หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
กายสดใส หัวใจแข็งแรง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


“อ้าว เมื่ออาทิตย์ก่อนยังนัดกัน กะว่าจะไปเที่ยวด้วยกันอยู่เชียว....”
“ก็เห็นแข็งแรงดี  เจอกันที่งานเลี้ยงวันก่อน ยังคุยกันดีๆ แต่ทำไม.....วันนี้ ไปเสียแล้ว เห็นบอกว่า เป็นโรคหัวใจ”


บางท่านคงอาจเคย ได้ยินคำอุทานเช่นนี้ หรืออาจได้ประสบกับญาติสนิท หรือคนใกล้ชิด หากจะถามว่า มันมีโอกาส มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาดูกันที่ข้อมูล ของกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า ในประเทศไทยเรานี้ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉียบพลัน ถึงปีละกว่า 60,000 รายเลยทีเดียว

ที่ น่าวิตกยิ่งกว่านั้น คือ ตัวเลข ดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยลงซะด้วย หัวใจของเราทุกคน กำลังรอคอยการ ดูแล ที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่อันแสนจะหนัก ตราบเท่าที่ เรายังมีลมหายใจ

เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จึงเน้นไปที่การให้ข้อมูลความรู้ เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด  การรักษาสุขภาพ ที่มีหลักฐานทางวิชาการทางการแพทย์ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้  โดยเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย 

โรคหัวใจเจ้าเก่า

คำว่า  “หัวใจ” คำเดียว สามารถสื่อความหมายได้มากมาย เช่น หัวใจตกไปที่ตาตุ่ม ไม่มีหัวใจ หัวใจสลาย หมดหัวใจ หรือสุดหัวใจ ดังคำพูดที่เลิศหรูของนักประพันธ์ แต่คำว่าหัวใจ ที่จะพูดถึงนี้  คือ  หัวใจดวงเดียวนี้ ของเราท่านทุกคน ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง

แต่พอจะต้องพรรณนา ถึงหัวใจของเราท่าน  ก็มีแต่เรื่องชวนให้สยดสยองทั้งนั้น  เช่น  หัวใจวาย  หัวใจขาดเลือด  หัวใจรั่ว  หัวใจตีบ  หัวใจโต  หัวใจตาย ฟังดูแล้วชักใจไม่ค่อยดี คงมีคำถามเกิดขึ้นหลายข้อ  อาทิ โรคหัวใจคืออะไร  มีอาการอย่างไรบ้าง  และที่สำคัญคือ จะป้องกันและรักษากันอย่างไรดี

หัวใจ ก็เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เหมือนปั้มน้ำ คือมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตให้แก่ ระบบไหลเวียนเลือด (Circulatory system)

เลือดดำ (Venous blood) หลังจากที่ถูกใช้ แล้วจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา ที่เรียก เอเตรียมขวา (Right atrium) ส่งผ่านลงสู่หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) เลือดดำจำนวนนี้จะถูกบีบตัวไปยังปอด เพื่อการฟอก ซึ่งก็คือการรับออกซิเจนเข้าไว้ในตัวเม็ดเลือดแดง โดยอาศัยสารที่สำคัญที่เราเรียกว่า ฮีโมโกลบิน  เม็ดเลือดที่รับออกซิเจนเต็มนี้ จะเปลี่ยนสีจากแดงคล้ำเป็นแดงสดใส  กลายเป็น เลือดแดง เตรียมพร้อมที่จะให้ร่างกายนำไปใช้ได้ใหม่  โดยไหลกลับเข้ามาทางหัวใจห้องบนซ้าย ส่งผ่านสู่หัวใจด้านล่างซ้าย และถูกบีบออกไปตามเส้นเลือดน้อยใหญ่ จนกระทั่งถึงเส้นเลือดขนาดเล็กที่สุด ที่เรียกว่า หลอดเลือดฝอย (Capillaries) เพื่อเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ

เม็ดเลือดแดงขนาดจิ๋วนี้ (200 ไมครอน) เมื่อไปถึงเส้นเลือดฝอย ก็จะถ่ายออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อบริเวณนั้น เพื่อใช้สันดาปเป็นพลังงาน ที่เรียกว่าการหายใจระดับเซลล์ แบบใช้ออกซิเจน (Aerobic)

คนบางคนมีความผิดปกติ ของสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้เท่าคนปกติ ร่วมกับมีภาวะโลหิตจาง ทำให้เซลล์ต่างๆ ขาดออกซิเจน ทำให้ไม่เจริญเติบโต ผู้ป่วยจะมีรูปร่างที่ผิดปกติไป เรียกว่า โรคธาลาสซีเมีย มีสารที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพวกพ้องกับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารนี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ของเครื่องยนต์ ที่ต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ถ่าน ฟืน รวมทั้งบุหรี่ คาร์บอนมอนนอกไซด์เจ้ากรรมตัวนี้ มีความสำคัญตรงที่ว่า  ถ้าถูกสูดเข้าไปในร่างกายของคนเรา จะสามารถจับกับสารฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ด้วย แถมที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ  ความสามารถในการจับตัวกับสารฮีโมโกลบินนั้น สูงกว่าออกซิเจนถึง  200 เท่าเลยทีเดียว

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่มีออกซิเจนไปส่งให้เนื้อเยื่อต่างๆ คงเคยได้ยินข่าวคนเปิดแอร์นอนในรถ แล้วไม่ตื่นอีกเลย (ตายเย็น) กันบ้าง  แต่ประเภทที่เรื้อรัง และกำลังคุกคามคนเมืองใหญ่ ก็คือ มลพิษจากควันรถยนต์ และควันบุหรี่นั่นเอง

จะเห็นได้หัวใจของเรา ช่างเป็นอวัยวะที่ช่างขยันขันแข็ง และทำงานหนักจริงๆ ตั้งแต่เกิด (อันที่จริงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ประมาณ  6  สัปดาห์)  จนกระทั่งหมดลมหายใจเลยทีเดียว ถึงหัวใจจะเข้มแข็งสักปานใด ก็มีวันจะล้ม ถ้ามีความผิดปกติเกิดกับส่วนต่างๆ อาทิเช่น  เส้นเลือดหัวใจ  ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ  เป็นต้น  ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป


โรคหลอดเลือดหัวใจ



น.พ.วรงค์ ลาภานันต์ 
กองอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
แพทย์ที่ปรึกษา ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี

 
       
    แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลวิภาวดี - www.vibhavadi.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ขจัดสี่วายร้ายให้ไกลตัว
 
ภาวะเจ็บแน่นหน้าอกจากโรคหัวใจ
 
โรคหลอดเลือดหัวใจ
 
รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล
 
เมื่อหัวใจต้องไปเีกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.