โรคไต เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่นอกจากจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นโรคที่ต้องบอกว่า ใช้ ทุนทรัพย์ ในการรักษาที่เอาการทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราย ที่ร่างกายเข้าสู่จุดที่ต้องทำการฟอกไต
ดังนั้น ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้ก็ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถป้องกันได้ ด้วยการระมัดระวังในการบริโภค
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือด ด้วยเครื่องล้างไตเทียมไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องดูแลสุขภาพของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย กล่าวคือ ต้องเลือกรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่จะให้โทษ เพราะนอกจากจะไปทำอันตรายต่อไตมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เกิดภาวะอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะหัวใจวาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
พ.ท.น.พ.อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารที่มีรสเค็ม เพราะจะส่งผลต่อความดันโลหิตสูง หัวใจโตและน้ำท่วมปอด นอกจากนี้ ก็รวมไปถึงอาหารที่ฟอสเฟสมาก เพราะจะทำให้กระดูกบาง ผุและหักง่าย ต่อมไทรอยด์จะโต ส่วนอาหารที่มีโปแตสเซียม ก็ต้องเลี่ยงเช่นกัน เนื่องจากทำให้หัวใจเต้นเร็ว และอาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมา
ด้าน รศ.วลัย อินพรัมพรรย์ ที่ปรึกษาโภชนบำบัด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือด ด้วยเครื่องล้างไตเทียม ล้างไตผ่านทางช่องท้อง จะสูญเสียสารอาหารมากมาย อาทิ โปรตีน เกลือแร่ ดังนั้น จำต้องรับประทานอาหาร ให้ครบทั้ง 5 หมู่คือโปรตีน (เนื้อสัตว์) คาร์โบไฮเดรต (แป้ง) ไขมัน เกลือแร่ (ผักและผลไม้) และวิตามิน
อย่างไรก็ตาม ในการรับประทาน เนื้อสัตว์ จะต้องเลือกชนิดที่ไม่ติดมันและติดหนัง ไข่ควรรับประทานแต่ไข่ขาว เพราะไข่แดงจะมีโคเลสเตอรอล โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส ส่วนนมและเนยแข็ง รวมทั้งอาหารจำพวกถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมทั้งขนมเปี๊ยะ กระยาสารทก็ต้องละเว้น เนื่องจากมีฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูง ซึ่งผู้ป่วยที่ฟอกเลือด จะมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายฟอสฟอรัส
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานข้าว รวมถึงอาหารจำพวกก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เพราะนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีโปรตีนที่เหมาะสมกับร่างกาย กระนั้นก็ดีข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ก็ไม่เหมาะกับผู้ป่วย เนื่องจากมีฟอสฟอรัสมาก
ขนมประเภททองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ไอศกรีม พวกนี้ทำจากไข่แดง มีสารฟอสเฟสมาก ควรระมัดระวังในการรับประทาน ขนมหวานที่ผู้ป่วยรับประทานได้ จะต้องไม่หวานมากนัก เช่น ขนมน้ำดอกไม้ ขนมมัน ขนมถ้วยฟู สาคูเปียก เพราะจะช่วยให้เกิดพลังงาน สำหรับผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง ควรเลี่ยงพวกขนมหวานจัด เพราะยาล้างไตทางช่องท้องจะมีกลูโคสสูง จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และพบปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจ
ผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองเข้ม เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บล็อคเคอรี่ ดอกกะหล่ำ ใบคะน้า คึ่นฉ่าย มะเขือเทศ แครอท จะมีโปแตสสูง ควรหลีกเลี่ยง กลุ่มที่รับประทานได้ เช่น แตงกวา น้ำเต้า บวบ ฟักเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักกาด ส่วนผักที่ไม่ควรรับประทาน ก็เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก ลูกพรุน ลูกพลับ ขนุน ผลไม้แห้ง มะขามหวาน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงชา กาแฟ ช็อกโกแลต โคล่า ซึ่งมีทั้งโปแตสเซียมและฟอสฟอรัส
อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง หมูแผ่น นอกจากจะมีโคเลสเตอรอลแล้ว ยังมีโปแตสเซียมและโซเดียมสูง ควรยกเว้น อาหารสำเร็จรูปทุกประเภท บะหมี่ โจ๊ก มีโซเดียมสูง มีรสเค็มจัด ไม่ควรรับประทานอย่างยิ่ง เพราะนอกจากร่างกายจะบวมแล้ว ยังส่งผลถึงความดันสูงอีกด้วย รศ.วลัยแนะนำ
และปิดท้ายกันที่ ดร.ชนิดา ปโชติกาล แห่งภาควิชาคหกรรมศษสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่แนะนำว่า การที่ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือด ด้วยเครื่องล้างไตเทียม หรือล้างไตผ่านทางช่องท้อง จะต้องรับการตรวจเลือดก่อนว่า มีสารประเภทใดในเลือดที่สูงมาก เมื่อทราบแล้ว ก็ไปปรึกษานักกำหนดอาหาร ซึ่งจะเป็นผู้ที่ให้ความรู้ และคำปรึกษาเกี่ยวกับโภชนาการ ให้เป็นไปตามที่แพทย์กำหนด เมื่อผู้ป่วยได้บริโภคอาหาร ถูกต้องเหมาะสมกับภาวะที่ร่างกาย อยู่ระหว่างการฟอกเลือด ก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญช่วยยึดอายุให้ยืนยาวมากขึ้น
|