลใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม กับสภาพของผู้ป่วย และครอบครัว-ผู้ดูแลผู้ป่วย ตลอดจนที่อยู่อาศัย และความชำนาญของ ทีมผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่เริ่มรักษาโดยการล้างไตแล้ว จะสามารถหยุดการล้างไตได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับชนิดของโรคไตวายที่ผู้ป่วยเป็น กล่าวคือ หากเป็นไตวายชนิดเฉียบพลัน (เช่นผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง หรือเกิดโรคเนื้อไตอักเสบรุนแรง แล้วทำให้ไตวายเฉียบพลัน) เมื่อแพทย์รักษาโรค ที่เป็นสาเหตุของไตวายให้ดีขึ้นแล้ว การทำงานของไต มักกลับฟื้นขึ้นมาได้เป็นส่วนมาก และผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะสามารถหยุดการล้างไตได้ แต่ในกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งการทำงานของไตผู้ป่วยกลุ่มนี้ เหลือน้อยมาก และไม่อาจฟื้นกลับมาทำงานได้อีก ดังนั้น การล้างไตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะต้องทำไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย หรือจนกว่าผู้ป่วย จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ทั้งนี้ เพราะการล้างไต เป็นเพียงวิธีการลดของเสีย ในร่างกายผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น แต่ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ การทำงานของไตผู้ป่วยกลับฟื้นขึ้นมา การล้างไต ในกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนี้ จึงเป็นเพียงการช่วยต่อชีวิตของผู้ป่วยออกไป แต่ด้วยเทคโนโลยี และยาในปัจจุบัน หากทำการล้างไต อย่างถูกต้องและเพียงพอ ร่วมกับการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยมักมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอควร ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะต้องไปรับการฟอก อย่างสม่ำเสมอตามการนัดหมาย ซึ่งผู้ป่วยโดยทั่วไป มักได้รับการฟอกฯ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 4-5 ชั่วโมง การพัฒนาระบบการฟอกฯ ในโลกปัจจุบัน มีความนิยมที่จะใช้ระบบการฟอก ที่มีประสิทธิภาพสูง (High Flux Hemodialysis) มากขึ้น เพราะสามารถฟอกของเสีย ออกจากร่างกายผู้ป่วย ได้ดีกว่าการฟอกแบบธรรมดา |