การออกกำลังกาย มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจ และเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้หลอดเลือดมีการขยายตัว กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น นอกจากนั้น การออกกำลังกาย ยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจ ลดปัจจัยการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง โรคหัวใจจากเส้นเลือดหัวใจตีบ และภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง และที่สำคัญยังทำให้อัตราการเจ็บหน้าอก ของผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้หัวใจทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการออกกำลังกาย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อการเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะสมกับตัวเอง ประเภทกีฬาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โรคหัวใจ
ตามปกติแล้ว เราแบ่งการออกกำลังกายออกเป็นสองประเภท คือ
|
|
การออกกำลังกายชนิดแอโรบิก (Aerobic or isotonic exercise) คือการออกกำลังกายที่ต้องใช้พลังกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายในการเคลื่อนไหว ซึ่งในขณะที่กล้ามเนื้อของเรา ออกแรงอย่างเต็มที่นั้น จะทำให้มีการรับออกซิเจนเข้าไปในกระแสเลือด ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น มีการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้นด้วย |
|
|
การออกกำลังกายชนิดแอนแอโรบิก (Anaerobic or isometric exercise) โดยการออกกำลังกายชนิดนี้ ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวน้อย แต่ใช้แรงมาก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่า เช่น การยกน้ำหนัก เป็นต้น |
สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจคือ การออกกำลังกายชนิดแอโรบิก ซึ่งดูได้จากตัวอย่างต่อไปนี้
|
|
การเดินเร็ว เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งอายุมากแล้ว เพราะการออกกำลังกายชนิดนี้ จะไม่ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยจนเกินไป ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่มีการเดินเร็วสัปดาห์ละ 1-3 ชั่วโมง จะลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ |
|
|
การวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาน้อยกว่า ทั้งยังให้ผลดีต่อหัวใจมากกว่าการเดิน เพราะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจได้ออกแรงสูบฉีดเร็วกว่า ลดความเครียด และช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ แข็งแรงอีกด้วย |
|
|
การเล่นเทนนิส เป็นการออกกำลังกายอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแขนและขา นอกจากนั้น ยังทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยดีขึ้น และเมื่อมีการออกกำลังกายอย่างเต็มที่จะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น |
|
|
การว่ายน้ำ การออกกำลังกายในน้ำ มีผลดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และมีความยืดหยุ่น อีกทั้ง น้ำยังเป็นตัวพยุงน้ำหนักที่ดี ทำให้แม้จะออกแรงมาก แต่ก็รู้สึกว่าเหนื่อยน้อยกว่าการออกกำลังกายบนบก |
|
|
การรำกระบอง ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหัวใจอีกประเภทหนึ่ง เนื่องจากการรำกระบอง เป็นการบริหารร่างกาย ที่ครบทุกส่วนตามหลักสรีระวิทยา เป็นต้นว่าการบริหารกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อ หากทำเป็นประจำและสม่ำเสมอ จะช่วยให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจเป็นไปตามปกติ |
เป็นโรคหัวใจ ออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอดี
นอกเหนือจากการกินยา ผ่าตัดแล้ว การออกกำลังกายอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่สามารถรักษาโรคหัวใจให้หายได้ ทั้งนี้ การออกกำลังกายของคนที่เป็นโรคหัวใจนั้น ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วยว่า ควรออกกำลังกายประเภทไหน ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจ ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม แต่ให้ออกกำลังกายทีละน้อย และเพิ่มให้มากขึ้นหรือน้อย ตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคหัวใจดีขึ้นได้
ถ้าคนที่เป็นโรคหัวใจต้องออกกำลังกาย ต้องทำอะไรบ้าง
ปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพื่อให้แพทย์ประเมินสภาพความพร้อมของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ระหว่างหรือหลังการออกกำลังกาย ตลอดจนถึงความแรงของการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมว่า ควรออกกำลังกายด้วยกีฬาประเภทไหน ซึ่งจะเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
รู้จักประเมินอาการของตัวเอง เป็นต้นว่า การวัดชีพจร ความเหนื่อยของร่างกาย หากอาการที่แสดงออก บ่งบอกถึงความผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ มึน วิงเวียนศีรษะ ให้รู้ว่าเป็นอาการของการออกกำลังกายหนักเกินไป ควรหยุดและปรึกษาแพทย์
มีเป้าหมาย ควรออกำลังกายให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30-60 นาที สัปดาห์ละ 3 - 5 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีความเคยชิน อีกทั้งควรออกกำลังกายให้เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะหากเผลอละเลยเป็นเวลานานแล้วกลับมาออกกำลังกาย หัวใจจะทำงานหนักขึ้น
ไม่ควรออกกำลังกายเพียงลำพัง เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัวใจมีภาวะเสี่ยงต่อการวูบได้ง่าย ดังนั้นเวลาออกกำลังกาย ไม่ว่าจะวิ่ง ว่ายน้ำ หรือประเภทอื่นๆ ควรมีเพื่อนอยู่ด้วย เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น
นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 214
|