หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
หลากหลายประเด็นเกี่ยวกับ “วัคซีน”
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เมื่อกล่าว วัคซีน คงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ทั้งแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ยังคงถูกถามเกี่ยวกับวัคซีนในแง่มุมต่างๆ อยู่เสมอ ได้แก่

มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

วัคซีน นับเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นร่างกาย ให้สร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค แต่วิธีนี้อาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน กว่าร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ในปริมาณมากพอที่จะป้องกันโรคได้ แต่ก็มีอีกวิธีซึ่งเปรียบเหมือนทางลัด คือการให้ภูมิคุ้มกันชนิดสำเร็จรูป หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการแพทย์ว่า อิมมูโกลบุลิน (immunoglobulins) ซึ่งเมื่อให้อิมมูโกลบุลินเข้าสู่ร่างกาย จะสามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรคได้ทันที

วัคซีนมีกี่ประเภท

การแบ่งประเภทของวัคซีน อาจทำได้หลายวิธี ตามหลักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การจัดกลุ่มหรือแยกประเภทของวัคซีน จะอาศัยวิธีการผลิต หรือแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ

เมื่อใช้วิธีการผลิตเป็นตัวจำแนก จะได้วัคซีน 3 ประเภท คือ

 
•
วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid) คือ วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยนำพิษของเชื้อโรค มาทำให้หมดฤทธิ์ไป แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ใช้สำหรับโรคติดเชื้อที่เกิดจากพิษของเชื้อ ได้แก่ โรคคอตีบ และโรคบาดทะยัก
 
•
วัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine) คือ วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัว หรือเฉพาะชิ้นส่วนของเชื้อโรคที่ตายแล้ว เช่น วัคซีนไทฟอยด์ วัคซีนอหิวาต์ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไอกรน วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
 
•
วัคซีนเชื้อเป็น (live vaccine) คือ เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยนำจุลชีพจากธรรมชาติ ที่ยังมีฤทธิ์ก่อให้เกิดโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือลดความรุนแรงลง แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และวัคซีนอีสุกอีใส เป็นต้น

เมื่อใช้แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ จำแนกวัคซีนได้เป็น 4 ประเภท คือ

 
1.
วัคซีนพื้นฐาน หรือวัคซีนภาคบังคับ คือ วัคซีนที่ได้รับการบรรจุในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ แนะนำให้ใช้ในเด็กไทยทุกคน ได้แก่ วัคซีนบีซีจี วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนโปลิโอชนิดกิน และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี
     
 
2.
วัคซีนเผื่อเลือก คือ วัคซีนที่มีประโยชน์ แต่โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเหล่านี้ ยังไม่มีความสำคัญด้านสาธารณสุขในลำดับต้นๆ รวมทั้งวัคซีนมีราคาสูง ซึ่งยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจเรื่องความคุ้มค่า หากนำมาใช้กับเด็กทั้งประเทศ รัฐบาลจึงไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้กับวัคซีนกลุ่มนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการฉีด มักต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนอีสุกอีกใส วัคซีนฮิบ วัคซีนนิวโมคอคคัส วัคซีนโรคตา และวัคซีนมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ วัคซีนเผื่อเลือก ยังหมายรวมถึงวัคซีนที่ได้รับการพัฒนา เพื่อให้มีผลข้างเคียงลดลง ซึ่งนิยมใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว และมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เช่น วัคซีนโปลีโอชนิดฉีด และวัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์

คาดว่าในอนาคตวัคซีนเผื่อเลือกบางชนิด อาจถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาอย่างรอบด้าน ถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับ
     
 
3.
วัคซีนพิเศษ  คือ วัคซีนที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน เพื่อใช้ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค หรือหากเกิดโรคอาจมีอาการ และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น วัคซีนนิวโมคอคคัสสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีม้าม วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และผู้สูงอายุ วัคซีนพิษสุนัขบ้าสำหรับผู้ที่ถูกสัตว์กัด วัคซีนไทฟอยด์สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ ที่มีการระบาดของโรคไทฟอยด์ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นสำหรับผู้ที่จะเดินทาง ไปยังประเทศทางตะวันออกกลาง เป็นต้น
     
