หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ปรับรูปแบบชีวิตต้านความดันโลหิตสูง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อาหารที่ดีมีส่วนช่วยฟื้นฟูสุขภาพ แต่ในทางตรงกันข้าม การรับประทานอาหารที่ แย่ เช่น รับประทานมากเกินควร รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง อาจทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา ได้แก่ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคอ้วน โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งบางโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง อาจไม่มีอาการเด่นชัดจนทำให้ไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหัวใจและไต กว่าจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูง ก็เมื่อเส้นเลือดในสมองแตก หรือไตวายไปแล้วนั่นเอง

ความดันโลหิตสูง คือ ค่าวัดแรงดันที่ผนังหลอดเลือดที่มีค่าสูงกว่าปกติ เกิดจากหลอดเลือดที่ตีบและแข็งจากการมีไขมันมาสะสม ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น ปัจจัยของโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่

 
•
มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง
 
•
อ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนลงพุง จะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าผู้ที่อ้วนบริเวณสะโพกและต้นขา การลดน้ำหนักแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยได้
 
•
ความดันโลหิตจะสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชายมักเริ่มมีโรคนี้เร็วกว่าผู้หญิง 7-10 ปี
 
•
ผู้ที่ไม่แอ็กทีฟ พบว่าการออกกำลังกายหรือการทำตัวให้แอ็กทีฟ สามารถช่วยลดความดันโลหิต และช่วยควบคุมน้ำหนักตัว
 
•
ผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะคนที่รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมต่ำ สารอาหารเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อความดันโลหิต
 
•
อาหารที่เกลือสูงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่มีความไวต่อเกลือ ดังนั้น อาหารเพื่อสุขภาพจึงควรจำกัดเกลือด้วย
 
•
ความเครียด ผลของความเครียดต่อความดันโลหิตสูง ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทุกคนควรมีวิธีคลายเครียดที่เหมาะสม
 
•
ผู้ที่สูบบุหรี่ มีอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างมาก
 
•
การดื่มแอลกอฮอล์มากไปมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
 
•
โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี

เราทราบว่าความดันโลหิตที่ 120/80 ถือว่าปกติ หรือตั้งแต่ 130/85 ถึง 139/89 นั้นถือว่าสูงเล็กน้อย แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญพบว่า อัตราความเสี่ยงของเส้นเลือดสมองแตกและโรคหัวใจเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 120/80 จึงกำหนดค่าความดันโลหิตปกติ คือ น้อยกว่า 119/79 ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 ถือว่ามีความดันโลหิตสูง หรือ Pre-hypertension ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการกำหนดค่าใหม่นี้จะทำให้มีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมา

การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิต ถ้าความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 120/80 -139/89 แพทย์มักให้เปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงลดน้ำหนักสำหรับผู้มีน้ำหนักเกิน ถ้ามีความดันโลหิตสูง 140/90-159/99 และไม่มีอวัยวะที่ถูกทำลายหรือมีความเสี่ยงของโรคหัวใจ แพทย์มักแนะนำให้รับประทานยาร่วมกับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ด้วย ส่วนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 159/99 แพทย์อาจให้ยามากกว่า 1 ชนิด ที่เหมาะสมที่สุด และต้องปรับพฤติกรรมอย่างมาก

พฤติกรรมที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งก็คือ อาหารที่รับประทานนั่นเอง

สารอาหารบางชนิดมีผลต่อความดันโลหิต มีการถกเถียงกันว่าเกลือหรือโซเดียม ที่เป็นส่วนประกอบของเกลือนั้น ทำให้ความดันโลหิตสูงหรือไม่ เพราะมีงานวิจัยพบว่าโซเดียม มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ในผู้ที่มีความไวต่อโซเดียม แต่ไม่มีผลอะไรในผู้อื่น ถึงอย่างไรก็ตามงานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ จะมีความดันโลหิตต่ำ

ไม่ใช่เพียงแค่โซเดียมเท่านั้น แต่สารอาหารที่ขาดไปก็มีผลต่อความดันโลหิตด้วยเช่นกัน แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยลดความดันโลหิตได้

