หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวาน
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานเป็นภาวะที่พบได้บ่อย

การสำรวจจากประชากรผู้ใหญ่ในประเทศไทย ทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และภาคต่างๆ 4 ภาค เมื่อปี 2543 พบว่าคนไทยที่อายุมากกว่า 35 ปี เป็นโรคเบาหวานมาถึง 9.6 % หรือ 2.4 ล้านคน และเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 20 % หรือ 5.1 ล้านคน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มักจะมีความดันโลหิตสูงกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน  และในทางกลับกันผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานมากกว่า คนที่มีความความดันโลหิตปกติ เนื่องจากทั้งโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง  เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในประชากร และมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานได้บ่อยเช่นเดียวกัน

อันตรายของโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานและความสำคัญของการลดความดันโลหิต

เป้าหมายที่สำคัญที่สุด ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตวายเรื้อรัง
ซึ่งล้วนแต่สร้างความทุกข์ทรมาน ต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติ เช่น ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรือแตก ทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์หรืออัมพาต และยังก่อให้เกิดค่าใช้จ่าย ของการรักษาที่สูงมาก เช่น การฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน จัดเป็นโรคเรื้อรังที่ “รักษาได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่หายขาด” ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษา และติดตามไปตลอดชีวิต เนื่องจากความรุนแรงของโรค อาจจะไม่คงที่ ทำให้แพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนการรักษาเป็นระยะ ให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยในแต่ละช่วงเวลา ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง และระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในที่สุด ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ มากกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว และการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวาน จะช่วยลดอัตราการเกิดและการเสียชีวิต จากโรคหัวใจและหลอดเลือดลง ได้มากกว่าการลดความดันโลหิต ในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย จะได้ประโยชน์มากกว่าในผู้ป่วย ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้เป็นเบาหวาน การศึกษาวิจัยในผู้ป่วยเบาหวาน ที่เป็นความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ก็พบว่าการควบคุมความดันโลหิตทำได้ง่ายกว่า และช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ได้ดีกว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่มีความสำคัญ

เป้าหมายของการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวาน

ระดับความดันโลหิตเป้าหมาย ในผู้ป่วยเบาหวานคือ ความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 130 และความดันโลหิตค่าล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
ซึ่งต่ำกว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ซึ่งระดับความดันโลหิตเป้าหมาย เท่ากับความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 140 และความดันโลหิตค่าล่างต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท การที่ระดับความดันโลหิตเป้าหมาย ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน ก็เนื่องจาก ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยนั้น มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตวายเรื้อรังดังที่กล่าวแล้ว และจากการศึกษาวิจัยในทางการแพทย์พบว่า การลดความดันโลหิตลงสู่ระดับต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วย มากกว่าลดความดันโลหิตลงต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เหมือนในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้เป็นเบาหวานร่วมด้วย

นอกเหนือจากโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่สำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ และภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ดังนั้น การจะป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ ให้ได้ผลดี ก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ หรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด และหยุดสูบบุหรี่ ควบคู่ไปกับการลดความดันโลหิตด้วย

สถานการณ์การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวาน

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก กล่าวคือ ผู้ป่วยบางรายไม่ทราบว่า ตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ และผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ได้รับการรักษา และมีเพียงร้อยละ 20 – 30  ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเท่านั้น ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และยิ่งเป้าหมายของการควบคุมความดันโลหิต ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย ต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน คือต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น การลดความดันโลหิตลงให้ถึงเป้าหมาย จึงยิ่งเป็นปัญหามากในผู้ป่วยเบาหวาน จากการสำรวจเรื่องผลการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยเบาหวานในประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย รวม 7 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีเพียง 11% ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุข ที่สำคัญอย่างยิ่งปัญหาหนึ่งของประเทศไทย

สิ่งที่ผู้ป่วยจะสามารถช่วยแพทย์ ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ผลดี ก็คล้ายคลึงกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

 
1.
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ การงดอาหารเค็ม การเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด การลดน้ำหนักอย่างจริงจัง ในผู้ป่วยที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการหยุดดื่มสุราหรือจำกัดปริมาณการดื่ม ซึ่งรายละเอียดสามารถหาอ่านได้ ในเอกสารเรื่อง “มารู้จักโรคความดันโลหิตสูงกันเถอะ” ของสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
 
2.
การใช้ยาลดความดันโลหิต แพทย์มักจะต้องใช้ยาลดความดันโลหิตหลายชนิดร่วมกัน ส่วนใหญ่มากกว่า 2 ชนิด ในการช่วยลดความดันโลหิตลงให้ถึงเป้าหมาย การใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน จะช่วยเสริมฤทธิ์ลดความดันโลหิตซึ่งกันและกัน ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด และแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังรับประทานยา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะความรุนแรงของทั้งโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แพทย์จึงต้องติดตามระดับความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ ยังต้องติดตามระดับไขมันในเลือด และประเมินสมรรถภาพการทำงานของไตเป็นระยะ เพราะปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการเกิด โรคแทรกซ้อนในอนาคตของผู้ป่วยทั้งสิ้น และยาลดความดันโลหิตแต่ละชนิด นอกจากจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ซึ่งเหมือนกันแล้ว ยังมีผลช่วยชะลอ การเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้ แตกต่างกันด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด สามารถช่วยชะลอการเสื่อมของไต ในผู้ป่วยเบาหวานได้ดีกว่า ยาลดความดันโลหิตชนิดอื่นๆ ดังนั้น แพทย์จึงต้องพิจารณาเลือกใช้ ยาลดความดันโลหิต ให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย และอาจจะต้องปรับเปลี่ยนการรักษา เมื่อสภาพของผู้ป่วยเปลี่ยนไป หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เพิ่มเติม

ข้อควรระวังที่แตกต่างไปจากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

 
1.
แพทย์มีแนวโน้มที่จะจ่ายยาแอสไพริน ให้แก่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แอสไพรินเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้าน การเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด จึงมีผลป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดแดง ถ้าท่านได้รับยานี้อยู่ และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดถอนฟัน หรือการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้เลือดออกได้ ควรแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบด้วย และหยุดยาแอสไพริน ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมากผิดปกติ จากการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด
 
2.
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่เป็นมานาน หรือเป็นผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่ความดันโลหิต อาจลดลงได้มากกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากท่านอนเป็นลุกขึ้นยืน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นลมได้ ถ้าท่านมีอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และระมัดระวังเมื่อจะเปลี่ยนท่าทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังได้รับยาลดความดันโลหิตใหม่ๆ หรือหลังจากการปรับเปลี่ยนชนิด หรือขนาดของยาลดความดันโลหิต
 
3.
ระดับไขมันในเลือดเป้าหมาย ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย ต่ำกว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั่วไป คือ แอลดีแอล-โคเลสเตอรอลต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงสูง ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

สรุป  ข้อควรทราบและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย

 
1.
ทั้งโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน สามารถรักษาและควบคุมได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่หายขาด
 
2.
เป้าหมายในการลดความดันโลหิต คือ ความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 130 และค่าล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
 
3.
ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะได้รับยาลดความดันโลหิตหลายชนิดร่วมกัน เพื่อลดความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมาย
 
4.
ไม่ควรซื้อยารับประทานเองโดยไม่พบแพทย์ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม
 
5.
ควรหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
 
       
    แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลวิภาวดี - www.vibhavadi.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เบาหวาน ... น่ารู้
 
เบาหวานกับไขมันในเลือด
 
เบาหวานกับโรคหัวใจ
 
โรคเบาหวานส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ
 
โคเลสเตอรอลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.