 
4.
วัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา คือ วัคซีนที่มีความสำคัญในการป้องกันโรค ที่กำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ และยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย การผลิต หรืออยู่ระหว่างการทดลองในอาสาสมัคร เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนมาลาเรีย วัคซีนเอดส์ เป็นต้น

ผู้ใหญ่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่

กระทรวงสาธารณสุขได้มีการบรรจุวัคซีนพื้นฐาน หรือวัคซีนภาคบังคับไว้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของประเทศมานานหลายสิบปีแล้วและค่อยๆ เพิ่มชนิดวัคซีนที่ค้นพบใหม่เข้าไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมโรคที่สำคัญๆ เกือบทุกโรคในปัจจุบัน ทำให้ปัจจุบันเด็กไทยแทบทุกคน ล้วนได้รับวัคซีนกันถ้วนหน้า ส่งผลให้โรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการให้วัคซีนกับเด็กไปนานหลายสิบปี กระทั่งเด็กเหล่านี้เริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากการฉีดวัคซีนเหล่านั้นบางชนิด ก็ยังคงมีระดับสูงเพียงพอในการป้องกันโรค แต่บางชนิดก็มีระดับภูมิคุ้มกันลดลง จนไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันโรคแล้ว จึงต้องมีการให้วัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก

ดังนั้นใครที่คิดว่าวัคซีนเป็นของที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ ก็เข้าใจผิดนะคะ เพราะความเป็นจริงแล้ว วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ ด้วยเช่นกัน ซึ่งการให้วัคซีนบางชนิดมีความมุ่งหวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในผู้ใหญ่เป็นสำคัญ เช่น วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนนิวโมคอคคัส เนื่องจากการเกิดโรคเหล่านี้ในผู้ใหญ่ อาจมีอาการรุนแรงมาก ดังนั้นวัคซีนจึงมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะในเด็ก แต่หากจำเป็น และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ มีอะไรบ้าง

วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่นั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่

 
•
วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Diphtheria-Tetanus-Pertussis vaccine; DTP)
 
•
วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
 
•
วัคซีนตับอักเสบเอ (Hepatitis A vaccine)
 
•
วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles-Mumps-Rubella vaccine ; MMR)
 
•
วัคซีนอีสุกอีใส งูสวัด (Varicella vaccine)
 
•
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)
 
•
วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)
 
•
วัคซีนมิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine)
 
•
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก อันมีสาเหตุมาจากไวรัสหูด (Human Papillomavirus vaccine)

การฉีดวัคซีนชนิดรวมหลายโรคในเข็มเดียว มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ในปัจจุบันวัคซีนรวมได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้เด็กเจ็บตัวน้อยลง และเป็นการลดจำนวนครั้งในการพบแพทย์ วัคซีนรวมมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับวัคซีนแยก และบางครั้งก็อาจทำให้เด็กได้รับวัคซีนบางอย่างมากเกินไป ขณะเดียวกันการแยกฉีดวัคซีนทีละเข็ม อาจทำให้เด็กเจ็บหลายครั้ง หรืออาจเพิ่มจำนวนในการมาพบแพทย์ แต่เด็กในขวบปีแรกส่วนใหญ่ จะไม่มีความทรงจำถึงความเจ็บปวดที่อาจจะได้รับบ้าง  กรณีที่เป็นการไปรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ การแยกฉีดวัคซีนแยกแต่ละชนิด จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการให้วัคซีนพื้นฐาน เป็นบริการที่รัฐจะไม่คิดค่าใช้จ่าย พ่อแม่จึงเพียงแต่จ่ายเงินเพิ่มเติมสำหรับวัคซีนเผื่อเลือกเท่านั้น แต่หากเลือกฉีดวัคซีนรวม จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนแยกแต่ละชนิด อาจสูงกว่าการฉีดวัคซีนรวมเล็กน้อย