อาหารที่ผ่านขั้นตอนการผลิตเยอะ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป ขนมอบกรอบ อาหารฟาสต์ฟู้ดมักมีโซเดียมสูง และแร่ธาตุที่สำคัญต่ำ จึงแนะนำให้ลดอาหารที่ผ่านขั้นตอนการผลิตเยอะ และหันมารับประทานพืชผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียม และแมกนีเซียมสูง ผลิตภัณฑ์พร่องไขมันที่มีแคลเซียมสูงแทน จะทำให้ได้รับแร่ธาตุที่จำเป็นและลดโซเดียมลงได้ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ควรงดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน กะทิ เนย เพื่อลดโคเลสเตอรอล ควรหันมากรับประทานปลา เต้าหู้ เมล็ดถั่ว เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังติดมันแทน

โภชนาการเพื่อหยุดความดันโลหิตสูง หรือ The Dietary Approaches to Stop Hypertension หรือ DASH diet เป็นคำแนะนำที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดเพื่อลดความดันโลหิต ซึ่งจะเน้นผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ดังนี้

หมวดอาหาร

ปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน

นมและผลิตภัณฑ์

3 ส่วน (1 ส่วน = 1 ถ้วยตวง หรือ 250 ซีซี)

ผลไม้

4-5 ส่วน (1 ส่วน = 1 ผลเล็ก หรือ 6-8 ชิ้นคำ)

ผัก

4-5 ส่วน (1 ส่วน = 1 ทัพพีสุก หรือ 1 ถ้วยตวงผักสด)

แป้ง (ข้าว เส้น ขนมปัง ธัญพืช)

7-8 ส่วน (1 ส่วน = 1 ทัพพี)

เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ เต้าหู้

2 ส่วน (1 ส่วน = 2 ช้อนโต๊ะ)

เมล็ดถั่ว

4-5 ส่วนต่อสัปดาห์ (1 ส่วน = 1 กำมือเล็ก)

ส่วนในเรื่องของโซเดียมหรือเกลือนั้น จะมีวิธีใดบ้างที่จะลดลง ? หลายคนอาจเถียงว่า แต่ผมไม่กินเค็ม ซึ่งเป็นคำพูดที่นักกำหนดอาหารได้ยินบ่อยครั้ง อาหารที่มีรสเค็มจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาหารจานเดียวกันอาจจะบอกความเค็มไม่เท่ากัน อาหารไทยเรามีรสเค็มเป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว แต่หลายคนก็ชอบเติมน้ำปลาก่อนชิม เหมือนเป็นอัตโนมัติที่ต้องเติม พอต้องลดอาหารเค็มเพื่อรักษาสุขภาพก็มักบ่นว่าอาหารนั้นจืด ทางที่ดีคือ ควรเน้นรสชาติอื่นตามชอบหรือปรุงด้วยสมุนไพรต่างๆ แทน เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ปลาร้า ก็จะลดโซเดียมลงได้เยอะ ลิ้นก็จะค่อยๆ ปรับรสชาติให้คุ้นเคยได้เอง

อาหารเค็มๆ ทั้งหลาย นอกจากเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ปล้าร้าแล้ว ยังมีอาหารสำเร็จรูปต่างๆ หมูหยอง หมูแผ่น เนื้อเค็ม อาหารหมักดอง แฮม ไส้กรอก อาหารกระป๋อง และอื่นๆ อีกมาก แต่มีอาหารไม่เค็มหลายอย่างที่มีโซเดียมสูงเช่นกัน ได้แก่ ซอสมะเขือเทศ ซอสเทอริยากิ มัสตาร์ด ผงชูรส อาหารดองหวาน เป็นต้น การรับประทานตามแบบ DASH จะทำให้ได้รับอาหารธรรมชาติพวกพืชผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์นมมากขึ้น ซึ่งมาทดแทนอาหารสำเร็จรูปที่มีโซเดียมสูงได้

ตารางแสดงค่าโพแทสเซียมในผักและผลไม้

ชนิด

ปริมาณ

โพแทสเซียม (มก.)

 

ชนิด

ปริมาณ

โพแทสเซียม (มก.)

แอปเปิล

1 ผลกลาง

159

 

ชมพู่

1 ผล

123

กล้วยหอม

1 ใบ

461

 

หน่อไม้ฝรั่งสุก

6 ต้น

144

แคนตาลูปหั่น

1 ถ้วยตวง

494

 

หน่อไม้สุก

1 ถ้วยตวง

640

เชอรี่

10 ลูก

152

 

บร็อคโคลีสุก

1 ทัพพี

228

น้อยหน่า

1 ผล

382

 

แครอทสุก

1 ทัพพี

177

ฝรั่ง

1 ผลกลาง

256

 

ข้าวโพดต้ม

1/2 ฝัก

204

เมลอนเขียวหั่น

1 ถ้วยตวง

461

 

มะเขือต้ม

1 ทัพพี

119

กีวี

1 ผล

252

 

ถั่วแดงหลวงต้ม

1 ถ้วยตวง

713

มะม่วงสุก

1 ผล

322

 

เห็ดหอมสุก

4 ชิ้น

85

ส้ม

1 ผล

132

 

มันฝรั่งต้ม

1 หัว

443

มะละกอ

1/2 ลูก

780

 

ฟักทองต้ม

1/2 ถ้วยตวง

281

มะขาม

1 ถ้วยตวง

753

 

ผักโขมสุก

1 ทัพพี

156

แตงโมหั่น

1 ถ้วยตวง

186

 

มะเขือเทศ

1 หัว

273

ตารางแสดงค่าแมกนีเซียมในอาหาร

ชนิด

ปริมาณ

โพแทสเซียม (มก.)

ผักโขมสุก

1 ทัพพี

79

งา

1 ช้อนโต๊ะ

98

เต้าหู้

1/2 ก้อน

118

เม็ดมะม่วงหิมพานต์

ประมาณ 1 กำมือเล็ก

74

ถั่วแดง

1 ถ้วยตวง

80

มันเทศ

1 หัว

23

ถั่วลิสงต้ม

20 เม็ด

33

บร็อคโคลีสุก

1 ทัพพี

19

หน่อไม้ฝรั่ง

6 ต้น

9

ถั่วฝักยาว

1 ทัพพี

16

โปรแกรมการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายสามารถช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลลงได้ และช่วยเพิ่มปริมาณของ HDL โคเลสเตอรอล ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลที่ดี ช่วยลดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดได้ รวมถึงการออกกำลังกาย สามารถช่วยควบคุมให้ระดับของความดันโลหิต และน้ำหนักตัวลดลงได้ ทำให้ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา

การออกกำลังกายในคนที่มีความดันโลหิตสูง จะไม่ค่อยแตกต่างจากคนทั่วไป ในเรื่องของการเลือกชนิดหรืออุปกรณ์ในการออกกำลังกาย เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน รวมถึงการออกกำลังกายแบบแอโรบิคในคลาสต่างๆ สามารถเลือกได้ตามความชอบ ควรจะเน้นการออกกำลังกายที่เป็นลักษณะ Low-impact (มีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ว่ายน้ำ หรือใช้อุปกรณ์ เช่น rower machines, cross-trainer, elliptical trainer, step machines เป็นต้น) ถ้าเป็นการออกกำลังกายแบบ resistance training ควรฝึกในลักษณะที่เน้นความทนทานของกล้ามเนื้อ มากกว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว โดยใช้น้ำหนักที่ไม่มาก ออกแรงยกได้หลายๆ ครั้งประมาณ 15-20 ครั้งต่อเซต ทำ 1-3 เซตต่อท่า

ข้อควรระวังของการออกกำลังกายในคนที่มีความดันโลหิตสูง

 
•
ควรหลีกเลี่ยงการกลั้นหายใจ ในขณะที่มีการออกกำลังกายโดยเฉพาะ resistance training
 
•
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้
 
•
ถ้ามีการรับประทานยาลดความดันที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ควรใช้ความรู้สึกเป็นตัวกำหนดความหนักของการออกกำลังกาย
 
•
ในการเปลี่ยนท่าทางการออกกำลังกาย ควรทำอย่างช้าๆ ไม่ควรทำอย่างทันทีทันใด
 
•
หลีกเลี่ยงท่าทางการออกกำลังกายที่อยู่ในท่าศีรษะต่ำกว่าระดับของหัวใจ
 
•
ควรเพิ่มระยะเวลาของการทำ warm-up และ cool-down ให้นานขึ้นกว่าปกติ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ในแต่ละช่วง
 
•
ถ้ามีการรับประทานยาประเภท Diuretic (ยาขับปัสสาวะ) ซึ่งไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ สามารถใช้อัตราการเต้นของหัวใจที่อยู่ในช่วง 46%-60% ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวกำหนดความหนักของการออกกำลังกายได้เลย แต่ต้องระวังการสูญเสียน้ำ ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างสม่ำเสมอประมาณ 3-5 ออนซ์ ทุกๆ 10-15 นาที ในขณะออกกำลังกาย รวมถึงดื่มน้ำ 8-12 ออนซ์ ทันทีหลังจากออกกำลังกาย
 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ขจัดสี่วายร้ายให้ไกลตัว
 
รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล
 
เมื่อหัวใจต้องไปเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง
 
โรคเบาหวานส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ
 
บุหรี่กับโรคหัวใจ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.