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้จริงหรือ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ บุคคลบุคลาการทางการแพทย์ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนก หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องเข้าไปทำลายสัตว์ปีกที่เป็นโรค เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้น ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่คนและไข้หวัดนกในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสของการที่จะเกิดการแลกเปลี่ยน สารพันธุกรรมระหว่างไวรัสทั้งสองชนิด แล้วกลายมาเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ ที่อาจก่อโรครุนแรงได้

หากลืมมาฉีดวัคซีนตามนัดจะทำอย่างไร

กรณีไม่ได้มาฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา สามารถฉีดวัคซีนต่อจากครั้งก่อนได้เลย ไม่ว่าจะห่างจากกำหนดเดิมไปนานเท่าใด ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ และให้เว้นช่วงของการฉีดครั้งต่อไปเหมือนเดิม

วัคซีนไทฟอยด์หายไปไหน คนไทยยังต้องฉีดหรือไม่

ปัจจุบันพบผู้ที่ป่วยเป็นไทฟอยด์ในประเทศไทยน้อยมาก ประกอบกับประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ของวัคซีนไทฟอยด์ไม่ค่อยดีนัก และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้เพียง 3 ถึง 5 ปี ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็น ที่จะให้วัคซีนไทฟอยด์ในเด็กไทย แต่แนะนำให้ใช้เป็นวัคซีนพิเศษ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ ซึ่งมีโรคไทฟอยด์เป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งพบการดื้อยาของเชื้ออยู่เป็นประจำ ซึ่งอาจมีปัญหาในการรักษา เช่น ประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เป็นต้น

จะไปเที่ยวต่างประเทศควรฉีดวัคซีนอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษหรือไม่

การให้วัคซีนเพิ่มเติมสำหรับนักเดินทาง เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าประเทศนั้นๆ มีโรคใดเป็นโรคประจำถิ่น และหรือกำลังเกิดระบาดในช่วงเวลานั้น เช่น ควรได้รับวัคซีนไทฟอยด์และวัคซีนอหิวาตกโรค หากจะเดินทางไปประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย หรือควรได้รับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ก่อนเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือประเทศใกล้เคียง การได้รับวัคซีน ก็มิใช่คำตอบสุดท้ายของการป้องกันโรคทุกโรค คุณควรปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เช่น รับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการถูกสัตว์หรือแมลงกัด จึงจะช่วยให้ท่านปลอดภัยจากความเจ็บป่วย

มีข้อควรระวังอะไรบ้างเกี่ยวกับรับวัคซีน

 
1.
กรณีเพิ่งได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์จากเลือด หรืออิมมูโนโกลบุลิน ไม่ควรให้วัคซีนเชื้อเป็น เพราะอาจไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป
 
2.
หากแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการให้วัคซีนนั้นๆ ผู้ที่แพ้ไข่ชนิดรุนแรง ไม่ควรให้วัคซีนที่ผลิตจากไข่ เช่น วัคซีนคางทูม วัคซีนไข้หวัดใหญ่
 
3.
กรณีมีไข้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป โดยเฉพาะกรณีไข้สูงและวัคซีนที่ใช้อาจทำให้เกิดไข้ แต่ถ้าเป็นการเจ็บป่วยธรรมดา เช่น เป็นหวัด น้ำมูกไหล สามารถให้วัคซีนได้
 
4.
ผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนหัดเยอรมัน หรือวัคซีนเชื้อเป็นชนิดอื่น ควรคุมกำเนิดหลังได้รับวัคซีนนาน 1 เดือน
 
5.
สตรีมีครรภ์ไม่ควรไดรับวัคซีนเชื้อเป็น
 
6.
ผลการให้วัคซีนในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจไม่ดี และให้หลีกเลี่ยงวัคซีนเชื้อเป็น เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง
 
7.
ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ไม่ควรให้วัคซีนเชื้อเป็น จนกว่าจะหยุดการใช้ยาแล้วระยะหนึ่ง


ภญ. อัมพร อยู่บาง

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มาตรวจสอบยากันดีกว่า
 
ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย
 
ใช้ยาอย่างไรให้ถูกวิธี
 
ข้อควรรู้สำหรับผู้ใช้ยา
 
อยากรู้ไหม...ทำไมถึงดื้อยา ???
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.